posttoday

ความเสี่ยงเศรษฐกิจปีหน้า...เจรจาสหรัฐ-จีนแค่พักรบชั่วคราว

23 ธันวาคม 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

การขยายตัวเศรษฐกิจถึงวันนี้คงปิดจ็อบไม่ต้องลุ้นการขยายตัวของจีดีพีคงได้ไม่เกินร้อยละ 2.6 ต่างจากเป้าหมายช่วงต้นปีไปแบบไม่เห็นฝุ่น สภาวะที่เห็นได้ชัดเจนคือเศรษฐกิจระดับชาวบ้านเงียบเงินในกระเป๋าแทบไม่มีขาดความมั่นใจอนาคตที่กังวลเกี่ยวกับรายได้ผลคือการใช้จ่ายครัวเรือนแผ่วลงอย่างน่าใจหายภาคค้าปลีก-ค้าส่งมูลค่า 3.3 ล้านล้านบาทขยายตัวในอัตราต่ำเหลือไม่เกินร้อยละ 2.5 เทียบกับปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 เป็นอัตราต่ำสุดในรอบหลายปี ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เป็นระยะสั้นเงินไม่พอและลงไม่ถึงระดับรากหญ้าทำให้ไม่สามารถดึงเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ ที่ยังไปได้ดีมีแต่ภาคท่องเที่ยวแต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เหมือนเดิมจากบาทแข็งและพกเงินมาเที่ยวน้อยลงทำให้การใช้จ่ายอาจหายไปร้อยละ 5-8

ปัจจัยเสี่ยงปีพ.ศ.2563 เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกเป็นประเด็นภายนอกล้วนๆ เพราะไทยเป็นประเทศส่งออกเป็นหลัก (Export Oriented) แม้แต่เดือนพฤศจิกายนอยู่ในช่วง “Christmas Shipment” ตัวเลขก็ยังไม่ค่อยดีเหตุเพราะเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะชะลอตัวอีกทั้งเผชิญกับความไม่แน่นอนของเทรดวอร์ คู่กัดระหว่างปธน.โดนัลด์ ทรัมป์กับปธน.สี จิ้นผิง ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีที่แล้ว การเจรจารอบสุดท้ายจบไปเมื่อเร็วๆ นี้ คืบหน้าไปมากเพราะจีนอ่อนข้อในหลายประเด็น เช่น ยอมให้มีการนำเข้าถั่วเหลืองและไม่บอยคอตสินค้าสหรัฐฯซึ่งข้อเท็จจริงคนจีนรุ่นใหม่ก็ยังชื่นชอบไอโฟนและดูหนังฮอลลีวู้ดขณะที่สหรัฐฯตกลงจะชะลอไม่ขึ้นภาษีตามที่เคยขู่ไว้

แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปเพราะการเจรจายังมีปัญหาทางเทคนิคและหลายประเด็นที่ยังต้องคุยในรายละเอียดเห็นได้จากทั้งสองฝ่ายยังคุมเชิงคุยกันบนโต๊ะก็อย่างหนึ่งแต่ลับหลังก็ยังเล่นกันหนัก จีนใช้วิธีล็อบบี้กดดันสหรัฐฯ โดยใช้เวทีองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหาว่าผิดกติกาและลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ผลข้างเคียงคือไปกดดันให้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯอ่อนค่าทำให้เงินหยวน, เงินบาทและเงินสกุลต่างๆ แข็งค่า ล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเหรียญสหรัฐฯแข็งค่าใกล้จะหลุด 30 บาทในเร็วๆ นี้ ปมข้อพิพาทของสหรัฐฯ – จีนเพิ่มดีกรีความซับซ้อนมากขึ้นมีการขยายวงกลายเป็นเดิมพันทางการเมืองเป็นการต่อสู้เชิงนโยบายระหว่าง “The America First” เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สหรัฐฯต้องมาก่อนผลักดันโดยปธน.ทรัมป์ฯ เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนและเป็นนโยบายหาเสียงในสมัยที่สองของเขา

ส่วนทางจีนปธน.สี จิ้นผิง หลังโดนสหรัฐฯเล่นงานตั้งแต่การจับกุมผู้บริหารหัวเหว่ยและมาตรการไม่ให้บริษัทสหรัฐฯนำเข้าสินค้าจีน รัฐบาลจีนได้ผลักดันนโยบายชาตินิยมภายใต้ “Made in China” ที่จะพัฒนาสินค้าไฮเทคซึ่งจะทำให้จีนในปีค.ศ.2025 กลายเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจหมายเลข 1 แซงหน้าสหรัฐฯ เห็นได้ว่าต่างฝ่ายมีจุดยืนที่เอาตำแหน่งตัวเองเป็นเดิมพันเหมือนขี่หลังเสือต่างยอมกันไม่ได้ แค่นี้ยังไม่พอเร็วๆ นี้รัฐสภาคองเกรสกดดันให้ปธน.ทรัมป์ฯลงนามกฎหมาย “Human Right & Democracy Act” เกี่ยวข้องกับการประท้วงเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและคืนระบอบประชาธิปไตยให้เสรีภาพคนฮ่องกงมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหากจีนใช้กำลังทหารเข้าไปในฮ่องกงและยังเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของจีนที่มีส่วนรู้เห็นต้องรับผิดชอบ อีกทั้งมีการออกกฎหมายจะคว่ำบาตรจีนกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในเขตมณฑลซินเกียงที่อยู่ทางภาคตะวันตก

ทั้งสองกรณีทางการจีนถือว่าเป็นการก้าวก่ายกิจการภายในแต่ยังใช้ไม้นุ่มเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกกฎหมายและยุติการแทรกแซงโดยเด็ดขาด สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีนขยายตัวเป็นวงกว้างกระทบการค้าโลกยกระดับเป็นสงครามเย็นยุคใหม่ ต้องเข้าใจว่าอาเซียนรวมถึงไทยผูกผันกับจีนค่อนข้างมากขณะที่ยังต้องพึ่งการส่งออกกับสหรัฐฯและอเมริกายังเป็นมหาอำนาจที่มองข้ามไม่ได้ ในภูมิภาคญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์รวมถึงไต้หวันดูเหมือนอยู่ข้างสหรัฐฯเพราะต้องการถ่วงดุลอำนาจกับจีน ขณะที่อาเซียนกรณีพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับหมู่เกาะสเปรชลี่ย์-พาราเซลที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ทำให้เวียดนามและฟิลิปปินส์ที่ถือว่าเป็นอาณาเขตทะเลของตนอยู่แล้วกล่าวหาว่าจีนเป็นผู้รุกรานจำเป็นต้องพึ่งสหรัฐฯ ซึ่งก็สมประโยชน์ร่วมกันเพราะทางสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นเส้นทางเดินเรือทั้งพาณิชย์และยุทธการ

กลับมาที่ประเทศไทย สหรัฐฯและจีนเป็นคู่ค้าหลักส่งออกอันดับ 1 และอันดับ 2 ต้องรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ไม่ให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใด ตลอดจนการมียุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจนในการรับมือสงครามการค้าที่คงไม่จบง่ายๆ เป็นสภาวการณ์กดดันเศรษฐกิจโลกที่จะยังผันผวนคาดการณ์ทิศทางได้ยาก ดังที่ทราบไทยพึ่งพาส่งออกเป็นหลักการพลิกเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในอัตราสูงคงเป็นเรื่องยาก ปลายสัปดาห์ที่แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้คงขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.5 และปีหน้าอาจขยายตัวได้ ร้อยละ 2.8 เป็นการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอาเซียนที่เฉลี่ยขยายตัวได้ร้อยละ 5.84 ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดเหลือค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.0

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดน้อยถอยลงชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจคงไม่เกี่ยวแค่ปัจจัยสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกขาลง จำเป็นที่จะต้องยกเครื่องเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่คงไม่ใช่แค่มี 5G แล้วตอบโจทย์รวมไปถึงนโยบายรายวันกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า มาตรการเงินตรึงดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.25 หรือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐล้วนเป็นนโยบายหาเช้ากินค่ำ รวมไปถึงเศรษฐกิจแบบหมอดูพึ่งพาดัชนีความเชื่อมั่นทั้งของรัฐและเอกชนที่เป็นการสำรวจความคิดเห็นซึ่งเปลี่ยนไปตามความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลาที่สำรวจล้วนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาวอย่างจริงจังแต่อย่างใด....ฉบับนี้ขอจบดื้อๆ เท่านี้ครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)