posttoday

วิถีธรรม...นำชีวิตจากบทธรรม ‘ธาตุวิภังค์’(ตอน ๘)

28 สิงหาคม 2555

การกระทำที่มีกิเลสจูงใจอยู่ และสังขารปรุงแต่ง ปุญญาภิสังขาร บุญที่เกิดขึ้นจากการกระทำนี้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

“การกระทำที่มีกิเลสจูงใจอยู่ และสังขารปรุงแต่ง ปุญญาภิสังขาร บุญที่เกิดขึ้นจากการกระทำนี้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ก็ยังนำไปสู่ความทุกข์ได้อยู่เสมอ จึงไม่ต้องบอกว่า อปุญญาภิสังขาร-บาป หรือ อเนญชาภิสังขาร ขนาดบุญยังไปหาตัวทุกข์เลย อเนญชาขนาดเป็นอำนาจจิตขั้นสูงแล้ว ก็ยังไปหาตัวทุกข์เลย จึงไม่ต้องพูดเรื่องตัวบาปที่เกิดขึ้น เป็นตัวทุกข์ยิ่งขึ้น”

การส่งต่อรูปน้ำมาจากสภาพของก๊าซ และองค์ประกอบก็คือความร้อน หรือ Temperature ตัวนี้ พอมันก่อรูปเกิดขึ้น รูปนี้ก็ดำเนินไปสู่วิถีต่อเนื่องต่อๆ ไป รูปนี้ให้อะไร ให้อารมณ์ที่จิตเข้าไปถือในรูป เมื่อเราเข้าไปดื่มน้ำ ก็ต้องให้ความรู้สึก เมื่อเราไปถือในรูปในอารมณ์เหล่านี้ ก็ให้ความรู้สึก ความรู้สึกดังกล่าวยกขึ้นสู่จิต เรียกว่า เวทนา ความรู้สึกดังกล่าวมันตอบคืนมาที่ตัวของจิต ให้จิตนี้เสวยในอารมณ์นั้นๆ แล้วอารมณ์นั้นจึงให้ความรู้สึกว่านี่สุขนะ นี่ทุกข์นะ นี่เป็นอารมณ์กลางๆ ระหว่างสุขกับทุกข์ อทุกขมสุข

สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ คือค่าสมมติจากภาวะ เป็นสมมติจากภาวะ เพราะเราถือตรงนี้ว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ตามสัญญาจดจำหมายรู้ตามสังขารปรุงแต่งตามความหมายรู้ และมีวิญญาณรู้ในความปรุงแต่งนั้น กระบวนการขันธ์ ๕ เกิดขึ้นตรงนี้ทั้งหมด รูปนามเกิด ขันธ์ ๕ เกิด ทุกข์เกิด เกิดขึ้นเพราะอุปาทาน อุปาทานเพราะมีตัณหา เมื่อเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราจะเห็นอำนาจหนึ่งแสดงตัวอย่างเต็มกำลัง คือความทะยานอยาก ที่ส่งต่อสภาพมาจากคำว่า อวิชชาหรือกิเลส แสดงความทะยานอยากอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง ให้ยึดถือในสิ่งนี้ และสร้างการกระทำเกิดขึ้นเรียกว่า ภพ จนอุบัติเกิดขึ้น จากการกระทำวิบากเรียกว่า ชาติ เกิดอะไรขึ้น เกิดอำนาจหนึ่ง เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตนเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมาก ในการถือตัวตนเกิดขึ้น คือ ยึดภาวะนี้ว่าเป็นฉัน และบอกว่า ฉันคือภาวะ สำคัญว่าเรามีอยู่ในตน ตนมีเรา เราเป็นตน ตนเป็นเรา ตรงนี้เรียกว่า สักกายทิฏฐิ

การยึดมั่นถือมั่นตรงนี้ จึงเป็นเรื่องของตัวทุกข์แท้ อุปาทานขันธ์ ใน ธาตุวิภังคสูตร วันนี้แสดงเป็นพิสดาร ไม่เดินตามตำรา แต่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าพยายามสั่งสอนไปตรงจุดๆ นี้ เพราะบัดนั้น ผู้เรียนคือ ปุกกุสาติกุลบุตร มีความพร้อมของจิตที่จะรับธรรมอันประณีตละเอียดนี้ได้ จึงไม่เสียเวลาที่จะต้องมานั่งปูพื้นว่านี่ทานนะ นี่ศีลนะ สังเกตไหม อนุปุพพิกถา แสดงบ่อยครั้งไม่ว่ากับพระยสกุลบุตร กับพระเจ้าพิมพิสาร กับมากๆๆ ในชมพูทวีป แต่ไม่ใช่แสดงกับบุคคลที่เป็นเฉพาะๆ เพราะว่าจิตของผู้เรียนในพระสูตรนี้ ที่เป็นปฐมเหตุให้เกิดคำสั่งสอนนี้ คือพระเจ้าปุกกุสาติราช ซึ่งเป็นกษัตริย์จากตักสิลา จากคันธาระ ปัจจุบันคือปากีสถาน เป็นจิตที่มีความพร้อมในขั้นของศีลของทาน ทานศีลพร้อมแล้ว ความเชื่อมั่นในความดีมีแล้ว

และสำคัญคือ ให้หน่ายในกามคุณในความดีนั้นแล้ว ให้หน่ายในผลของความดีนั้นแล้วที่เป็นความสุขที่เกิดขึ้น ความดีที่ให้ผลความสุข สุขนั้นเป็นสุขจากชั้นของกาม เป็นดีจากทาน ดีแบบโลกๆ เป็นดีขั้นของสมมติ ขั้นของภาวะ เป็นดีที่ยังสร้างโทษสร้างภัยอยู่ เพราะดีนั้นยังมีโทษอยู่ ดีนั้นไม่ใช่ดีแท้ เพราะเป็นดีที่ก่อเกิดขึ้นจากการกระทำที่มีกิเลสจูงใจอยู่ และสังขารปรุงแต่ง ปุญญาภิสังขาร บุญที่เกิดขึ้นจากการกระทำนี้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ก็ยังนำไปสู่ความทุกข์ได้อยู่เสมอ จึงไม่ต้องบอกว่า อปุญญาภิสังขาร-บาป หรืออเนญชาภิสังขาร ขนาดบุญยังไปหาตัวทุกข์เลย อเนญชาขนาดเป็นอำนาจจิตขั้นสูงแล้ว ก็ยังไปหาตัวทุกข์เลย จึงไม่ต้องพูดเรื่องตัวบาปที่เกิดขึ้น เป็นตัวทุกข์ยิ่งขึ้น

สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในวิถีจิตที่ก่อเกิดดังกล่าว จึงเป็นเรื่องตัวศึกษาที่ต้องพิจารณา ทรงยกขึ้นสั่งสอนอันพอเหมาะกับระดับของจิตวิญญาณ เราจะเห็นในพระสูตรนี้ จึงยกเรื่องของการเรียนรู้เรื่องของความจริงขั้นภาวะ เพื่อนำไปสู่ความจริงขั้นที่สุดคือขั้นอริยสัจเพื่อพระนิพพาน จึงเห็นกระบวนการสอนที่ลำดับไปตามขั้นตอนของคำว่าความจริง จริงเบื้องต้น จริงท่ามกลาง จริงที่สุด และสอนได้เฉพาะบุคคลที่มีความพร้อมแล้ว จึงไม่ต้องมาปูพื้นอนุปุพพิกถา ให้มีทานมีศีล ให้เห็นคุณของทานของศีล ให้เห็นโทษของสิ่งที่เกิดขึ้นจากทานศีลคุณนี้ และถึงจะชี้ออกจากเนกขัมมะวิสัย แล้วประกาศอริยสัจเป็นขั้นต่อไป ไม่ต้องปูพื้นเลย เพราะเรื่องทานเรื่องศีลท่านเข้มแข็งแล้ว ท่านสมาทานอุโบสถแล้ว ถือบวชออกบวชด้วยตนเองแล้ว สละสมบัติทั้งปวงแล้ว ยิ่งกว่าการทำทานทั้งปวงด้วยชีวิต เอาชีวิตท่านเป็นทานแล้ว ประกาศต่อชีวิตในพระศาสนา บวชอุทิศใคร อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะชอบใจในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยกพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระบรมศาสดา ตั้งปลงเกศา ปลงหนวดปลงเคราทั้งหลาย

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้