posttoday

เซียร์ส-ไททานิคลำล่าสุด

12 ตุลาคม 2561

ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่กำลังจะเป็นยักษ์ล้มรายล่าสุด ได้แก่ เซียร์ส โฮลดิ้งส์ ของสหรัฐ

ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่กำลังจะเป็นยักษ์ล้มรายล่าสุด ได้แก่ เซียร์ส โฮลดิ้งส์ ของสหรัฐซึ่งเป็นเจ้าของห้างเซียร์ส และเคมาร์ท

ข่าวที่สะพัดไปทั่วโลก ก็คือ เซียร์สเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละลาย หลังจากที่เปิดดำเนินการมานาน 125 ปี และเคยเป็นสัญลักษณ์ในวีถีชีวิตแบบอเมริกันมาในช่วงหลายสิบปีก่อน

การยื่นขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการดังกล่าว มีจุดระเบิดจากการที่เซียร์สต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่ถึงคราวต้องชำระราวๆ 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,288 ล้านบาท

หนี้ก้อนดังกล่าว เมื่อเทียบกับขนาดธุรกิจของเซียร์ส อาจมองว่าไม่มากนัก แต่เมื่อทบยอดจากการดำเนินงานที่มีผลขาดทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และขาดทุนรวม 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เซียร์สถึงคราวไปต่อไม่ไหว

แม้เซียร์สจะลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ปิดสาขา แต่ก็ยังรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ดี

สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเซียร์สต้องล่มสลาย เกิดจากการเข้ามาของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ค้าขายทางออนไลน์โดยมีกิจการอย่างแอมะซอนเป็นหัวหอก

เซียร์สเคยปรับรูปแบบธุรกิจอยู่หลายหน และมีความหวัง โดยเฉพาะช่วงปี 2556 ที่ เอ็ดดี้ แลมเพิร์ต เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอ

แลมเพิร์ต ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก หรือเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์ 2 สนใจเรื่องหุ้นตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และเริ่มตั้งกิจการของตัวเอง คือ อีเอสแอล อินเวสต์เมนต์ (ESL Investment) ในปี 2541 ด้วยวัยเพียง 27 ปี

กิจการที่แลมเพิร์ตเข้าไปลงทุนสร้างรายได้มหาศาล คือ เคมาร์ท ในช่วงปี 2547 โดยหลังจากเข้าไปลงทุน กิจการก็ฟื้นตัว มูลค่าหุ้นเพิ่มถึง 300% วงเงินที่ลงไปจาก 1,300 ล้านดอลลาร์ ก็เพิ่มเป็น 5,400 ล้านดอลลาร์ ในเวลาเพียงปีเดียว

การเข้ามาของ แลมเพิร์ต ทำให้เซียร์สควบรวมกิจการกับเคมาร์ท เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขัน และเข้าสู่ตลาดออนไลน์

แต่ทว่าเซียร์ส ยังต้องเจอทางตัน

รายได้ของเซียร์ส 10 ปีที่แล้ว เคยอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เมื่อปีก่อนลดเหลือ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ขาดทุนต่อเนื่อง หนี้สินระยะยาวเพิ่มเป็น 2,200 ล้านดอลลาร์ สาขาจาก 3,800 แห่ง เหลือ 866 แห่ง

ทั้งหมดเป็นแรงกดดันให้เซียร์สต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย โดยมีการประเมินว่า เป็นความต้องการของแลมเพิร์ต ที่จะปรับโครงสร้างกิจการการค้าแห่งนี้

เริ่มจากการขายทรัพย์สินประมาณ 1,750 ล้านดอลลาร์ รวมถึงข้อเสนอให้แปลงหนี้จำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์ เป็นหุ้นของเซียร์ส หรือไม่ก็ต้องลดหนี้ลงโดยได้รับการชำระหนี้เป็นเงินสดแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น

ต่อไปกิจการของเซียร์ส จะจำกัดเฉพาะที่ทำกำไร อาทิ สาขาที่เปิดอยู่ในฮาวาย กวม เปอร์โตริโก รวมถึงสินค้าบางแบรนด์อย่าง ไดฮาร์ด (DieHard) แบตเตอรี่รถยนต์ระดับพรีเมียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอย่าง เคนมอร์ (Kenmore) รวมถึงกิจการให้บริการขนส่งสินค้าชนิดพิเศษ

ธุรกิจยุคนี้ต้องเผชิญกับคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงถาโถมไม่หยุด

ไททานิคไปไม่รอดแล้วอีกลำ