posttoday

"ค่ายรถปรับตัว" รับตลาดตะวันออกกลางซึม

10 กรกฎาคม 2560

สัญญาณการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังต่างประเทศมีทิศทางชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

สัญญาณการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังต่างประเทศมีทิศทางชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และทิศทางระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อรถยนต์ในตลาดตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มรถกระบะที่เป็นตลาดหลักอันดับ 1 ในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวลดลง

จากการรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาตัวเลขการส่งออกรถยนต์รวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2560 มีอัตราลดลง 9.1% และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า รถยนต์นั่งมีอัตราลดลง 3.7% ขณะที่รถกระบะมีอัตราลดลง 8.5% ส่วนรถกระบะดัดแปลง (พีพีวี) มีอัตราลดลง 28%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่า ในปี 2560 ตลาดการส่งออกรถกระบะของประเทศไทยที่มีสัดส่วน 50% ของการส่งออกรถยนต์ มีโอกาสที่จะลดลง 2-5% หรืออยู่ที่ 5.5-5.6 แสนคัน จากปีก่อนอยู่ที่ 5.7 แสนคัน สาเหตุสำคัญมาจากตลาดตะวันออกกลางซึ่งถือเป็นตลาดการส่งออกรถกระบะหลักของประเทศมาต่อเนื่องกว่า 9 ปี มีคำสั่งซื้อลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การส่งออกรถกระบะไปยังตะวันออกกลางมีอันดับลดลงจากอันดับ 1 นับตั้งแต่ปี 2459 ลงมาอยู่อันดับ 3 ในปี 2559 และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ลดลงมาอยู่อันดับที่ 4 จากทั้งหมด 7 ภูมิภาคหลัก

นอกจากนั้น สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเบี้ยประกันรถยนต์ที่สูงมากในบางประเทศ ส่งผลให้ผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ในกลุ่มประเทศดังกล่าวต้องมีการปรับตัวเพื่อบริหารจัดการสต๊อกสินค้าที่ล้นตลาดให้กลับเข้าสู่ภาวะที่สมดุล

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 สถานการณ์การส่งออกรถกระบะไปยังตะวันออกกลางจะยังหดตัวลดลง และยังไม่มีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกรถกระบะไปยังตลาดดังกล่าวฟื้นตัวขึ้นได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกรถกระบะไปยังตลาดตะวันออกกลางทั้งปี 2560 จะอยู่ที่ 6.2-6.4 หมื่นคัน หรือลดลงราว 39-41% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 1.05 แสนคัน

แม้ว่าตลาดตะวันออกกลางจะหดตัวแรง แต่สิ่งที่จะต้องจับตาคือตลาดใหม่ ได้แก่ โอเชียเนีย และกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่มีโอกาสในการเติบโต โดยคาดว่าในปี 2560 การส่งออกรถกระบะไปยังตลาดโอเชียเนียจะอยู่ที่ 2.1-2.2 แสนคัน เติบโตขึ้น 10-14% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.9 แสนคัน

ส่วนตลาดซีแอลเอ็มวีคาดว่าจะส่งออกรถกระบะได้อยู่ที่ 4.4-4.5 หมื่นคัน เติบโตขึ้นราว 7-10% จากปีก่อนอยู่ที่ 4.1 หมื่นคัน ส่งผลให้การส่งออกรถกระบะโดยรวมไปยังตลาดเอเชียที่หดตัวของตลาดหลักเดิม เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สามารถรักษาระดับการทรงตัวหรือเติบโตเล็กน้อยราว 2% ในปีนี้ หรืออยู่ที่ 1.12-1.14 แสนคัน จากปีก่อนอยู่ที่ 1.11 แสนคัน

จากสถานการณ์การส่งออกไปยังตะวันออกกลางที่ลดลง ทำให้บริษัทรถต้องเร่งปรับตัวเพื่อไม่ให้ยอดส่งออกรวมลดลง 

โทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ กล่าวว่า การส่งออกรถยนต์ของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.6 แสนคัน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักการส่งออกอยู่ที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางราว 20% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมด ซึ่งผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นส่งผลให้สัดส่วนลดลงเหลือ 10%

ทั้งนี้ บริษัทได้ทำการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลักดันยอดขายในตลาดที่ได้มีการส่งออกอยู่แล้ว อาทิ อังกฤษ นอร์เวย์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี โดยปัจจุบันสัดส่วนการส่งออก 3 อันดับแรกของบริษัท คือ 1.ออสเตรเลีย 2.ยุโรป และ 3.ฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายการทำการตลาดหลังได้รับสิทธิจากบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศญี่ปุ่น) ในการเปิดสำนักงานใหม่ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว และกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการจัดจำหน่ายในตลาดดังกล่าว ซึ่งในอีก 2-3 ปีจากนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศทั้งสองประเทศจะเติบโตประมาณ 7% จึงมองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาด

คาร์ลอส กอส์น ประธานบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวไว้เมื่อเดินทางเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. 2560 บริษัทเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับ 1 ของประเทศไทย ด้วยปริมาณการส่งออกที่ 3.09 แสนคัน

สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ได้แก่ ยุโรป สัดส่วนอยู่ที่ 28% กลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชีย 25% อเมริกา 21% โอเชียเนีย 12% และอื่นๆ 14%

ขณะที่ โมริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปี 2560 บริษัทมุ่งเน้นมองหาตลาดทดแทนตลาดตะวันออกกลางที่ลดลง ซึ่งมองว่า ตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือสามารถชดเชยและส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านที่อยู่ที่ 3.26 แสนคัน แบ่งเป็นส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 3.08 แสนคัน และส่งออกชิ้นส่วน 1.8 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดว่าจะมีการส่งออกชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ของประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้เริ่มผลิตและมีความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศไทย

นอกจากตลาดในประเทศที่ค่ายรถแข่งขันกันช่วงชิงส่วนแบ่งกันอย่างดุเดือดแล้ว ตลาดต่างประเทศก็ต้องปรับตัวรักษาฐานที่มั่นในภาวะที่ตลาดตะวันออกกลางยังมีปัญหา หากคุมเกมไม่ดีมีสิทธิพลาดเป้าได้เช่นกัน