posttoday

สภาหอการค้าฯ ฟันธงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ทำไม่ได้จริง

07 ธันวาคม 2565

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ไม่สามารถทำได้ เพราะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจมหาภาค ชี้หากอนาคตปรับขึ้นจริงเสี่ยงผู้ประกอบการเลิกจ้างแรงงาน หันพึ่ง AI แทน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติหนีหาย เพราะต้นทุนที่สูงลิ่วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

นาย พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ โพสต์ทูเดย์ ออนไลน์ ถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีนโยบายจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป ว่า หากพิจารณาจากภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาค เชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการขึ้นค่าแรงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น อาทิ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และราคาพลังงาน 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรง ยังเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนไม่ใช่เพียงภาคอุตสาหกรรม แต่ยังหมายถึงภาคอื่นๆ เช่น ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว บริการ ภาคการก่อสร้าง ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดให้เหมือนในกรุงเทพก็ไม่สามารถทำได้ 

ทั้งนี้ อย่าลืมว่า การปรับขึ้นค่าแรงยังมีระบบ มีขึ้นตอนอยู่แล้ว โดยจะต้องมีการพูดคุยร่วมกันในระดับจังหวัด ทั้งจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ.จังหวัด นายจ้าง และลูกจ้าง เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วจะส่งต่อมาที่คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทน ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ซึ่งจะต้องพิจารณาบนเงื่อนไข ซึ่งมีสูตรคำนวณเฉพาะอยู่แล้ว

นายพจน์ยังย้ำด้วยว่า ไม่สนับสนุนให้ทุกพรรคการเมืองนำเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงมาหาเสียงในทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมหาภาคที่เกี่ยวข้อง กระทบต่อทุกภาคส่วน เพราะค่าแรง คือต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตปรับขึ้นค่าแรงตามที่กล่าวไว้ เชื่อว่าผู้ประกอบการจะลดการใช้แรงงานคน เปลี่ยนมาเป็น AI หรือเครื่องจักรแทนทั้งหมด สุดท้ายผลลัพธ์ก็จะกลับมากระทบแรงงานไทย หรือภาคประชาชนในที่สุด ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศจะไม่อยากเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากปัจจัยค่าแรงที่สูงขึ้น เพราะหากเปรียบเทียบอัตราค่าแรงของไทยในปัจจุบันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมา ถือว่าค่าแรงของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้น เห็นว่าก่อนจะมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรมีนโยบายยกระดับสวัสดิการแรงงานให้ดียิ่งขึ้นจึงจะเหมาะสมกว่า เช่น ยกระดับสวัสดิการจากประกันสังคมให้กับแรงงานไทย