posttoday

รมว.คมนาคมสั่งเคาะขึ้นค่ารถเมล์ใน1เดือน ผลศึกษาชี้ต้องปรับเพิ่ม10-15%

19 พฤศจิกายน 2561

"อาคม"สั่งเคาะขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ภายใน 1 เดือน เผยผลศึกษาเสนอปรับขึ้นค่าโดยสาร 15% ด้านรถร่วมฯอ้างบริการแย่เพราะรัฐไม่ขึ้นค่าโดยสาร

"อาคม"สั่งเคาะขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ภายใน 1 เดือน เผยผลศึกษาเสนอปรับขึ้นค่าโดยสาร 15% ด้านรถร่วมฯอ้างบริการแย่เพราะรัฐไม่ขึ้นค่าโดยสาร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับสมาคมพัฒนารถร่วมบริการรถโดยสารร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รถร่วมฯ ขสมก.) และสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางเกี่ยวกับกรณีการปรับอัตราค่าโดยสารให้รถประจำทางว่าความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะนั้นขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดกรมการขนส่งทางบกโดยคณะกรรมการกรมขนส่งทางบกกลางรับของเสนอของทางผู้ประกอบการไว้พิจารณาและอนุมัติปรับขึ้นราคาค่าโดยสารให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนจะขึ้นในอัตราเท่าไหร่นั้นต้องพิจารณากันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังร่วมกับสถาบัน TDRI ได้ศึกษาต้นทุนอัตราค่าโดยสารไว้เกือบ 28 บาท ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของผู้ประกอบการรถรวมฯที่เสนอขอพิจารณาในการปรับอัตราค่าโดยสารรถประจำทางแบบรถธรรมดาจากเดิมราคา 9 บาท เป็น 12 บาทตลอดสาย และรถโดยสารปรับอากาศจากราคาเริ่มต้น 13 บาทต่อเที่ยว ขอปรับเพิ่มขึ้นระยะละ2 บาท เป็น 15 บาทต่อเที่ยว ส่วนรถโดยสารปรับอากาศที่จะเข้าสู่โครงการปฏิรูปจะขอให้จัดเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มจาก 20 บาท ในระยะ 4 กิโลเมตรแรก ส่วนกิโลเมตรที่ 5 เริ่มจัดเก็บที่ 25 บาท

นายอาคมกล่าวต่อว่าส่วนเรื่องเงื่อนไขการปรับค่าโดยสารก็ต่อเมื่อมีรถเมล์ใหม่วิ่งให้บริการนั้นได้ให้ทางคณะกรรมการฯพิจารณาว่ามีเงื่อนไขในการปรับปรุงรถและการให้บริการอย่างไรบ้างก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดหารถใหม่เข้ามาทดแทน นอกจากนี้เนื่องจากระบบรถไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมทุกเส้นทางจึงยังคงเส้นทางเดินรถบางเส้นทางไว้อยู่และการแบ่งโซนก็เป็นอีกหลักการหนึ่งที่สามารถกำหนดเส้นทางได้ดีกว่าเดิมและช่วยแก้ไขปัญหารถติด

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าผลการศึกษาของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพบว่าค่าโดยสารรถเมล์ปรับอากาศขนาด 12 เมตรที่ใช้น้ำมันดีเซลควรปรับค่าโดยสารให้มีค่าเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 29.58 บาท จากปัจจุบันเฉลี่ยต่อคนปัจจุบันที่ 21.88 บาท และรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงาน CNG ควรปรับค่าโดยสารให้มีค่าเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 23.49 บาท จากปัจจุบันเฉลี่ยต่อคนปัจจุบันที่ 15.80บาท

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ในภาพรวมนั้นควรปรับเพิ่มขึ้นราว 10%-15% จากปัจจุบันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวงการรถเมล์ตลอดจนเอื้อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้โดยมีกำไร

ทั้งนี้จะเสนอให้รัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เส้นทางปฏิรูป 269 คัน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษจากแบงก์รัฐเพื่อลงทุนเพิ่ม ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ให้รับรองการผลิตคัทซีและตัวถังในประเทศซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการซื้อรถเมล์ใหม่ได้ทันที 40%-50%

ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่าในการหารือร่วมกันในครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งที่ทางกระทรวงได้มอบหมายให้คณะกรรมการกรมขนส่งทางบกกลางรับไปพิจารณาและอนุมัติการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ซึ่งทางสมาคมทั้ง 2 สมาคมก็ยินดีและจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่จะปรับปรุงคุณภาพการให้บริการรถโดยสารให้ดีขึ้นหากรัฐบาลอนุมติเร็วเท่าไหร่ก็สามารถดำเนินการได้ทันที

นางภัทรวดี กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาการให้บริการรถร่วมขสมก.คุณภาพไม่ดี เนื่องจากรัฐบาไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2558 และต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากรัฐให้ขึ้นค่าโดยสารก็พร้อมที่พัฒนาการบริการและดูแลสวัสดิการพนักงานให้ดี

ขณะที่นายวิทยา เปรมจิตร์ สมาคมพัฒนารถร่วมบริการรถโดยสารร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่าก่อนหน้านี้ทางผู้ประกอบการเคยเสนอแผนธุรกิจขอเพียงรัฐ กำหนดค่าโดยสารที่ชัดเจนเพื่อกำหนดจุดคุ้มทุนในการลงทุนได้ ยิ่งเร็วประชาชนได้ประโยชน์ หากมีการปรับค่าโดยสารให้ภายใน 1 ปี จะเห็นบริการที่ดีขึ้นแน่นอน เพราะเอกชนซื้อรถได้เร็วกว่า ขสมก.อยู่แล้ว

"ที่ผ่านมารถร่วมฯ ไม่ได้ปรับค่าโดยสาร เพราะเหตุผลทางการเมือง ทุกรัฐบาลกลัวกระทบฐานเสียงตัวเอง แม้รัฐบาลจะมีผลการศึกษาและทราบดีว่า ต้นทุนรถเมล์สูงกว่าราคาค่าโดยสาร แต่ก็ไม่ได้ปรับราคาให้สะท้อนต้นทุน ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถพัฒนาธุรกิจได้ ปัจจุบันผู้ประกอบการรถร่วมฯ รายใหญ่ๆก็ล้มหายตายจากไปแล้ว เหลือเพียงผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก ที่เป็นธุรกิจครอบครัวและมีรถในฟลีตประมาณ 20-30 คัน ที่ยังวิ่งให้บริการอยู่" นายวิทยากล่าว