posttoday

วิกฤตประชาชนหนี้ท่วม...ทางออกอยู่ที่ไหน

26 กรกฎาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ฉบับนี้ต่อเนื่องจากบทความสัปดาห์ที่แล้วเขียนเกี่ยวกับมาตรการพักชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง หลายแบงค์ขานรับนโยบายจัดมหกรรมปรับโครงสร้างหนี้-พักต้น-พักดอกเบี้ยหรือยืดชำระหนี้ตั้งแต่ 2-6 เดือนหรือมากกว่าขึ้นอยู่กับแคมเปญของแต่ละสถาบันการเงินจะใจถึงเท่าใด ตรงนี้ต้องชมเชยรัฐมนตรีก.การคลัง “คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ที่ผลักดันมาตรการออกมาในเวลาที่หนี้ชาวบ้านกำลังจะระเบิดโดยเฉพาะหนี้ผ่อนบ้าน-คอนโด เงินกู้ ไฟแนนซ์/ลิซซิ่งและหนี้บัตรเครดิตซึ่งมีมูลหนี้รวมกันมากกว่า 1.472 ล้านล้านบาทช่วงไม่ถึงปีครึ่งพุ่งขึ้นสองแสนกว่าล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.8 หากปล่อยไว้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นผนวกกับล็อกดาวน์ทำท่าจะยกระดับแรงขึ้นอาจทำให้คนตกงานมากขึ้นและชั่วโมงการทำงานลดลงไปอีก

ต้องยอมรับว่าขณะนี้วิกฤตโควิดการระบาดรุนแรงคนป่วย-คนเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ด้านเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจทั้งรายใหญ่ไปจนถึงรายย่อย ค้าขายแผงลอย-อาชีพหาเช้ากินค่ำ “เซแล้วเซอีก” ทำให้ชีวิตของผู้คนที่ต้องทำมาหากินเหมือนแขวนไว้บนเส้นด้ายไม่รู้อนาคตตนเองว่าพรุ่งนี้ตัวเองและครอบครัวจะเอาอะไรกิน เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายทั้งคนที่ทำธุรกิจหรือมนุษย์เงินเดือนที่ถูกลดค่าจ้างหรือกลายเป็นคนตกงานจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินในทุกทางที่จะทำได้

สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นหนี้ในระบบไตรมาสแรกปี2564 มีจำนวน 14.128 ล้านล้านบาทเทียบกับไตรมาส 1 ปี2562 (ก่อนโควิดระบาด) สูงขึ้นถึง 1.158 ล้านล้านบาทหรือสูงขึ้นถึงร้อยละ 8.92 ตัวเลขนี้บ่งบอกถึงสถานะความเปราะบางของครัวเรือนที่ได้รับผล“สึนามิ” จากวิกฤตเศรษฐกิจระบาดของโควิดครั้งนี้ได้เป็นอย่างดีส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไร้ประสิทธิภาพของการจัดหาวัคซีนและระบบสาธารณสุขที่แทบจะเอาไม่อยู่

ลองเจาะลึกหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูงอย่างน่ากังวลพบว่าหนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 71 เป็นหนี้กู้ยืมธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมูลหนี้สูงขึ้นถึง 804,964 ล้านบาทสูงขึ้นร้อยละ 8.71 รองลงมาเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์มูลหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.82 เหตุที่เพิ่มขึ้นไม่มากเพราะหลายสหกรณ์ในเวลานี้อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ที่น่าสนใจคือหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลในช่วงปีเศษสูงขึ้นถึง 2.113 แสนล้านบาทขยายตัวถึงร้อยละ 16.76 เป็นการสะท้อนปัญหาสภาพคล่องของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี แต่ข้อสังเกตุหนี้โรงรับจำนำกลับลดลงร้อยละ 3.3 บ่งบอกว่าชาวบ้านไม่มีอะไรเหลือให้ไปจำนำอีกแล้ว

การที่เจาะลึกให้ข้อมูลเป็นตัวเลขเพื่อให้เห็นชัดๆว่าพิษจากวิกฤตโควิดกัดเซาะเศรษฐกิจฐานรากรุนแรงเพียงใด ตัวเลขข้างต้นเป็นแค่เดือนมีนาคมซึ่งการระบาดยังไม่รุนแรง ที่ต้องติดตามคือไตรมาส 2 การระบาดเพิ่มจากระลอก 3 เป็นระลอก 4 จนต้อง “Seal lock” พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีสถานประกอบการรวมกันกว่า 7.692 แสนกิจการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68-70 ของธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลทั่วประเทศ

การล็อกดาวน์เพื่อด้านการป้องกันและลดการแพร่ระบาดเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำแต่มิติด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่ซึ่งล็อกดาวน์เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการ 3 ใน 4 ของประเทศและมีสัดส่วนเศรษฐกิจรวมกันถึงร้อยละ 90.4 ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกทม.-ปริมณฑล-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-อยุธยาล้วนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเขตอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ จากการประเมินด้านผลกระทบเกี่ยวข้องกับแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวนไม่น้อยกว่า 3.142 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.4 ของแรงงานในระบบ ตัวเลขนี้ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบไม่น้อยกว่า 3.0 ล้านคนซึ่งรัฐบาลจะเยียวยาใช้เงินไปขั้นต้นเฉียด 2.0 หมื่นล้านบาทจากที่คาดว่าต้องใช้เงิน 3.0 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดแบงค์ชาติหรือธปท.ระบุว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงลากยาวส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจนมีการปรับลดขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้เหลือร้อยละ1.8 ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจรากหญ้า สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าครึ่งปีหลังปัญหาหนี้ครัวเรือนจะรุนแรงเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้รายได้ของครัวเรือนลดหายไป จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางส่วนจะต้องหันไปกู้เงินมาใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันเมื่อแบงค์ปล่อยยากก็หันไปกู้นอกระบบ ข้อมูลยังระบุว่ากลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท/เดือนมีภาระหนี้ต้องชำระเทียบกับรายได้ (DSR) สัดส่วนเพิ่มจากร้อยละ 40 เป็น   ร้อยละ 46.92 โดยครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ผ่อนบัตรเครดิตที่ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาผ่อนอีกทอดหนึ่ง สำหรับหนี้รองลงไปเป็นสินเชื่อลิซซิ่งพาหนะรวมถึงผ่อนบ้าน-ผ่อนคอนโดแล้วจะเหลืออะไรกิน

จากข้อมูลข้างต้นคงเห็นปัญหาสภาพคล่องครัวเรือนเกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะกลายเป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจและสังคมที่ถนนทุกสายจะมุ่งไปสู่ “ทำเนียบรัฐบาล” ขณะนี้การเมืองเริ่มออกอาการซึ่งหากการเมืองไม่นิ่งจะถูกซ้ำเติมจากการที่มีหลายกลุ่มออกมาลงถนนซึ่งคงไม่จบง่ายๆ เพียงแค่ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาแล้วจบ อีกทั้งในโซเชียลแพลตฟอร์มทุกกลุ่มอาชีพที่ออกมาถล่มการทำงานในยามขาลงรัฐบาลทำอะไรก็ดูผิดไปหมด

ปัญหาหนี้ชาวบ้านจึงต้องมาดูกันอย่างจริงจังว่าจะช่วยกันอย่างไรโดยเฉพาะโครงการพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ที่กำลังเดินหน้าต้องยืดหนี้ออกไปอย่างน้อย 1 ปีเพราะเศรษฐกิจคงไม่ได้กลับฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ไม่เช่นนั้นก็แก้กันไม่จบ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงเกี่ยวข้องกับความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยซึ่งวันนี้อยู่ได้ จากเงินกระตุ้นและเยียวยาของรัฐบาลซึ่งทำได้เพียงแค่ยาดม-ยาหอมหรือมีข้าวกินอีกมื้อแล้วพรุ่งนี้จะอยู่อย่างไร การแก้ปัญหาต้องให้ธุรกิจและการผลิตกลับมาเพื่อให้เกิดการจ้างงาน หากแก้ไม่ได้จะกลายไปสู่อีกหลายปัญหาที่จะตามมาทำให้แก้กันไม่รู้จบ ที่กล่าวนี้ก็เป็นเพียงความเห็นของคนตัวเล็กๆ รัฐบาลมีคนเก่งๆ รอบข้างคงเห็นปัญหาได้ดีกว่า ลองฟังเสียงประชาชนที่ออกมา “Call Out” จะได้แก้ถูกทางไม่ใช่ไปจ้องเอาผิด...นะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat