posttoday

สั่งเกาะติดผลขึ้นค่าแรง สหภาพฯผวาค่าครองชีพพุ่งตาม

29 มกราคม 2561

รมว.แรงงาน สั่งเกาะติดผลกระทบหลังขึ้นค่าแรงอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบการ

รมว.แรงงาน สั่งเกาะติดผลกระทบหลังขึ้นค่าแรงอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบการ

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้มีคำสั่งการให้ติดตามสถานการณ์และมาตรการความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบการ หลังจากที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้มีมติให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ปรับขึ้นตั้งแต่ 5-22 บาท ใน 7 กลุ่มจังหวัด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไปนั้น

นายศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นตัวแปรที่สำคัญในการดูแลแรงงานแรกเข้า สอดคล้องตามสภาวการณ์กับมิติเชิงพื้นที่ เช่น จังหวัดในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจ เป็นต้น อุตสาหกรรมขนาดเล็กต้องปรับตัวในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อให้แรงงานเดินหน้าไปกับเทคโนโลยีได้โดยหาทางเลือกในการผลิตสินค้าและบริการ วิธีการลดต้นทุน การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าและบริการได้มากขึ้น

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างปี 2561แต่อยากจะให้เปลี่ยนนิยามของคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้สถานประกอบการมีโครงสร้างอัตราค่าจ้างประจำปี ซึ่งจะขึ้นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ค่าครองชีพที่ลูกจ้างอยู่ได้ แต่เป็นค่าจ้างแรกเข้า เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นแล้ว ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือต้องปรับสูงขึ้นด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานที่ไม่มีฝีมือได้พัฒนาฝีมือให้มีทักษะที่สูงขึ้นตามไปด้วย

นายชัยพร จันทนา ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับค่าจ้างปี 2561 สูงสุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ปัญหาคือเมื่อค่าจ้างขึ้น ค่าครองชีพจะขึ้นตามมา ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องควบคุมราคาสินค้า และพยุงผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นเส้นเลือดฝอยเพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ

นายบวรนันท์ กองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล กล่าวว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจ หรือแม้แต่คนงาน ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ภาครัฐเองต้องช่วยในการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจของคนในทุกรูปแบบและอย่างเป็นรูปธรรมธุรกิจเอง ผู้ประกอบการเอง อยู่ได้ด้วยคน ถ้าคนเก่ง องค์กรก็เก่ง จะพัฒนาความรู้ความสามารถคนในองค์กรให้เป็นคนทำงานที่มีความรู้ทักษะอย่างแท้จริง

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หลังจากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาจต้องปรับลดลูกจ้างประจำออกอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยหันไปใช้บริการพนักงานชั่วคราวมากขึ้น ซึ่งไม่มีข้อผูกมัดหรืออยู่ในสถานะกฎหมายแรงงานสัมพันธ์คุ้มครอง อีกทั้งไม่ต้องมีสวัสดิการ สวัสดิภาพการทำงาน ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสังคม ที่สำคัญสามารถจ้างหรือเลิกจ้างตอนไหนก็ได้