posttoday

พระมหาขุนทอง เขมสิริ เพชรเม็ดงามของคณะสงฆ์ศรีสะเกษ

04 กุมภาพันธ์ 2561

การที่วัดวาอารามใดได้พระดี เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีความรู้ทางธรรมและทางโลกเป็นที่ปรากฏ เป็นพระนักการศึกษา เป็นนักพัฒนา

โดย วรธาร ทัดแก้ว

การที่วัดวาอารามใดได้พระดี เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีความรู้ทางธรรมและทางโลกเป็นที่ปรากฏ เป็นพระนักการศึกษา เป็นนักพัฒนา มีคุณสมบัติของความเป็นผู้นำสูง และมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาเป็นเจ้าอาวาส ถือเป็นเนื้อนาบุญและเป็นความโชคดีของชาวบ้านยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1

วัดนั้นเป็นอันหวังความเจริญรุ่งเรือง ขณะที่ชาวบ้านก็จะได้ที่พึ่งทางใจที่ประเสริฐก่อเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจ เข้าวัดยามใดก็สุขยามนั้น ซึ่งต่างจากการได้พระทุศีลมาเป็นเจ้าอาวาสที่มุ่งแต่ลาภสักการะ ไม่ใส่ใจการวัดการพระศาสนา ปกครองโดยถืออัตตาเป็นใหญ่ ไม่นำพาศรัทธาชาวบ้าน มิวายวัดนั้นเป็นอันหวังความเสื่อมทุกวันๆ ชาวบ้านขาดศรัทธาไม่อยากเข้าวัด ในที่สุดก็ไม่ต่างอะไรกับวัดร้าง

พระมหาขุนทอง เขมสิริ เพชรเม็ดงามของคณะสงฆ์ศรีสะเกษ

ทว่า การที่วัดทั้งหลายโดยเฉพาะในต่างจังหวัดและชาวบ้านจะได้พระผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมาเป็นเจ้าอาวาสวัดและเป็นที่พึ่งที่ดีของชาวบ้านนั้น ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้หายากเสียยิ่งกว่ายาก ดังนั้น ถ้าวัดไหนและชาวบ้านได้พระมีคุณสมบัติดังกล่าวมาเป็นสมภารจึงถือว่า โชคดีมาก

วัดสำโรงใหญ่ ต.สำโรง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดหนึ่งที่ต้องบอกว่าโชคดีและชาวบ้านก็โชคดีที่ได้ "พระมหาขุนทอง เขมสิริ" สังกัดวัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ และกรรมการบริหารวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ซึ่งมีคุณสมบัติที่ระบุข้างต้นทุกประการมาเป็นจ้าอาวาส และเพียง 1 ปีที่เป็นเจ้าอาวาส (ได้รับแต่งตั้งเจ้าอาวาสวันที่ 5 ม.ค. 2560) ก็สามารถพลิกฟื้นศรัทธาชาวบ้านกลับคืนมาอย่างดี นับวันมีแต่ดีขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเสียงสาธุการจากชาวบ้าน

ผู้เขียนได้สอบถามชาวบ้านผู้ใกล้ชิดวัด (ไม่ประสงค์ออกนาม) ก็ได้รับคำตอบว่า ก่อนหน้าที่พระมหาขุนทองจะย้ายจากวัดมหาพุทธารามมาเป็นเจ้าอาวาส วัดสำโรงใหญ่นั้นขาดการเอาใจใส่ในการพัฒนาแทบจะทุกด้าน การปกครองในวัดก็ไม่ค่อยเรียบร้อย พระลูกวัดขาดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ขณะความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนก็ค่อนข้างแปลกแยกทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยหันไปทำบุญที่อื่นแทน

พระมหาขุนทอง เขมสิริ เพชรเม็ดงามของคณะสงฆ์ศรีสะเกษ

ด้านสาธารณูปการก็ขาดการก่อสร้างของใหม่ที่จำเป็นซ้ำบางทีก็ไปสร้างสิ่งไม่จำเป็น ขณะที่ของเก่าก็ไม่บูรณะ เสนาสนะต่างๆ เช่น อุโบสถ กุฏิ ทรุดโทรมจนเห็นความผุพัง เฉพาะอุโบสถสกปรกเต็มไปด้วยมูลค้างคาวจนนั่งทำสังฆกรรมแทบไม่ได้ พอมองจากข้างนอกเข้าไปข้างในวัดก็เห็นความเศร้าหมองจนหลายคนไม่อยากย่างกรายเข้าไป บางสิ่งที่สร้างไม่มีการวางผังทำให้ดูเกะกะภูมิทัศน์วัด

ทว่า พอพระมหาขุนทองมาเป็นเจ้าอาวาสในชั่วเวลา 1 ปี ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ชาวบ้านญาติโยมที่ไม่ค่อยเข้าวัด ก็หันมาร่วมพัฒนาวัดไปพร้อมกัน เปลี่ยนวัดที่ซอมซ่อ หม่นหมอง เงียบเหงา อ้างว้างมาหลายปีให้มีสภาพที่เห็นแล้วมีความสดใส ร่มเย็น น่าเข้ามาทำบุญและกิจกรรมต่างๆ อย่างมีความสุข

"อาตมาพัฒนาวัดเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย มีการพูดคุยกับชาวบ้านและพระในวัดเป็นอันดับแรก ตั้งแต่เข้ามาก็เริ่มสำรวจปัญหาของวัดมีปัญหาอะไรด้านไหนบ้างที่ต้องเร่งแก้ไข ก็เห็นมี 2 เรื่องสำคัญ คือ ชาวบ้านญาติโยมไม่ค่อยเข้าวัด เวลาทำบุญก็ไปที่อื่น อันนี้ตามที่ญาติโยมเล่าให้ฟัง อีกเรื่องคือความทรุดโทรมของเสนาสนะและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ในวัดซึ่งชัดเจนมาก

พระมหาขุนทอง เขมสิริ เพชรเม็ดงามของคณะสงฆ์ศรีสะเกษ

ภารกิจแรกของอาตมาคือพลิกฟื้นวิกฤตศรัทธาชาวบ้านให้กลับคืนมาโดยเร็วควบคู่ไปกับการบูรณะซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ที่ทรุดโทรม อาตมาใช้ศาลาวัดและทุกวันพระเป็นเวทีพูดคุยกับญาติโยมชาวบ้านผ่านการเทศน์ การบรรยาย บ่อยครั้งจะเชิญชวนญาติโยม ผู้นำหมู่บ้าน กรรมการวัด ไวยาวัจกร ครูอาจารย์ ข้าราชการทั้งเกษียณอายุและไม่เกษียณที่เคยทำบุญกับวัดมาประชุมพูดคุย วิเคราะห์และแก้ปัญหาร่วมกัน

อาตมาจะพูดเสมอว่าวัดไม่ใช่ของเจ้าอาวาสหรือของใครคนหนึ่งแต่เป็นของทุกคน เป็นสมบัติของชาติและของพระพุทธศาสนาที่เราชาวพุทธต้องช่วยกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทุกวันพระก็จัดให้มีทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ เปิดวัดให้ญาติโยมมาปฏิบัติธรรมรักษาศีล พอทำไปก็เห็นผลญาติโยมเข้าวัดเยอะขึ้นเรื่อยๆ สำคัญทางศาสนาและตอนที่วัดงานไม่ต้องพูดญาติโยมมาเยอะเรียกว่าล้นศาลาเลย"

ในภารกิจพลิกฟื้นวิกฤตศรัทธาชาวบ้านพระมหาขุนทองก็ได้กระทำควบคู่ไปกับการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ เช่น กุฏิเจ้าอาวาส ศาลาเมรุด้วยการปูกระเบื้องและล้อมรั้ว ศาลารายที่เมื่อก่อนเป็นที่นั่งเล่นพักผ่อนก็ทำเป็นหอบุรพาจารย์สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัดสำโรงใหญ่ โดยมีรูปของอดีตเจ้าอาวาสและเป็นที่เก็บศาสนวัตถุต่างๆ เช่น ตู้พระธรรมเก่าแก่ รวมถึงศาลาอเนกประสงค์ที่ตอนมาเป็นเจ้าอาวาสกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างก็ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ

พระมหาขุนทอง เขมสิริ เพชรเม็ดงามของคณะสงฆ์ศรีสะเกษ

"ปัจจุบันกำลังบูรณะอุโบสถได้ประมาณ 40% หลังจากเสร็จแล้วจะปรับภูมิทัศน์วัดต่อ ซึ่งต้องยอมรับว่างานบูรณะซ่อมแซมทุกอย่างที่กล่าวมาได้รับศรัทธาและการช่วยเหลือจากญาติโยมชาวบ้านดีมาก เช่น มีการนำผ้าป่าและกฐินมาทอดถวาย ในส่วนของพระในวัดซึ่งมีอยู่ 7-8 รูปอาตมาก็ใช้หลักการปกครองแบบไม่ปกครอง คือ มีอะไรก็พูดคุยกัน บอกกล่าวกันดีๆ มอบหมายงานให้ทำตามกำลังและความสามารถ แต่เน้นการทำงานเป็นทีม ด้านการศึกษาก็ส่งเสริมให้เรียนทั้งทางโลกและทางธรรม"

เห็นได้ว่าในห้วง 1 ปีที่ของการเป็นเจ้าอาวาส แม้พระมหาขุนทองจะมีงานด้านการศึกษาที่ต้องผิดชอบมากมายที่วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย แต่การทำหน้าที่สมภารวัดก็ทำได้อย่างไม่มีที่ติ ถือได้ว่าท่านคือเพชรเม็ดงามเพชรแท้ที่คนศรีสะเกษโดยเฉพาะชาวอุทุมพรพิสัยจะต้องส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง