posttoday

“sPace เท้าเทียมไดนามิกส์” นวัตกรรมจากคนไทย เพื่อคนไทย ยกระดับชีวิตผู้พิการ

24 มกราคม 2567

95% ของผู้พิการสูญเสียขาในไทย มักประสบปัญหาการเดินไม่สะดวกเมื่อใช้เท้าเทียมแบบดั้งเดิม ขณะที่การใช้เท้าเทียมแบบคุณภาพสูงต้องผ่านการนำเข้าจากต่างประเทศ และราคาสูงเกินกว่าคนทั่วไปจะเอื้อมถึง ดังนั้น การพัฒนาและผลิตเท้าเทียมคุณภาพสูงในไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนวัตกรรมจากคนไทย เพื่อคนไทยได้เกิดขึ้นแล้วกับ “sPace เท้าเทียมไดนามิกส์” ยกระดับชีวิตผู้พิการ

เท้าเทียมนับเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับผู้พิการที่สูญเสียเท้าเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้พิการจากการสูญเสียเท้าสามารถเดิน วิ่ง และใช้ชีวิตตามปกติได้ นอกจากนี้เท้าเทียมยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี ทำให้กล้าที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเท้าเทียมที่ดีต้องมีความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย เมื่อสวมใส่แล้วต้องไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเมื่อยล้า เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการขาขาดประมาณ  39,647 คน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2566) โดยผู้พิการถึงร้อยละ 95 ยังคงใช้เท้าเทียมแบบดั้งเดิมที่มีราคาไม่แพง แต่คุณภาพต่ำ ทำให้การเดินไม่สะดวก และไม่ปลอดภัย ขณะที่การใช้เท้าเทียมอบบคุณภาพสูง ต้องผ่านการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาสูงเกินกว่าคนทั่วไปจะเอื้อมถึง ดังนั้น การพัฒนาและผลิตเท้าเทียมคุณภาพสูงเองในไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับความต้องการ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในไทยเอง ได้มีโครงการวิจัยและพัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ (sPace) ขึ้น เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

“sPace เท้าเทียมไดนามิกส์” นวัตกรรมจากคนไทย เพื่อคนไทย ยกระดับชีวิตผู้พิการ

เท้าเทียมไดนามิกส์ (sPace) เป็นเท้าเทียมคุณภาพสูงที่มีความยืดหยุ่น สามารถงอเท้า เก็บพลังงานในเท้าเทียมได้ ทำให้มีแรงส่งขณะเดิน เมื่อผู้พิการสวมใส่สามารถเดินบนพื้นที่ขรุขระ ทางลาดชัน รวมถึงลงในน้ำออกกำลังกาย และวิ่งเหยาะๆ ได้เหมือนคนปกติ รวมถึงยังผลิตมาถึง 11 ขนาด ตามความยาวและน้ำหนักตัวของผู้พิการ ผู้สวมใส่จึงมั่นใจได้ว่าเท้าเทียมไดนามิกส์จะเหมาะสมกับขนาดเท้าและน้ำหนักของตน

ตัวเท้าทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ วัสดุเดียวกับที่ใช้ในการทำรถแข่ง ทำให้มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงสูงกว่าเหล็กทั่วไป 3-4 เท่า และผ่านการทดลองทางการแพทย์และการทดสอบจนได้มาตรฐาน ISO 10328 จากประเทศเยอรมันแล้วและมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าการนำเข้าถึง 5 เท่า โดยเท้าเทียมไดนามิกส์ (sPace) มีราคาอยู่ที่ราว 30,000 บาท ส่วนเท้าเทียมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาโดยเฉลี่ยจะอยู่ราว 120,000 – 150,000 บาท

ทางด้านรศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึงการพัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของผู้พิการสูญเสียเท้าว่า ได้ทำการทดสอบเท้าเทียมไดนามิกส์ด้านคลินิกกับผู้พิการ 20 ราย ซึ่งผลทดสอบเป็นที่น่าพึงพอใจในระดับดีมาก โดยผู้พิการใช้ระยะเวลาปรับตัวให้คุ้นชินประมาณ 2 สัปดาห์

“sPace เท้าเทียมไดนามิกส์” นวัตกรรมจากคนไทย เพื่อคนไทย ยกระดับชีวิตผู้พิการ

เท้าเทียมที่พัฒนาขึ้นมานี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบคุณสมบัติและสมรรถนะของเท้าเทียมไดนามิกส์นำเข้าที่มีการขายในท้องตลาดพบว่ามีคุณสมบัติและสมรรถนะเท่าเทียมกับที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ต้นทุนการผลิตถูกกว่าการนำเข้าถึง 5 เท่า ทำให้สามารถลดการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทางด้านกายอุปกรณ์ซึ่งมีราคาสูงมากได้ นอกจากนี้ การนำมาผลิตในเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ยังสามารถขยายการผลิตไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย ถือว่าเป็นการเพิ่มรายได้ สร้างโอกาสการส่งออกและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจุบันผลงานเท้าเทียมไดนามิกส์อยู่ในระหว่างการเสนอเข้าสู่ภายใต้สิทธิ์การรักษาของรัฐบาล เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ดีขึ้น