posttoday

ปุจฉาจากดร.สุปรีดีฯกรณีเดินธุดงค์กลางเมืองหลวง (๓)

18 เมษายน 2555

วิสัชนา : จริงๆ แล้วหากมองต่างมุม เพื่อความเข้าใจที่ดีต่อกัน ก็คงจะพอเข้าใจในทัศนคติเชิงบวกได้บ้าง

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

วิสัชนา : จริงๆ แล้วหากมองต่างมุม เพื่อความเข้าใจที่ดีต่อกัน ก็คงจะพอเข้าใจในทัศนคติเชิงบวกได้บ้าง แต่พอเป็นเรื่องพระพุทธศาสนา ก็คงทำใจได้ยาก เพราะคำว่าประโยชน์โดยธรรม ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นธงคำตอบที่สำคัญ จึงให้ทำใจไม่ได้เลยที่จะกล่าวว่าทำแบบนี้ถูกหรือไม่อย่างไร... ซึ่งต้องกลับไปดูธงคำตอบเป็นสำคัญ ที่พระพุทธศาสนาวางไว้ชัดเจนอยู่แล้ว อันแสดงอยู่ในรูปพุทธจริยา ที่ควรศึกษาแล้วจะเข้าใจวัตรปฏิบัติที่เหมาะสมในพระพุทธศาสนา ดังการโคจรจาริกไปของพระสงฆ์ในฤดูฝน เหยียบหัวไร่ปลายนาของชาวบ้านให้เดือดร้อน จนเกิดโลกวัชชะ นำมาสู่พุทธบัญญัติให้พระสงฆ์อธิษฐานอยู่จำพรรษาในอาวาสตลอดกาลฤดูฝน

จริงๆ แล้ว จากปุจฉาของ ดร.สุปรีดีฯ ที่มาถึงอาตมา หากพิจารณาลงไปในเนื้อหา ก็ย่อมมีคำตอบอยู่แล้วในทุกประเด็น อาตมาเพียงแต่วิสัชนาว่าเห็นด้วยหรือไม่เท่านั้น แต่เพื่อป้องกันการถูกครหาว่ามีความลำเอียง จึงได้นำหลักธรรมมาวางเป็นกรอบความคิด ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ไม่ว่าจะต้องตัดสินในกรณีใดๆ พระพุทธศาสนามีหลักการพิจารณาอย่างถูกต้องและชอบธรรมเสมอ ที่สำคัญต้องรับฟังทุกฝ่าย ซึ่งในกรณีนี้อาตมาไม่ได้ติดตามข่าวสารของคณะผู้จัด “ธุดงค์กลางกรุงเหยียบดอกไม้แดง” มากนัก ด้วยกำลังถือปฏิบัติธุดงค์ (ธุดงควัตรจริงๆ...) อยู่ในป่าเขาขุนน้ำ เหนือหมู่บ้านคีรีวง เทือกเขาบรรทัด โดยไม่ต้องเดินฝ่ากรุง สูดดมมลภาวะที่เลวร้าย ในท่ามกลางเมืองกรุงที่อากาศร้อนและอบอวลไปด้วยฝุ่นควันพิษ ให้สูญเสียสุขภาพกายจิตเล่น ซึ่งไม่สนุกเลยกับการจาริกไปในย่านป่าคอนกรีตอย่างนั้น แม้จะมีศรัทธามาโรยกลีบดอกไม้ให้เดินเหยียบย่าง โดยเฉพาะไม่คุ้มค่ากับการถูกตำหนิติเตียนจากหมู่ชนทั้งหลาย... ข้อธุดงค์ที่อาตมาถือเป็นปกติได้แก่ การนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ที่จัดเป็นมหาบังสุกุล เพราะเป็นผ้าจีวรจากร่าง (ศพ) ของหลวงปู่พระอุปัชฌาย์ของอาตมา การบิณฑบาต การนั่งฉันที่เดียวมื้อเดียว การอาศัยอยู่ในเสนาสนะป่า ก็คงเป็นไปตามปกติ โดยเฉพาะเป็นป่าใหญ่อยู่ในหุบเขา มีแต่เสียงสัตว์ร้อง ว่างๆ จากการสอนหนังสือ ดร.สุปรีดีน่าจะลองชักชวนพรรคพวกมาแวะพักกายจิตดูบ้าง และสามารถถือธุดงควัตรได้สัก ๒ ข้อ สำหรับคฤหัสถ์ได้แก่ การกินกับการนอน คือ กินมื้อเดียวภาชนะเดียว ที่นั่งเดียว และอยู่ในอิริยาบถ ๓ ได้แก่ เดิน นั่ง ยืน เว้นการนอน โดยน่าจะสมาทานสัก ๓ วัน จะได้รู้วัตรความเพียรเพื่อขัดเกลากิเลสอันสำคัญยิ่ง ให้รสชาติอย่างไร...จะได้เข้าถึงความหมายของธุดงควัตร ซึ่งคงเป็นความหมายที่ไม่เหมือนกับความเข้าใจของชาวบ้านโดยทั่วไปที่เห็นการจาริกหรือท่องเที่ยวไปของหมู่พระเณร ว่าเป็นการเดินธุดงค์ นั่นคงเป็นความไขว้เขวที่สืบเนื่องจากการเคยเห็นพระกรรมฐานออกจาริกไปตามป่าเขา แบกกลด หิ้วกาน้ำ เพื่อแสวงหาที่วิเวก เจริญธรรม ซึ่งต่อมาเมื่อเห็นพระเณร แบกกลดท่องสวนลุมฯ (มิใช่ลุมพินี เนปาล) ข้างโรงพยาบาลจุฬาฯ จึงเหมาว่าเป็นพระธุดงค์... คงขอปรับภาษาเรียกใหม่ เพื่อให้ทันสมัยว่าน่าจะเป็นพระทะลุดงต่างหาก...

อย่างไรก็ตาม ก็อย่าพึ่งไปซีเรียสกับเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะผู้ที่น่าจะซีเรียสหรือหนักใจคงจะเป็นพระเณร ที่แบกกลด เดินฝ่าเปลวแดดคละกลิ่นฝุ่นควัน... อาตมาได้เห็นรูปภาพบนหน้าหนังสือพิมพ์ ดูแล้วยังออกจะสงสาร เพราะคงไม่รื่นเริงเท่าที่ควร เมื่อเห็นใบหน้าที่ฉายความรู้สึกออกมา... m

(อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้)