posttoday

ทิศทางทองคำไตรมาส 2 ยังทะยานต่อ YLG คาด spot จ่อ 2,400 ดอลลาร์

14 เมษายน 2567

พาส่องทิศทางทองคำไตรมาส 2 ยังทะยานต่อ YLG คาด spot จ่อ 2,400 ดอลลาร์ ส่วนทองในประเทศชนเพดาน 41,600 บาท ด้วย 3 ปัจจัยหนุน ทั้งนโยบายดอกเบี้ยเฟด สงครามอิสราเอล-ฮามาสควบสงครามรัสเซีย- ยูเครน และแบงก์ชาติเก็บทองตุนทุนสำรอง

YLG ให้ความเห็นต่อทิศทางทองคำและมุมมองด้านปัจจัยในทางเทคนิคว่า จากราคาทองคำเดือนมี.ค. 2024 ปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติกาลครั้งใหม่ที่ระดับ 2,234 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ยังมีแรงขายกดดันให้ราคาปรับตัวลงในระดับจำกัด จึงส่งผลให้แนวโน้มราคาทองคำจะเป็นบวกในระยะยาว  โดยในไตรมาสที่ 1/2024 ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาได้ถึง 8.28% ปิดที่ระดับ 2,233 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ทั้งนี้ราคาทองคำพยายามแกว่งตัวเพื่อรักษาระดับ หรือสร้างฐานราคาไว้ โดยหากราคาทองคำอ่อนตัวลงและสามารถยืนเหนือแนวรับโซน 2,144-2,075 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับสูงสุดของปี 2023 และระดับสูงสุดของปี 2020) ได้อย่างแข็งแกร่ง YLG คาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์  

ทิศทางทองคำไตรมาส 2 ยังทะยานต่อ YLG คาด spot จ่อ 2,400 ดอลลาร์

ทิศทางทองคำต่อไปในไตรมาส 2 มีหลายปัจจัยสนับสนุน

1.    แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 
หลังจากผ่านพ้นช่วงแนวโน้มขาขึ้นของทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงตลอดปี 2022-2023 ที่ผ่านมา  ราคาทองคำเริ่มมีการสร้างฐานและปรับตัวขึ้นมาได้ตั้งแต่ช่วงปี 2023 จนถึง ณ ปัจจุบัน ที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติกาลครั้งใหม่บริเวณ ....... ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งแน่นอนว่าแรงหนุนที่สำคัญที่สุดนั้นมาจากการเข้าสู่วงจรอัตราดอกเบี้ยขาลงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งแต่ปี 2024 นี้เป็นต้นไป

ด้วยการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2024 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเฟดได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และส่วนสำคัญที่ราคาทองคำได้ตอบสนองในเชิงบวกเป็นอย่างมากนั้นมาจากสองปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้

(i)    การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ที่มีค่ากลาง (Median) ในปี 2024 อยู่ที่ระดับ 4.625%  นั่นหมายถึงการส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ซึ่งตลาดจึงคลายความกังวลลง หลังจากในช่วงก่อนหน้านี้มีความกังวลว่า ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังมีความยืดหยุ่น ประกอบกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มกลับมาสูงกว่าคาดการณ์ อาทิเช่น CPI, PPI และ Core PCE อาจส่งผลให้ Dot Plot ถูกปรับลดขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 เหลือเพียง 2 ครั้ง

(ii)    แถลงการณ์จาก นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณว่ามีการหารือเกี่ยวกับการชะลอการทำ Quantitative Tightening (QT) หรือชะลอการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ พร้อมกล่าวว่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้  ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของตลาด และจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินเป็นไปอย่างราบรื่น 

โดยรวมแล้วทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่ผ่อนคลายกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จึงเป็นปัจจัยหนุนสำคัญให้ทองคำขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติกาล และยังมี Momentum ที่แข็งแกร่ง  อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตา Dot Plot อีกครั้ง ในการประชุมเฟดเดือนมิ.ย. 2024 เนื่องจากเริ่มมีมุมมองเจ้าหน้าที่เฟดที่แข็งกร้าวขึ้น อาทิเช่น นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา มีความเห็นว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เพียงหนึ่งครั้งในปีนี้ แต่ยังส่งสัญญาณการชะลอการทำ QT เช่นกัน 

ดังนั้น ปัจจัยส่วนที่อาจกลับมาเป็นความเสี่ยงต่อทองคำได้ในอนาคต คือการปรับเปลี่ยนขนาดการปรับลดดอกเบี้ย (Higher for Longer) หากเศรษฐกิจสหรัฐมีความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ในการประชุมเฟดครั้งล่าสุดมีการเปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐ หรือ Economic Projections ออกมาด้วยเช่นกัน และมีการปรับเปลี่ยนมุมมองดังนี้

(i)    “เพิ่ม” คาดการณ์ GDP ปี 2024 สู่ระดับ 2.1% จากระดับ 1.4% ในการคาดการณ์เดือนธ.ค. 
(ii)    “เพิ่ม” คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ PCE ปี 2024 สู่ระดับ 2.6% จากระดับ 2.4% ในการคาดการณ์เดือนธ.ค. 
(iii)    “ลด” คาดการณ์อัตราว่างงานปี 2024 เหลือ 4.0% จากระดับ 4.1% ในการคาดการณ์เดือนธ.ค. 

2.    ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ 
นับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่าง “อิสราเอล-กลุ่มติดอาวุธฮามาส” เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023 จนถึง ณ ปัจจุบัน มีประชาชนในฉนวนกาซาเสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลแล้วกว่า 32,000 รายสงครามในตะวันออกกลาง โดยในระยะหลังเริ่มมีสัญญาณผ่อนคลายลงบ้าง จากที่มีการเจรจาหยุดยิงอยู่เป็นระยะ ๆ  ซึ่งล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค. 2024  คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้รับรองมติให้อิสราเอล "หยุดยิงทันที" ในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม เพื่อนำไปสู่การ "หยุดยิงถาวร"  และเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ ดำเนินการปล่อยตัวประกัน

อย่างไรก็ดี นอกจากสงครามตะวันออกกลางดังกล่าวแล้ว เริ่มมีสัญญาณความตึงเครียดอีกครั้งจากทางฝั่งรัสเซีย หลังจากในวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. 2024 รัสเซียได้ถล่มขีปนาวุธใส่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในแคว้นลวีฟ ทางตะวันตกของยูเครน จากที่ช่วงก่อนหน้านี้ ยูเครนได้ใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซียหลายครั้งในเดือนที่ผ่านมา

อีกทั้งในวันศุกร์ที่ 22 มี.ค. 2024 รัสเซียยังถูกกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ก่อเหตุกราดยิงในงานคอนเสิร์ตที่โครคัส ซิตี ฮอลล์ ในย่านชานกรุงมอสโก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 139 รายแล้ว ซึ่งนับเป็นการสูญเสียชีวิตครั้งใหญ่ที่สุดจากการโจมตีในกรุงมอสโก นับตั้งแต่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชเชนจับตัวประกัน ณ โรงละครนอร์ด-ออสต์ เมื่อปี 2002  โดยล่าสุดรัสเซียได้ตอบโต้โดยการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่รัสเซียทำการทรมานกลุ่มไอเอสที่จับกุมตัวไว้ได้ 4 ราย

นอกจากนี้ อาจจับตาความตึงเครียดระหว่าง จีน-ไต้หวัน ด้วยเช่นกัน เนื่องจากทางการจีนได้ตั้งเป้าเพิ่มงบประมาณทางด้านกลาโหมขึ้น 7.20% สู่ระดับ 1.67 ล้านล้านหยวน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี อันมีนัยต่อการเปิดฉากสู้รบในอนาคต  ปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลให้ทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จะมีแรงซื้อพยุงเมื่อราคามีการย่อตัวลง 

3.    การเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกในฐานะทุนสำรอง
การเกิดกระแส “De-dollarization” หรือการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะทุนสำรองและการค้าระหว่างประเทศ มาช่วยเพิ่มสัดส่วนในการถือทองคำมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น กรณีที่สหรัฐอายัดเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นทุนสำรองของรัสเซีย เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเงินทุนในการทำสงครามกับยูเครน  
หลายประเทศจึงมีพฤติกรรมที่พยายามลดการสำรองเงินดอลลาร์สหรัฐแล้วเปลี่ยนไปสำรองทองคำแทนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  โดยสภาทองคำโลก (WGC) ได้รายงานว่า ในปี 2022 และ 2023 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกได้เข้าซื้อทองคำที่ระดับ 1,081.9 ตัน และ 1,037.4 ตัน ตามลำดับ  ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการซื้อปกติที่ราว 400-600 ตันต่อปี มาตลอดนับสิบปี  ซึ่งเป็นแรงเข้าซื้อ (Inflow) หลักที่ส่งผลให้ ความต้องการทองคำ (Consumer Gold Demand) ทั่วโลกที่รวมการซื้อขายนอกตลาด (OTC) ในปี 2023 อยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล ที่ระดับ 4,898.8 ตัน