posttoday

ตะวันออกกลางยืดเยื้อ-สหรัฐคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่ SET แกว่ง 1390-1410

27 กุมภาพันธ์ 2567

2โบรกส่องหุ้นไทยวันนี้แกว่งกรอบ 1,390-1,410 จุด แรงหนุนกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบดีดตัวจากความกังวลด้าน Supply ตามสถานการณ์ตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อและสหรัฐคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่ สัปดาห์นี้ติดตาม US Core PCE ตัวเลขสำคัญบ่งชี้นโยบายการเงิน FED

KEY

POINTS

  • ยอดส่งออกไทย ม.ค.พีคสุดรอบ 19เดือนแต่ดุลการค้าพลิกขาดดุล
  • สัปดาห์นี้ติดตาม PCE ม.ค.สหรัฐบ่งชี้เฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วหรือช้า
  • ซื้อเล่นรอบในกรอบ 1390-1410 ถือหุ้นต่อหากไม่หลุด 1390

 

เศรษฐกิจไทยยังมีหวัง

     นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกไทยเดือนมกราคม อยู่ ที่ 2.26 หมื่นล้านบาท(+10%y-y) ดีกว่าตลาดคาด โดยมีการขยายตัวในแทบทุกหมวดสินค้า โดยสำหรับสินค้าเกษตรที่ขยายเด่น นำโดยข้าว +46%, ผลไม้ +30%, เครื่องดื่ม+19%, อาหารสัตว์เลี้ยง +9%, ยางพารา +6%, ไก่ +5% 

     ด้านสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็ก +106%, โทรศัพท์ +56%,คอมพิวเตอร์ +32%, อัญมณี +21% ดังนั้นปีนี้คาดจะได้ลุ้นภาคการส่งออกไทยกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ซึ่งคาดจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ช่วยหนุน GDP ไทยฟื้นตัว ด้านตลาดหุ้นต่างประเทศในระยะสั้นยังคงแกว่งผันผวน ตามการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนและตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ 

     ส่วนสัปดาห์นี้คาดประเด็นสำคัญที่ตลาดจับตามองคือ การรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ(US Core PCE)ในวันที่ 29 ก.พ.67 โดยคาดชะลอตัวลงสู่ระดับ +2.8%y-y จากเดือน ธ.ค. ที่ +2.9%y-y ซึ่งถือเป็นตัวเลขสำคัญที่จะบ่งชี้การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงถัดไป 

     โดยคาดการณ์ล่าสุดของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ FED จากเครื่องมือ FED Watch Tool พบว่าตลาดให้โอกาสการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน และคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ เหลือเพียง 3-4 ครั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่าความคาดหวังดังกล่าวเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับมุมมองของคณะกรรมการ FED เรื่อยๆถือเป็นสิ่งที่ดี

     ฝ่ายฯคาด SET วันนี้ (27 ก.พ.67) แกว่ง “Sideways” ในกรอบ 1,390 - 1,405 จุด เศรษฐกิจไทยเริ่มมีหวังหลังตัวเลขส่งออก ม.ค. ดีกว่าคาด ขณะที่สัปดาห์นี้แนะติดตาม US Core PCE ซึ่งจะเป็นตัวเลขสำคัญที่บ่งชี้นโยบายการเงินของ FED ส่วนกลยุทธ์การลงทุน วันนี้เน้นสะสมหุ้นที่ได้อานิสงส์บวกจากการบริโภคฟื้นตัว

     พร้อมแนะนำ “CPALL” ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ที่ 72.00 บาท รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 ที่ 5.5 พันล้านบาท (+75%y-y, +24%q-q) ดีกว่าตลาดคาดเพิ่มขึ้น 17% แรงหนุนจากยอดขาย, อัตรากำไรขั้นต้นที่ทำได้ดีกว่าตลาดคาด ผสานการขยายสาขา 7-Eleven อีก 154 สาขา สู่ 14,545 สาขา คาดแนวโน้มไตรมาส 1/67 ยังเติบโตดีต่อเนื่อง จากภาคบริโภคที่ฟื้นตัว ทั้งจากธุรกิจค้าปลีก และค้าส่ง ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 

โฟกัสรายตัว

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุว่า ตลาดหุ้นเมื่อวันศุกร์ SET Index ลดลง 4 จุด (-0.31%) ปิดที่ระดับ 1,398 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,939 ล้านบาท นักลงทุนดักขายทำกำไรและขายลดความเสี่ยงก่อนวันหยุดยาว

     แนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ประเมิน SET แกว่งตัว 1,390 - 1,410 จุด แม้จะได้แรงหนุนจากกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบที่ดีดตัวขึ้นจากความกังวลด้าน Supply ตามสถานการณ์ตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อและสหรัฐคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม Fund flow ต่างชาติที่พลิกเป็น Net sell รวมถึงแรงขาย sell on fact หลังประกาศงบปี 2566 จะกดดันให้ดัชนีผันผวนมากขึ้นจึงแนะนำ Selective buy

     "กราฟ SET แม้จะยังรักษาแนวโน้มขาขึ้น Sideway up และปิดเหนือเส้น EMA 10 วันได้ อย่างไรก็ตามล่าสุดเกิดสัญญาณพักตัว พร้อมเครื่องมือ MACD กับ RSI ให้สัญญาณขัดแย้งกันส่งผลให้ดัชนีผันผวน ดังนั้นประเมินว่า SET จะแกว่งตัวกรอบ 1,390 – 1,410 จุด จึงแนะนำซื้อเล่นรอบในกรอบดังกล่าวโดยถือหุ้นต่อได้หากดัชนีไม่หลุด 1,390 จุด"

     หุ้นแนะนำวันนี้ แนะนำ CPALL (ปิด 57.25 ซื้อ/เป้าใหม่ 74 เดิม 65 บาท) มีกำไรจากการดำเนินงาน ปกติ 4Q23 ที่ 5.6 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 32%qoq และ 93%yoy มากกว่าที่เรา และ BB Consensus คาดไว้ 14% และ 16% เพื่อสะท้อนเทรนด์ของรายได้ และ GPM ที่ดีขึ้นเราปรับคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ขึ้น 10% เป็น 22,582 ล้าน บาทเพิ่มขึ้น 24.5%yoy

     PLANB (ปิด 8.90 ซื้อ/เป้า 10.2 บาท) คาดกำไรสุทธิ 4Q23 ทำสถิติสูงสุด ใหม่ ประมาณ 280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%qoq และ 18%yoy จาก U rate ที่ เพิ่มขึ้น ทั้งปีคาดกำไรสุทธิโต 30% และโตต่อเนื่องอีก 31% ในปีนี้

ประเด็นสำคัญวันนี้

     (+/-) ยอดส่งออกไทยเดือน ม.ค. โตมากสุดในรอบ 19 เดือนแต่ดุลการค้าพลิกเป็นขาดดุล : เมื่อวันศุกร์ ก.พาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือน ม.ค. ขยายตัว 10%yoy เป็นบวกเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันและเป็นการขยายตัวมากสุดในรอบ 18 เดือน ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.6%yoy อย่างไรก็ตามดุลการค้าพลิกเป็นขาดดุล 2,757 ล้านเหรียญ จากที่เกินดุล 970 ล้านเหรียญในเดือน ธ.ค. แต่ไม่น่ากังวล เพราะยอดนำเข้าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและสินค้ากึ่งวัตถุดิบ

     (+/-) ติดตามแบงก์ชาติรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.: รายงานดังกล่าว จะสะท้อนกิจกรรมเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. หรือจุดเริ่มต้นสำหรับเศรษฐกิจ ไทยในปี 2024 มีหลายกิจกรรมที่ยังอ่อนแอในช่วงปลายปีที่ผ่านมาหากมีสัญญาณ ฟื้นตัวจะเป็นบวกต่อ Sentiment การลงทุนโดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจกรรมการผลิต, รายได้เกษตรกร (Farm Income), การลงทุนภาคเอกชน และ ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งจะบ่งบอกแนวโน้มของค่าเงินบาท

     (+/-) จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ(PCE) เดือน ม.ค. ของสหรัฐบ่งชี้เฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วหรือช้า : สหรัฐจะรายงานตัวเลขดัชนีการใช้จ่ายของผู้บริโภค(PCE Price Index) เดือน ม.ค. ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.พ. ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวแทนเงินเฟ้อที่เฟดใช้อ้างอิงในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เบื้องต้น Consensus คาด Headline PCE จะลดลงสู่ระดับ 2.4% จาก 2.6% ในเดือน ธ.ค. และคาด Core PCE จะลดลงสู่ระดับ 2.8% จาก 2.9% ในเดือน ธ.ค. (เป้าหมายที่ 2%)