posttoday

หลวงพ่อพระสายน์-พระใส

20 มิถุนายน 2553

พระประธานอุโบสถวัดปทุมวนาราม เรียกว่าหลวงพ่อพระใส ทำให้ผู้ที่เคยไปไหว้หลวงพ่อพระใสที่วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย แปลกใจและสงสัยว่าเป็นองค์เดียวกันหรือไม่

พระประธานอุโบสถวัดปทุมวนาราม เรียกว่าหลวงพ่อพระใส ทำให้ผู้ที่เคยไปไหว้หลวงพ่อพระใสที่วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย แปลกใจและสงสัยว่าเป็นองค์เดียวกันหรือไม่

โดย...สมาน สุดโต

เมื่อผมเล่าเรื่องวัดปทุมวนารามไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ มีคำถามตามมามากเกี่ยวกับพระประธานในพระอุโบสถ เพราะผมเสนอไปว่า พระประธานอุโบสถวัดปทุมวนาราม เรียกว่าหลวงพ่อพระใส ทำให้ผู้ที่เคยไปไหว้หลวงพ่อพระใสที่วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย แปลกใจและสงสัยว่าเป็นองค์เดียวกัน หรือผู้เขียนได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง

พระราชบัณฑิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ซึ่งอยู่จำพรรษาที่วัดปทุมวนารามมา 40 พรรษา ยืนยันว่าพระประธานที่วัดปทุมวนาราม ชื่อ หลวงพ่อพระใสจริง มาจากเมืองลาวจริง แต่มี 2 ชื่อ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดงานฉลองวัด แต่งชื่อเป็นภาษาบาลีว่า “สายน” ปัจจุบันจึงพิมพ์ชื่อว่า หลวงพ่อพระสายน์ (แปลว่า สายฝน) แต่คนทั่วไปยังเรียกว่าหลวงพ่อพระใส มีพุทธานุภาพเช่นเดียวกับหลวงพ่อพระใสหนองคาย

หลวงพ่อพระสายน์-พระใส หลวงพ่อพระสายน์(ใส)วัดปทุมวนาราม

บุหรง ศรีกนก นักโบราณคดี กล่าวว่า วัดปทุมวนาราม มีพระพุทธรูปโบราณศิลปะล้านช้างประดิษฐานอยู่ 3 องค์ นามว่า พระเสริม พระสายน์ และพระแสน

พระเสริมและพระสายน์ ตามตำนานว่าสร้างขึ้นพร้อมกัน พร้อมพระสุกอีกองค์หนึ่ง โดยพระราชธิดากษัตริย์ล้านช้าง ชาวเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ เมืองหนองคาย ตั้งแต่สมัยธนบุรี แต่ระหว่างทางพระสุกจมหายไปในลำน้ำโขง

พระเสริมนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญมาไว้ ณ พระบวรราชวังก่อน

ส่วนพระสายน์โปรดให้อัญเชิญเป็นประธานในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม ครั้งรัชกาลที่ 4 ซึ่งครั้งนั้นได้อัญเชิญพระแสนจากเมืองมหาไชยลงมาด้วย โปรดให้ประดิษฐานในพระวิหาร (วัดปทุมวนาราม)

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต จึงโปรดให้อัญเชิญพระเสริมมาประดิษฐานคู่กับพระแสน เพราะเคยเป็นพระพุทธรูปที่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อนตามตำนาน
พระเสริม พระสายน์ และพระแสน ซึ่งเคยเป็นพระพุทธรูปโบราณจากกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ณ วัดปทุมวนารามแห่งนี้ (เชื่อหรือไม่ว่า มีพระแสนอีกองค์หนึ่งเป็นพระประธานอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม ริมคลองบางหลวง บางกอกใหญ่ เป็นพระยุคสมัยเดียวกันกับพระพุทธรูปวัดปทุมวนาราม)

นี่คือตำนานหลวงพ่อพระใส หรือพระสายน์ วัดปทุมวนาราม

หลวงพ่อพระใส พระคู่บ้านคู่เมือง

ส่วนข้อมูลวัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย ว่า หลวงพ่อพระใส ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.หนองคาย เป็นพระพุทธรูปที่ชาว จ.หนองคาย เคารพสักการะและนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ลักษณะเป็นพระพุทธรูป|ปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสีสุก ขนาดหน้าตัก กว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว งดงามมาก

ประวัติการสร้างเป็นอัศจรรย์ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ลงความเห็นไว้ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยาม หน้า 102 ว่า พระพุทธรูปล้านช้างที่งามยิ่งกว่าองค์อื่น คือ พระสุก พระเสริม พระใส โดยมีพระราชธิดา 3 พระองค์แห่งกษัตริย์ล้านช้าง เป็นเจ้าของศรัทธา

พิธีหล่อพระทั้งสามนั้น มีคนสูบเตาหลอมทองอยู่ไม่ขาดระยะนับเป็นเวลา 7 วัน จนถึงวันที่ 8 เวลาเพลเหลือแต่หลวงตากับสามเณรน้อยรูปหนึ่งทำการสูบเตาอยู่ มีชีปะขาวคนหนึ่งมาขอช่วยสูบเตา ให้หลวงตาและสามเณรน้อยขึ้นไปฉันเพล

สิ่งอัศจรรย์เมื่อทุกคนเห็นว่ามีคนสูบเตามากกว่าปกติ ท่อเตาก็มีมาก แต่ละคนเป็นชีปะขาวและทองได้ถูกเทลงในเบ้าทั้งสามเบ้า จากนั้นไม่เห็นชีปะขาวนั้นอีกเลย

การประดิษฐาน เดิมทีนั้นหลวงพ่อพระใสได้ประดิษฐาน ณ เมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง พ.ศ. 2321 สมัยกรุงธนบุรี ได้อัญเชิญมาไว้ที่เมืองเวียงคำ และถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพนชัย เมืองเวียงจันทน์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบัญชาให้สมเด็จกรมพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามจากอาณาจักรล้านช้างสู่สยามประเทศ โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควายประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ ล่องมาตามลำน้ำงึมถึงตรงบ้านเวินแท่น เกิดอัศจรรย์แท่นของพระสุกได้เกิดแหกแพจมลงไปในน้ำ โดยเหตุที่มีพายุพัดแรงจัดและบริเวณแห่งนั้นได้นามว่า “เวินแท่น”

หลวงพ่อพระสายน์-พระใส หลวงพ่อพระใส จ.หนองคาย

เมื่อถึงบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เกิดพายุใหญ่เสียงฟ้าร้อง พระสุกได้แหกแพจมลงไปในน้ำ บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “เวินสุก” และพระสุกก็จมอยู่ในน้ำตรงนั้น มาจนถึงปัจจุบันนี้

ก็ยังเหลือแต่ พระเสริม พระใส ที่ได้นำขึ้นมาถึงเมืองหนองคาย พระเสริมนั้นได้ถูกอัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใสได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดหอก่อง (ปัจจุบัน คือ วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ)

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเสริมจากวัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย ไปกรุงเทพฯ และอัญเชิญพระใสจากวัดหอก่องขึ้นประดิษฐานบนเกวียนจะอัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ ด้วย แต่พอมาถึงวัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักจึงอัญเชิญลงไปไม่ได้

ได้แต่พระเสริมลงกรุงเทพฯ ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม ส่วนหลวงพ่อพระใสได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย จนถึงปัจจุบัน

เมื่อองค์หลวงพ่อพระใสมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดโพธิ์ชัย มีความศักดิ์สิทธิ์และอัศจรรย์หลายประการ จึงเป็นที่ศรัทธาเคารพนับถือและสักการบูชาของประชาชน จนได้สมญาว่า “หลวงพ่อเกวียนหัก” ตราบเท่าทุกวันนี้ ทำให้วัดโพธิ์ชัยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้พุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศและพี่น้องชาวต่างชาติได้มาสักการบูชาอย่างไม่ขาดสาย

ภาคปาฏิหาริย์

หลวงพ่อพระใสเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เดิมมาปรากฏตามประวัติว่า เมื่อรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศ์ เสด็จเสวยราชย์ขึ้นครองนครเวียงจันทน์ พระองค์ได้ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าหากครองราชย์ไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เกิดอัศจรรย์ อัศจรรย์ก็เกิดขึ้นตามคำอธิษฐาน ความอัศจรรย์หรืออภินิหารครั้งที่ 2 คราวที่ขุนวรธานีอัญเชิญหลวงพ่อพระใสออกจากวัดหอก่อง เพื่อจะนำไปพร้อมกับพระเสริมไปยังกรุงเทพฯ มาถึงวัดโพธิ์ชัย ไม่สามารถลากเกวียน ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระใสให้เคลื่อนต่อไปได้ แม้จะใช้เครื่องฉุดก็สุดความสามารถเช่นเดียวกัน ได้ทำการอ้อนวอนด้วยประการต่างๆ ก็ไม่เป็นผล จนในที่สุดเกวียนหักลง คราวนี้ได้หาเกวียนใหม่มาเป็นที่ประดิษฐาน แต่ก็อัศจรรย์อีกครั้ง เพราะไม่สามารถจะเคลื่อนที่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงปรึกษาแล้วตกลงกันว่า จะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย แล้วก็ทำการอ้อนวอน เป็นผลดังใจนึก พอเข้ามาหามเพียงไม่กี่คน หลวงพ่อพระใสก็ถูกยกขึ้น ประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดโพธิ์ชัย ให้คณะเราได้กราบไหว้เคารพสักการบูชาและเป็นเกียรติอันสูงส่งแก่ชาว จ.หนองคาย มาตลอดจนบัดนี้

รอดจากเครื่องบินตก

ในคราวต่อมา หลวงพ่อพระใสแสดงความอัศจรรย์อีกหลายครั้ง เช่น เมื่อคราวที่ขุนเชาว์ฯ เป็นผู้เชิดชูหลวงพ่ออยู่นั้นขณะที่ทางวัดโพธิ์ชัยมีงานสมโภชหลวงพ่อพระใส ได้มีท่านผู้หนึ่งซึ่งเดินทางมาจากต่างถิ่น ไม่สู้เชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระใสมากนัก เพื่อเป็นการทดลองจึงได้พูดว่าถ้าหากหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์จริงขอให้บันดาลให้ฟ้าผ่า ทันใดนั้นเองฟ้าก็ผ่าลงมาจริงๆ

เมื่อเครื่องบินของบริษัท เดินอากาศไทย ประสบอุบัติเหตุบริเวณทุ่งนาคลองรังสิต เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2523 มีผู้โดยสารสองท่านที่ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย สามารถลุกขึ้นเดินกลับบ้านได้ ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล และหนึ่งในสองท่านนั้นคือ คุณศักดิ์ดา อัครเมธาทิพย์ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดหนองคาย ก่อนออกเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อพระใสพร้อมกับบูชาหลวงพ่อพระใสจำลองขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว นำขึ้นเครื่องบินเดินทางไปด้วย เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทั้งคนและองค์พระกลับไม่เป็นอะไรเลย

เหตุการณ์ในครั้งนั้นนับเป็นปาฏิหาริย์ที่รู้เห็นกันอย่างกว้างขวางจนมีสื่อมวลชนหลายแขนงเสนอภาพและข่าวอย่างละเอียด พร้อมกับได้มีการตั้งสมญานามหลวงพ่อพระใส ว่า “พระพุทธรูปปาฏิหาริย์” บ้าง “ยิ่งกว่าอัศจรรย์” บ้างดังนี้แล