posttoday

สศค.ยันเศรษฐไทยปี66 โตแผ่ว 1.8% จริง ปัดไม่รู้เอกสารคลังหลุดได้อย่างไร

24 มกราคม 2567

ผอ.สศค.ส่งสัญณาณเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงต่อเนื่อง มีความเปราะบางในหลายจุด ชี้ไตรมาส4/66 โตต่ำสุด 1.4% ฉุดเศรษฐกิจไทยทั้งปีโตแค่ 1.8% จริง ชี้คนเป็นหนี้เข้าข่ายวิกฤต ยอมรับตกใจเอกสารคลังหลุด แต่ขอให้มั่นใจ ยึดหลักทำงานด้วยหลักวิชาการ ด้วยความรอบครอบ

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 1.8% ต่อปีจริง ตามที่เอกสารที่ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว โดยเป็นความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 2.6% ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 1.8% ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% หากจะให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้มากกว่า 2% ในไตรมาส 4/2566 จะต้องขยายตัวได้ราว 4-5% แต่ไม่มีสัญญาณดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ 1.4% ต่อเท่านั้น

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.8% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่คลังพิจารณาด้วยความรอบคอบ ถี่ถ้วน คิดมาอย่างดีแล้ว โดยเศรษฐกิจอยู่ในศักยภาพที่ดี โดยการประมาณการดังกล่าวยังไม่ได้รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

 

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7% ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤตแล้วหรือไม่ คำถามนี้อยากให้นักวิชาการเป็นคนตอบ เพราะคำว่าวิกฤตไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ก็มีมุมมองว่าถ้าเศรษฐกิจหดตัว ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณชี้วัดที่ส่งสัญญาณอ่อนตัวและติดลบหลายด้าน มีการเปราะบางในบางจุด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด หากดูแลไม่ดีก็อาจจะเกิดวิกฤตได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ถึงในทางทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน 

 

“เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชี้วัดอ่อนตัว เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งต้องหามาตรการดูแล โดยไตรมาส 4/2566 ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะโตทะลุ 4-5% แต่เราเห็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีมากกว่า เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย. ดัชนีหดตัวที่ -4/7% ต่อปี เป็นการติดลบติดต่อกันเดือนที่ 14 และอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23, คอมพิวเตอร์ หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ยางพาราและพลาสติกหดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 9 เป็นต้น โดย สศค. นำข้อมูลดังกล่าวมาสอบยันทุกทางแล้วก่อน” นายพรชัย กล่าว
 

ทั้งนี้ คำศัพท์คำว่าวิกฤตเป็นคำวิเศษณ์ จะต้องอยู่กับคำนามที่ประกอบกัน เช่น ช่วงเวลาวิกฤต อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งมีหน่วยงานอย่างองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รับรอง หรือ เหตุการณ์วิกฤต เช่น มีปัญหาทางการเงินของครัวเรือนสูง มีหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย ก็เป็นวิกฤตที่ต้องมารับฟังข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ หรือไม่

 

ส่วนกรณีที่โฆษกรัฐบาล เผยแพร่เอกสารประทับตราลับของกระทรวงการคลังล่วงหน้า ก่อนแถลงข่าวจริงในวันนี้ 24 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ว่า ตัวเลขประมาณการจีดีพี สศค.ได้ทำออกมาหลายเวอร์ชั่น และจีดีพีที่ออกมา ที่ 1.8% ก็เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ซึ่งหลังทราบเรื่องเอกสารที่ถูกเผยแพร่ออกมาก็ตกใจ และได้รายงานข้อเท็จจริงทางวาจาให้ปลัดกระทรวงการคลังให้รับทราบตามระเบียบไปแล้ว โดยปลัดได้สั่งการให้ทำรายงานข้อเท็จจริง ซึ่งยังต้องใช้เวลาสักระยะ โดยไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบในเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

“ไม่รู้จริงๆว่าเอกสารหลุดไปทางไหนเลย  โดยในส่วนการทำงานของ สศค. นั้น ยืนยันว่าเรายังทำงานด้วยการยึดหลักวิชาการ ตัวเลขที่ชี้แจงมามีเหตุและผล ดำเนินการด้วยความรอบคอบ การทำงานของเราต้องการเผยแพร่ข้อมูลด้วยความชัดเจน โดยอยากให้มั่นใจว่าสศค.ยังเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ ที่วงการวิชาการและราชการให้การยอมรับ” นายพรชัย กล่าว