posttoday

BAM กางแผนปี 67 ปักธงผลเรียกเก็บ 2 หมื่นล้าน ขยายพอร์ตสินทรัพย์อีก 7 หมื่นล้าน

05 กุมภาพันธ์ 2567

BAM เปิดแผนปี 67 ตั้งเป้าผลเรียกเก็บ 20,000 ล้านบาท เร่งขยายฐานสินทรัพย์เพิ่ม 70,000 ล้านบาท ชูกลยุทธ์ขยายธุรกิจ-การดำเนินธุรกิจใหม่ วางงบซื้อหนี้ 10,000 ล้านบาท ยื่นประมูลหนี้ ม.ค. ราว 40,000 ล้านบาท แย้มร่วมทุนตั้ง AMC ถือหุ้นฝ่ายละ 50%

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า แผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายสร้างผลเรียกเก็บอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2569 อยู่ที่ 23,300 ล้านบาท 

ขณะที่การขยายฐานสินทรัพย์มีเป้าหมายลงทุนซื้อคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 70,000 ล้านบาท เพื่อรักษาขนาดสินทรัพย์และโอกาสทางธุรกิจของบริษัท โดยปัจจุบันบริษัทมี NPLs อยู่ที่ 473,636 ล้านบาท และมี NPAs อยู่ที่ 69,807 ล้านบาท 

ขณะเดียวกัน บริษัทสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 154,187 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 51,420 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 121,378 ล้านบาท 

สำหรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ ประกอบไปด้วย 1.การขยายธุรกิจ (Business Expansion) โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง และกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ 

รวมทั้งการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย โดยในเบื้องต้นบริษัทจะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานขึ้นมาดูแลโครงการดังกล่าว 

BAM กางแผนปี 67 ปักธงผลเรียกเก็บ 2 หมื่นล้าน ขยายพอร์ตสินทรัพย์อีก 7 หมื่นล้าน

2.การดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business) วางแนวทางการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทจะได้ค่าบริหารจัดการตามสัดส่วนที่มีข้อสรุปร่วมกัน โดยความคืบหน้าการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน เบื้องต้นสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายละ 50% เพื่อไม่ให้บริษัทร่วมทุนถูกครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันบริษัทรอ (ร่าง) หลักเกณฑ์การดำเนินงานในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างดังกล่าวไปแล้ว  

การพัฒนาระบบด้านการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานดังกล่าว (แผนระยะกลาง) การพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบ Selective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสมและยังคงบทบาทหลักในการเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับ NPL/NPA เพื่อช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ 

รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยแผนการลดขั้นตอนและระยะเวลาในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน 

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทวางงบซื้อหนี้ไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท วงเงินจากสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ภายในไตรมาส 1/2567 วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท 

“ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายทั้งเป้าเรียกเก็บ 20,000 ล้านบาท เพราะเศรษฐกิจทำท่าจะฟื้นตัว แต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก และเศรษฐกิจจีนก็แย่ รวมไปถึงซื้อหนี้มาบริหาร คาดใช้เงินใกล้ 10,000 ล้านบาท โดยเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นประมูลหนี้เกือบ 40,000 ล้านบาท หลังจากปีก่อน แบงก์รัฐและแบงก์เอกชน เอาหนี้ออกมาขายเยอะมาก แต่ขายไม่ได้ จากราคาต่ำเกินไป และไม่มีคนบิด” นายบัณฑิต กล่าว