posttoday

โดนเลิกจ้างแบบไหน นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

13 กันยายน 2566

ลูกจ้างนายจ้างย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำงาน ทั้งจากปัญหาส่วนตัว ปัญหาเรื่องงาน ดังนั้น พฤติกรรมการแสดงออกของลูกจ้างในการทำงานหลายๆอย่าง อาจทำให้เจ้าตัวถูกประเมินให้ออกจากงาน และนายจ้างสามารถไม่จ่าย "ค่าชดเชย" และ "เงินทดแทน" ได้ด้วย

          ลูกจ้างนายจ้างย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำงาน ทั้งจากปัญหาส่วนตัว ปัญหาเรื่องงาน ปัญหากับผู้บังคับบัญชา การทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนปัญหาจากการอยู่รวมกันกับคนหมู่มาก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจนำพาให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อบริษัทได้

          ดังนั้น พฤติกรรมการแสดงออกของลูกจ้างในการทำงานหลายๆ อย่าง อาจทำให้เจ้าตัวถูกประเมินให้ออกจากงาน และนายจ้างสามารถไม่จ่าย "ค่าชดเชย" และ "เงินทดแทน" ได้อีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมแบบไหนบ้างที่ลูกจ้างต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้น เพื่อรักษาสิทธิ์ลูกจ้างพึงได้รับดังนี้

นายจ้างเช็กสิทธิเงินชดเชยที่ควรจ่ายกรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง

          ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง โดยหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง สามารถแบ่งได้เป็น 5 กรณี ดังนี้

          1.กรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างโดยชัดแจ้ง ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างได้โดยแสดงเจตนาเลิกจ้างโดยตรง เช่น ใช้วิธีการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร หรือถ้าเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา นายจ้างอาจบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งต่อไป หรือนายจ้างอาจให้วิธีแสดงเจตนาเลิกจ้างลูกจ้างทันทีแล้วจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไปพร้อมกันเลยก็ได้

          2.กรณีลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ
          - ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ ที่ลูกจ้างนั้นมีสิทธิ์ได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุดท้ายต่อการทำงานครบ 1 ปีสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
          - ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน
          - เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่า 180 วัน ให้นับเป็นการทำงานครบ 1 ปี

          3.พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามอัตรา ดังต่อไปนี้
          - ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
          - ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
          - ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
          - ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240วัน
          - ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

          4.กรณีนายจ้างจะเลิกจ้างเนื่องจากเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง โดยนายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้
          - แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
          - ถ้าไม่แจ้งลูกจ้างก่อนวันที่จะเลิกจ้าง หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วัน สุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วย

          5.กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว
          - ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
          - นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ

ถูกเลิกจ้างกรณีนี้ หมดสิทธิได้เงินชดเชย

          หากในกรณีถ้ามีสาเหตุเป็นไปตามข้อกำหนดเหล่านี้ นายจ้างมีสิทธิ์ไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทนได้ ดังนี้
          - ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง เช่น ลูกจ้างกระทำการโกงเงิน ยักยอกเงิน หรือแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเพื่อไปเป็นของตัวเอง
          - จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดโดยนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
          - ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ซึ่งหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
          - ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในกรณีนี้ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
          - ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
          - ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันควร

          กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและต่อองค์กร จนถึงขั้นถูกเลิกจ้าง หากลูกจ้างเกิดปัญหาไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงควรศึกษาถึงข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีเสียก่อน และมีสติในการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องถูกทาง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อองค์กร 

          ตลอดจนนายจ้างก็ควรศึกษากฎเกณฑ์การจ้างแรงงานและปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจตามมาภายหลังได้  

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting