posttoday

พระครูปริยัตืโพธิวิเทศ กระบอกเสียงพระธรรมทูตอินเดียว

18 กุมภาพันธ์ 2561

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนของพระธรรมทูตไทยในสายประเทศต่างๆ

โดย วรธาร ทัดแก้ว

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนของพระธรรมทูตไทยในสายประเทศต่างๆ ต้องยอมรับว่าการทำงานของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล อันมีพระธรรมทูตในปัจจุบันประมาณ 30 กว่ารูป นำโดย พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ค่อนข้างแอ็กทีฟและเห็นภาพการขับเคลื่อนภารกิจและกิจกรรมต่างๆ อยู่ตลอด

โดยเฉพาะกิจกรรมการบวชกุลบุตรจากประเทศไทย ณ ดินแดนพุทธภูมิ รวมทั้งการบวชให้กับเด็กอินเดียที่วัดไทยซึ่งพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาลให้ความสำคัญอย่างมากและเด็กอินเดียหันมาบวชมากขึ้น

พระครูปริยัติโพธิวิเทศ (พระมหา ดร.คมสรณ์ คุตฺตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี รัฐอุตตรประเทศอินเดีย โฆษกพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เล่าถึงการทำงานของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ว่า นับตั้งแต่คณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทยมีโครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนากลับคืนสู่แดนพุทธภูมิ ตั้งแต่ปี 2500 รัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยได้มีมติสร้างวัดไทยพุทธคยาแห่งแรกขึ้นมา จากนั้นมีการส่งคณะพระธรรมทูตไทย โดยมีหัวหน้าพระธรรมทูตและสายงานพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล คอยขับเคลื่อนงานมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

พระครูปริยัตืโพธิวิเทศ กระบอกเสียงพระธรรมทูตอินเดียว

“การขับเคลื่อนงานพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล ใช้การสร้างวัดนำหน้า เริ่มจากสร้างวัดไทยพุทธคยาเป็นวัดแรก จากนั้นวัดอื่นๆ ก็ตามมา เช่น วัดไทยนาลันทา วัดไทยสารนาถ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ วัดไทยลุมพินี วัดไทยสาวัตถี วัดไทยเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นการสร้างในนามพุทธบริษัทชาวไทย คณะสงฆ์ไทย และรัฐบาลไทย โดยการขับเคลื่อนของพระธรรมทูตไทยอินเดีย-เนปาล จาก 1 วัด กลายเป็น 30 วัด (รวมสำนักสงฆ์และสถานที่ดูแลชาวพุทธด้วย) ในห้วงเวลา 60 ปี”

โฆษกพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล กล่าวต่อว่า หากมองในแง่จำนวนวัดกับเวลาทำงาน 60 ปี ถือว่ายังน้อย ขณะเดียวกันยังมีวัดไม่ครบพุทธสถานสำคัญๆ อีกมาก เช่น ที่เมืองสังกัสสะ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก (หลังวันออกพรรษา 1 วัน เรียกว่าวันเทโวโรหนะ) หลังจากเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาที่ชั้นดาวดึงส์ หรือที่เมืองเดลี แคว้นกุรุ อันเป็นที่แสดงมหาสติปัฏฐานสูตร เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ หรือที่สาญจีสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระสาวกก็ยังไม่มีวัดไทย เป็นต้น

“อาตมาได้รับนโยบายจากหัวหน้าพระธรรมทูตให้ขยายงานสร้างศูนย์ดูแลชาวพุทธในเส้นทางไหว้พระแสวงบุญ ตั้งแต่เราสร้างวัดไทยกุสินารา จากนั้นขยายมาสร้างโรงพยาบาล 5 รูปี รักษาทุกโรค ให้กับคนอินเดียและคนไทยที่ไปแสวงบุญ จากวันนั้นถึงวันนี้รวม 18 ปี เราก็ได้ขยายงานสร้างศูนย์ดูแลชาวพุทธตามเส้นทางไหว้พระ เช่น ที่วัดไทย 960 วัดไทยเชตวันมหาวิหาร วัดปุพพาราม วัดอโยธยา วัดสิทธารถราชมณเทียร 960 ขณะนี้ได้รับผิดชอบให้ไปสร้างวัดใหม่ชื่อวัดไทยอชันต้า-เอลโลร่า เมืองออรังกาบัด รัฐมหาราษฎร์ อินเดีย ปัจจุบันสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีพระไปจำพรรษาแรกตั้งแต่ปีที่แล้ว” โฆษกพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล กล่าว

พระครูปริยัตืโพธิวิเทศ กระบอกเสียงพระธรรมทูตอินเดียว

นอกจากขยายงานด้วยการสร้างศูนย์ดูแลชาวพุทธในเส้นทางจาริกธรรมและไหว้พระแสวงบุญในดินแดนพุทธภูมิแล้ว คณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล นำโดย พระธรรมโพธิวงศ์ ก็ได้ขยายงานด้านศาสนวัตถุมาที่ประเทศไทยด้วยการสร้างวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ โดยการจำลองพุทธสถานสำคัญๆ ที่อินเดียมาไว้ในวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตีด้วย 

“สำหรับงานประกาศธรรมหรืองานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิ เรามีกองงานพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล และหน่วยฝึกอบรมพระธรรมทูตอยู่ที่วัดไทยพุทธคยา ซึ่งอาตมาเป็นกรรมการบริหารด้วย โดยจะคัดเลือกและอบรมพระที่อยู่ประเทศอินเดีย (บางรูปพระนักศึกษา) ให้มาทำหน้าที่พระธรรมทูตและผู้ช่วยพระธรรมทูตในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน

หลังจากอบรมเสร็จแล้ว พอออกพรรษาก็ส่งไปทำงานเป็นพระธรรมวิทยากร รับหน้าที่บรรยายให้ความรู้กับคณะต่างๆ ทั้งพระและฆราวาสที่มีการนิมนต์มาผ่านกองงานพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล พระธรรมวิทยากรเหล่านี้ก็จะใช้รถบัสเป็นยานธรรมนำคณะญาติโยมหรือพระนวกโพธิ (ผู้ที่บวชในดินแดนพุทธภูมิ) ไปยังพุทธสถาน ณ ที่ต่างๆ พร้อมบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพุทธธรรม พุทธประวัติ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ให้กับคณะ สร้างเสริมศรัทธาญาติโยมต่อพระพุทธศาสนาและต่อพระใหม่

พระครูปริยัตืโพธิวิเทศ กระบอกเสียงพระธรรมทูตอินเดียว

นอกจากฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ดินแดนพุทธภูมิแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูศรัทธาของชาวพุทธบางคนที่อาจเสียความรู้สึกจากการเห็นข่าวเชิงลบของพระสงฆ์บางรูปที่ประพฤติไม่เหมาะสมกับสมณสารูปและทางโลกติเตียนไม่สามารถยอมรับได้ แต่พอญาติโยมได้มาที่อินเดีย-เนปาล เห็นการทำงานและการประกาศธรรมของพระธรรมทูตที่นี่เชื่อว่ากลับไปจะเป็นชาวพุทธที่ดี มีศรัทธาตั้งมั่น ไม่คลอนแคลน รู้จักแยกแยะ และรับมือได้ถ้าเกิดมีข่าวเชิงลบเกิดขึ้นกับพระสงฆ์อีก”

นอกจากงานประกาศธรรมของพุทธเจ้าแล้ว งานสังคมสังเคราะห์ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ทำอยู่ ผลงานที่ปรากฏคือการสร้างโรงพยาบาลให้การรักษาคนอินเดียในท้องถิ่น เช่น การสร้างโรงพยาบาลที่กุสินารา มีการจ้างหมออินเดียมาให้การรักษาคนอินเดีย ขณะเดียวกันก็จะมีหมอจากเมืองไทยโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ส่งมาประจำการเพื่อดูแลคนไทยที่เดินทางมาแสวงบุญในช่วงที่คนเดินทางมาไหว้พระและแสวงบุญ

“นอกจากโรงพยาบาลแล้วพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล ยังเปิดโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาและวิชาอื่นๆ ให้กับเด็กอินเดียตามวัดต่างๆ ในบางวัด ซึ่งงานสังคมสงเคราะห์ส่วนนี้ถือว่าจำเป็นที่เราต้องทำ ในเมื่อเรามาอยู่แผ่นดินเขาก็ควรสร้างคุณูปการให้กับคนในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย นี่คืองานของพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาลอีกหน้าที่หนึ่ง”

พระครูปริยัตืโพธิวิเทศ กระบอกเสียงพระธรรมทูตอินเดียว

อีกงานที่ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะเป็นงานที่พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ งานบวชกุลบุตรไทย ณ ดินแดนพุทธภูมิ และการบวชสามเณรให้กับเด็กอินเดียซึ่งได้เริ่มปฏิบัติมาหลายปี

“การที่มีคนนิยมมาบวชที่อินเดียภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น จุดเริ่มมาจากแนวนโยบายของหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ที่ต้องการให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์กำลังศรัทธาและมีเวลาพอ นอกจากได้มาไหว้พระแสวงบุญทำทานแล้ว ต้องการให้เพิ่มบารมีอีกข้อหนึ่ง เรียกว่าเนกขัมมบารมี หมายถึงการสร้างบารมีด้วยการบวช แทนที่จะบวชที่เมืองไทยธรรมดาก็มาบวชที่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งการได้มาบวชที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถือเป็นแรงกระตุ้นศรัทธาอย่างดี”

โฆษกพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล กล่าวต่อว่า ช่วงแรกๆ คนอาจไม่นิยมบวชมากนัก แต่พอมีคนบวชแล้วกลับไปถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สึกที่ได้รับจากการบวชที่แม้จะใช้เวลาแค่ 5 วัน 7 วัน หรือ 10 วัน แต่ก็เหมือนได้รับพลังที่พิเศษกลับไป ซึ่งต้องยอมรับว่าคนมาบวชที่อินเดียนั้นบางคนบวชนับ 10 ครั้งก็มี

“สายงานพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาลเรามีกองกิจการพิเศษตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องการบรรพชาอุปสมบทของกุลบุตรผู้ศรัทธาจากประเทศไทย รวมถึงการบวชให้กับเด็กอินเดียที่มีศรัทธาทุกปี โดยจะทำการบวชในช่วงภาคฤดูร้อน ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้นในเดือน มี.ค.ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งเป็นไปตามดำริของหัวหน้าพระธรรมทูตรูปปัจจุบัน” โฆษกพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล กล่าวทิ้งท้าย