posttoday

‘บุษบาซ่อนเงา’ ความลับที่อยากเปิดเผย

14 สิงหาคม 2556

ภาพเขียนที่มองแวบแรกให้ความรู้สึกคล้ายกับจิตรกรรมฝาผนัง ทว่าสีสันฉูดฉาด เส้นสายคมชัดและตวัดชดช้อยยิ่งนัก

โดย...นกขุนทอง ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล

ภาพเขียนที่มองแวบแรกให้ความรู้สึกคล้ายกับจิตรกรรมฝาผนัง ทว่าสีสันฉูดฉาด เส้นสายคมชัดและตวัดชดช้อยยิ่งนัก นั่นล่ะที่ดึงดูดใจให้เดินเข้าไปพินิจใกล้ๆ จากจุดเริ่มต้นของภาพ สายตาไล่ไปหารายละเอียดเรื่อยๆ จนเดินจากปลายทางหนึ่งสู่อีกสุดทาง และวนมาดูอีกด้าน งานที่มีลักษณะคล้ายจิตรกรรมฝาผนังมาเป็นตัวชูโรงนั้น มีรูปทรงบางอย่างที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตัวการ์ตูนแบบญี่ปุ่น สัตว์ที่มองยังไงก็คล้ายแรด ซ้ำในภาพยังมีหญิงชายโป๊เปลือย และรายละเอียดอีกยิบย่อยที่ต่างก็มีนัย และซ่อนอารมณ์ขันเฉกเช่นเดียวกับจิตรกรโบราณ

ผลงานที่ว่าเป็นการสร้างสรรค์อันโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ หากใครใคร่สนใจชมผลงานตามโครงการประกวดศิลปะต่างๆ ล้วนต่างต้องนึกถึงชื่อศิลปิน “กฤษฎางค์ อินทะสอน” เพราะไม่ว่ามีงานประกวดที่ไหนเขามักไม่พลาด และตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมายังนำเสนอเทคนิคการสร้างสรรค์งานสไตล์เดิม ด้วยงานสีฝุ่นบนไม้ สีฝุ่นบนผ้าใบ สีฝุ่นบนกระดาษ ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายงานจิตรกรรมบนโบราณสถานของชาวล้านนา ที่เขาผูกพันมาตั้งแต่เกิด

“ชอบทำงานสไตล์นี้ เพราะเป็นความผูกพันของเรา เราอยู่ จ.เชียงราย อยู่บ้านไม้ มีช่องลม เห็นลายฉลุบนไม้ มีบานพับ มีความสวยงาม และเราเห็นสถาปัตยกรรมล้านนา เราเอาความผูกพันตรงนี้มาใช้ และตั้งใจสร้างงานให้เป็นจิตรกรรมฝาผนัง เพราะเรารู้สึกประทับใจและอยากอนุรักษ์ไว้ แต่ไม่ใช่การลอกลาย ไม่ใช่การเขียนซ้ำของเดิม เราใช้การพัฒนาเพื่อให้เกิดความร่วมสมัย อย่างน้อยๆ คนมาดูก็เอะใจคิดถึงจิตรกรรมฝาผนังโบราณจริงๆ ไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา ตอนแรกที่เริ่มทำงานศิลปะก็เขียนแนวป๊อปอาร์ต เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเลย แต่พอถึงวันหนึ่งมันตัน พัฒนางานต่อไปไม่ได้ และได้มีโอกาสตามอาจารย์ไปลอกลาย ก็เลยนำมาลองทำเป็นงานของเรา พอทำแล้วเราถนัดและสามารถพัฒนาต่อได้”

หลังจากแสดงผลงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ มามากแล้ว ครั้งนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของกฤษฎางค์ ภายใต้ชื่อ “บุษบาซ่อนเงา” ที่นำเสนอเนื้อหามาจากเบื้องลึกของจิตใจตัวเอง ในความเป็นเพศที่สาม ที่ต้องเก็บงำความรู้สึก การแสดงออกไว้ ภายในวัฒนธรรมและสังคมที่ยังไม่ยินยอมเปิดรับ นอกจากนี้ยังต้องฝืนทนกับเสียงซุบซิบนินทาในสิ่งที่เขาเป็น

“เป็นชุดที่ทำตอนเรียนปริญญาโท (คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) เป็นการรวบรวมความคิดที่มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงเราจะมีแนวความคิดอื่นแยกย่อย แต่ต้องคงเนื้อหาหลักไว้ เราก็พูดถึงสิ่งที่เราอยากบอก แต่เราบอกไม่ได้ก็นำมาทำเป็นงานศิลปะ ถ่ายทอดงานโดยใช้อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง ออกมาเล่า อย่างเช่น เราอยู่ในสังคมล้านนา จ.เชียงราย ถูกเลี้ยงดูปลูกฝังมาแบบหัวโบราณ การที่เราจะแสดงตัวตนที่เราอยากเป็นจริงๆ นั้นลำบาก ยังมีคนไม่ยอมรับ แม้จะบอกว่าตอนนี้สังคมเปิดกว้างแล้ว แต่ก็ยังมีการนินทา ลึกๆ มีการแอนตี้อยู่ หรือเอาไปล้อเลียน เอาไปทำเป็นมุขตลก ซึ่งเราอาจโชคดีที่ไม่ได้เจอสังคมกดดันขนาดนั้น แต่จากการค้นคว้ามีหลายๆ คนที่ไม่เป็นที่ยอมรับ แม้แต่คนในครอบครัวเองก็ไม่ชอบ”

ผลงานที่นำมาจัดแสดง เป็นงานที่ทำในห้วงเวลา 3 ปี ในช่วงแรกกฤษฎางค์ยังคงมองเพียงตัวเอง ดังนั้น ภาพที่นำเสนอออกมาจึงเป็นรูปผู้หญิงนั่งถักเปียคนเดียว ผู้หญิงนั่งปักผ้า ทว่าเมื่อทำงานไปเรื่อยๆ งานมีการพัฒนาทางด้านความคิด รายละเอียดในภาพจึงเยอะขึ้น และบอกเล่าในหลายมุมมากขึ้น ทว่าใน 1 ภาพ ก็คุมธีมเรื่องเพียงหนึ่งเดียว

“งานที่เราสื่อมา เรายืนยันความมีตัวตนของพวกเราอยู่ เรามีด้านเปิดเผยและปิดบังเหมือนทุกคนทุกเพศ เรามีด้านที่สวยงามอยากจะบอก และมีด้านมืดที่อยากปิดไว้เหมือนกัน ตัวหลักของงานคือผู้หญิงแทนตัวตนที่เราอยากเป็น นำเสนออารมณ์รักโลภโกรธหลงที่มีเหมือนคนอื่นๆ ตัวบุษบาก็คือผู้หญิงอีกคนหนึ่ง การซ่อนเงาก็คือเก็บอารมณ์ ความอยากที่เราต้องปิดบังไว้ในวัฒนธรรมที่เราถูกปลูกฝังมา งานดูจะคอนทราสต์กันอยู่ เพราะเรานำเสนองานแบบโบราณแต่เล่าเรื่องเพศที่สาม ซึ่งก็เหมือนกับตัวเราที่มีความหัวโบราณแต่เราก็เป็นแบบนี้”

...อย่างไรก็ดี ความใคร่แลเสน่หายังคงถูกถักทอบรรจงแต้มด้วยคมพู่กันสีสด อ่อนหวานแต่เฉียบแม่น หนักแน่นในอารมณ์รุ่มร้อนอย่างไม่เสแสร้งไหวเอนเอียง หากจะยังคงเบ่งบานชูช่อ รอคอยที่จะเผยความลับของความงามที่ซ่อนอยู่อีกด้านกลีบงามดังบุษบาซ่อนเงา

นิทรรศการ บุษบาซ่อนเงา จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ส.ค. ณ นัมเบอร์วันแกลอรี่ ห้องนิทรรศการ 2 อาคารเดอะสีลม แกลเลอเรีย กรุงเทพฯ

กฤษฎางค์ อินทะสอน

เกิดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ระหว่างการศึกษาได้ส่งผลงานเข้าประกวดมากมาย และคว้ารางวัลมาได้อย่างเป็นที่น่าพึงใจ อาทิ รางวัลที่ 2 ศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 59 รางวัลดีเด่น “จิตรกรรมร่วมสมัย พานาโซนิค ครั้งที่ 15” รางวัลดีเด่นการประกวด “จิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ 3” รางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน “ศิลป์ พีระศรี ศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 28” ฯลฯ

ได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปศึกษาดูงานศิลปะนิทรรศการเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54 ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เป็นตัวแทนนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ คอลเลจ ออฟ อาร์ตส มหาวิทยาลัยเว้ ประเทศเวียดนาม