posttoday

ไทยส่งออกข้าว 7 เดือนแรก 4.64 ล้านตัน คาดทั้งปีได้ตามเป้า

31 สิงหาคม 2566

พาณิชย์ มั่นใจปี 66 ไทยส่งออกข้าวได้ตามเป้า 8 ล้านตัน หลังหลายประเทศส่งสัญญาณสนใจซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น บวกกับอานิสงส์อินเดียงดส่งออก-เวียดนามขาดแคลนข้าว ดันราคาข้าวสูงกว่าไทย ขณะที่ปัญหาภัยแล้งกระทบไม่มากนัก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึง ภาพรวมสถานการณ์การส่งออกไทย ช่วง 7 เดือนแรก ปี 2566 ( ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกประมาณ 4.64 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออก 4.09 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 13.45% มูลค่าการส่งออกกว่า 87,447  ล้านบาท หรือ 2,518 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน 76,105 ล้านบาท หรือ 2,127 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 22.94% 

 

จากสถิติของกรมสรรพากร และข้อมูลใบอนุญาตของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค.29 ส.ค.2566 ปริมาณ 5.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.91% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มี 4.73 ล้านตัน ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย 15.46% อิรัก 13.87% แอฟฟริกาใต้ 10.92% สหรัฐ 8.42% และ จีน 4.56% การส่งออกเป็นรายภูมิภาคสำคัญ  ได้แก่ เอเชีย 36.4% แอฟฟริกา 28.88% ตะวันออกลาง 17.46% อเมริกา 11.27% และ ยุโรป 3.66%

 

สำหรับ ชนิดข้าวส่งออกที่สำคัญ  อันดับ1 ได้แก่ ข้าวขาว 53.9% ข้าวหอมมะลิ 18.34% ข้าวนึ่ง 17.89% ข่าวหอมไทย 5.52% และข้าวเหนียว 3.31% และข้าวกล้อง 0.95%

 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ประกอบกับสถานการณ์งดส่งออกข้าว ทั้งจากอินเดีย และเมียนมา ทำให้กรมการค้าต่างประเทศ เร่งเดินหน้าส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในต่างประเทศ จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และสร้างความเชื่อมั่น และรักษาตลาดข้าวไทย คาดประเทศคู่ค้าสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องดันยอดส่งออก

“วัตถุประสงค์ในการเยือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้า ว่าไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงในการส่งออกข้าว ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆในอนาคต เช่น การห้ามส่งออกข้าว ผลผลิตลดลง ภัยแล้ง  ไทยจะมีข้าวเพียงพอต่อส่งออก หลังจากอินเดีย เมียนมางดส่งออกข้าว และล่าสุดอินเดีย มีมาตรการเก็บภาษีข้าวบาสมาติกด้วย ทำให้ ฟิลิปปินส์ อินโด มาเลเซีย มีความเห็นว่า น่าจะมีการนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น จากที่ข้าวไทยไม่ได้เป็นผู้ส่งออกข้าวหลักไปตลาดประเทศเหล่านี้มากเท่าเวียดนาม” นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์

 

โดย มาเลเซียมีความต้องการที่จะสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผลผลิตในประเทศลดลง แม้ว่าที่ผ่านมาเวียดนามจะส่งออกข้าวไปมาเลเซียเป็นอันดับ 1 ก็ตาม  อินเดีย และไทย  แต่ขณะนี้พบว่า ราคาข้าวไทยมีราคาถูกกว่าเวียดนามแล้วจากช่วงที่ผ่านมา ราคาข้าวเวียดนามถูกกว่าข้าวไทย ประกอบกับพฤติกรรมคนเวียดนามหันมาบริโภคข้าวนุ่มมากขึ้น  จึงนิยมบริโภคข้าวเวียดนาม แต่มาตอนนี้ช่วงเวลานี้ ข้าวมีเวียดนามมีราคาสูงกว่าข้าวไทย และไทยก็เริ่มส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวนุ่ม เชื่อว่า ผลผลิตข้าวนุ่มของไทยจะส่งออกสู่ตลาดโลกได้ภายใน 1-2 ปี ซึ่งเป็นแนวโน้มการแข่งขันในตลาดโลกจะดีขึ้น ทั้งเรื่องราคา ชนิดของข้าว จากความนิยามของผู้บริโภคในต่างประเทศ ทำให้เชื่อว่า ความต้องการซื้อข้าวจากไทยของมาเลเซียจะเป็นผลต่อการทิศทางการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

“ ปัจจัยทั้งหมด เชื่อว่าปริมาณการส่งออกทั้งปี 66 จะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา จากเป้า 8 ล้านตัน โดย ณ เดือน ก.ค.ส่งออกข้าวได้กว่า 4.6 ล้านตัน ที่เหลืออีก 4-5 เดือน เชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้า แต่ต้องรอดูผลคำสั่งซื้อจากการประมูลด้วย ขณะที่หลายประเทศก็มีความสนใจซื้อข้าวจากไทย  ได้ข่าวมาว่า ฟิลิปินส์สนใจที่จะทำความตกลงกับเรา แต่ยังไม่ชัดเรื่องรูปแบบ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายเดือนหน้า ส่วนญี่ปุ่น อินโด และอีกหลายประเทศยังคงยืนยันนำเข้าข้าวไทยต่อเนื่อง หลังจากนี้ต้องรอดูนโยบายรัฐบาล รอความเห็นจาก ครม.ก่อนแล้ว จะคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเดินไปในทิศทางใด ”นายรณรงค์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกญี่ปุ่น ได้มีการสอบถาม ความเห็นของไทย จากกรณี อินเดีย งดส่งออกข้าว และมีมาตรการเก็บภาษีข้าวบาสมาติกนั้น ส่วนตัวเชื่อว่า อินเดียต้องการเข้ามาบริหารจัดการ ควบคุมการส่งออกข้าว จากเดิมที่ภาคเอกชนอินเดียสามารถส่งออกได้อย่างเสรี วัตถุประสงค์นอกจากการจะควบคุมราคาข้าวในประเทศ การดูแลเงินเฟ้อ  ยังมีเรื่องของการต่อรองในทางการเมือระหว่างประเทศ เพราะช่วงนี้มีสถานการณ์ความขัดแข้งในหลายภูมิภาค มีภาวะภัยแล้ง ธัญพืชมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสาลี จำกัดการส่งออกพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก


“รัฐบาลถ้ามีอำนาจในการต่อรองในการควบคุมสินค้าที่มีความสำคัญต่อโลก คือ ข้าว  จะดีต่อการขับเคลื่อนนโยบาย ทางการเมือง และการทูตระหว่างประเทศ ซึ่งอินเดียงดส่งออกสร้างความกังวลให้กับตลาดอย่างมาก แต่ด้านการบริโภค มนุษยธรรม เชื่อว่ายังมีอยู่ เห็นได้จากอินเดีย มีข้อยกเว้น คือ เปิดให้ประเทศที่ต้องการข้าว สามารถร้องขอ ด้วยเหตุความมั่นคงทางอาหาร สามารถเจรจากับอินเดียได้เป็นรายประเทศ ซึ่งทำให้อินเดียมีอำนาจการต่อรองระหว่างประเทศ” นายรณรงค์ กล่าว

 

 สถานการณ์เริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อล่าสุด มีข้อมูลว่า ทางรัฐบาล 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ภูฏาน และมอริเชียส  ขอนำเข้าข้าวจากอินเดียแล้ว และเชื่อว่าจะมีประเทศอื่นๆร้องขอนำเข้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเชื่อว่า ภาวะการขาดแคลนข้าวยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะสามารถร้องขอทางการอินเดียได้ 

 

ส่วนปัญหาภัยแล้ง พบว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรในประเทศมากนัก ซึ่งเรามีคณะกรรมการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะข้าว ที่ผลผลิตยังดีอยู่ ยิ่งถ้าหลายประเทศที่ไม่เคยนำเข้าข้าวไทย หันมานำข้าวไทยมากขึ้น ยิ่งทำให้เกษตรกลับมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น

 

สำหรับราคาข้าวขาว 5% ณ 25 ส.ค.อยู่ที่ 260 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ข้าวเวียดนาม 635 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ณ 29 ส.ค. ของไทยไทยอยู่ที่ 868 เหรียญสหรัฐต่อตัด 
ข้าวขาว5% อยู่ที่ 260 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน