posttoday

สัญญานเงินเฟ้อเริ่มปรากฏในเมียนมา

06 มิถุนายน 2563

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากเกิดเหตุการณ์ COVID19 เราได้เห็นการอัดเม็ดเงินเข้ามาสู่ประเทศเมียนมาจากต่างประเทศมากมาย

และได้มีการเห็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในหลากหลายรูปแบบ ผมได้เล่าถึงกระแสเงินสดที่จะเข้ามาสู่ระบบ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะมีนัย และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ผมได้รับคำถามอีกเช่นเคย จากบรรดาแฟนคลับ

อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำจากอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าท่านหนึ่งที่คุ้นเคยกันว่า “คุณน่าจะเขียนถึงผลกระทบที่จะตามมาให้ต่อเนื่อง

เพราะคุณใช้คำง่ายๆที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าใจได้” ผมจึงขออนุญาตนำเอาหลักเศรษฐศาสตร์ง่ายๆมาอธิบายให้แฟนคลับได้คิดตามเล่นๆนะครับ

การเพิ่มขึ้นของกระแสเงินสด ถ้าเราใช้ทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์สำนักการเงินนิยม ก็สามารถอธิบายถึงสัญญานสภาวะ “เงินเฟ้อ” (inflation) กำลังก่อตัวขึ้นมาทันใดครับ

ผมขออนุญาตอธิบายคร่าวๆในความหมายของ “เงินเฟ้อ”นะครับ “เงินเฟ้อ”คือการที่ระดับราคาสินค้าหรือบริการในระยะหนึ่ง เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ถ้าเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่ผ่านๆมานั่นเอง หรือ สามารถพูดได้ว่าเงินในระบบมีมาก ทำให้ค่าของเงินที่เคยซื้อหาสินค้าได้ในจำนวนเท่าเดิม แต่พอเงินเฟ้อเกิด ทำให้ต้องใช้เงินในจำนวนเพิ่มขึ้น จึงจะได้สินค้าในจำนวนเท่าเดิมนั่นเองครับ

แต่เงินเฟ้อนั้น มีทั้งผลดีและผลเสียทั้งสองด้าน ผลเสียของเงินเฟ้อด้านลบ คือ ประชาชนจะเสียต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) ในการไม่ใช้เงิน

ในขณะเดียวกัน ถ้าเงินเฟ้อรุนแรง ประชาชนจะเริ่มกักตุนสินค้าและไม่ยอมขายสินค้าออกมา เพราะวันนี้ถ้าขายออกไปแล้ว จะไม่สามารถใช้เงินเท่าเดิมที่ตนเองเคยซื้อหาสินค้าในจำนวนเท่าเดิมได้นั่นเอง

ในขณะที่ผลบวกก็มีเยอะเช่นกันครับ เพราะจะเกิดแรงจูงใจให้ทุกคนใช้จ่ายเงินมากขึ้น เนื่องจากค่าของเงิน ถ้าเก็บใว้ในธนาคารโดยไม่นำออกมาหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เงินด้อยค่าลง

ภาวะเงินเฟ้อยังทำให้ภาระหนี้สินของประชาชนที่ไปกู้เงินมาลดลง จากที่เคยจ่ายค่าผ่อนส่งที่เคยส่งอยู่ประจำ มีค่าลดลงนั่นเอง

ข้อดี ที่เห็นได้ชัดอีกข้อหนึ่งคือเงินเฟ้อจะช่วยลดการอัตราการว่างงานที่มีสาเหตุมาจากเมื่อเศรษฐกิจถดถอย นายจ้างจะไม่ต้องการจ้างงาน เพราะสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

แต่แรงงานต้องการทำงานยังคงเท่าเดิม ในขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้างลดลง นายจ้างสามารถจ้างแรงงานได้มากขึ้น ในขณะที่ใช้เงินที่มีมูลค่าเท่าเดิม จึงทำให้สามารถลดอัตราการว่างงานลดลง โดยทั่วไปแล้วนักเศรษฐศาสตร์มักจะเห็นด้วยกับการมีเงินเฟ้อในระดับที่ไม่มาก

หรือเงินเฟ้อในอัตราเท่าที่เคยมีมา มากกว่าการที่เกิดเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝึด เพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือประเทศไม่ได้พัฒนาขึ้นนั่นเอง

ดังนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลทุกๆประเทศ จะพยายามใช้ “นโยบายการเงิน” ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยจะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวกำหนดการเพิ่มหรือลดอัตราเงินเฟ้อ

เพราะถ้าหากต้องการเพิ่มปริมาณกระแสเงินในระบบ ก็ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเข้าไว้ ประชาชนก็ไม่อยากฝากเงินกินดอกเบี้ย และนำเงินออกมาใช้ในการลงทุนมากขึ้น

ในขณะเดียวกันถ้าอยากให้ลดการร้อนแรงทางเศรษฐกิจ หรือ ลดปริมาณกระแสเงินในระบบ ก็เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย หรือขึ้นดอกเบี้ยทั้งระบบ

ประชาชนทั่วไปก็จะนำเงินไปฝากธนาคาร ไม่นำไปลงทุน ซึ่งจะทำให้การหมุนของกระแสเงินลดลง เงินในระบบก็จะลดลงทันที

หรืออาจจะใช้วิธีอื่นในนโยบายการเงิน ซึ่งมีหลากหลายวิธีมาก ถ้านำมาเล่าทั้งหมด

เห็นทีต้องเปิดคลาสการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์เสียแล้ว จึงเอาแค่แตะๆก็พอนะครับ

เรามามองดูเมียนมากันบ้างนะครับ ในปี 2019 ทางการเมียนมาได้เร่งให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ด้วยการส่งเสริมการลงทุน อีกทั้งยังออกกฎหมายการลงทุนใหม่ๆให้สมบูรณ์กว่าเดิม

พอมาปลายปีก็มีกระแสตอบรับจากต่างประเทศที่ได้ส่งเงินเข้ามา ในรูปของการให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การลงทุนในสาธารณูปโภค การให้เปล่าเพื่อช่วยเหลือเมียนมาในรูปต่างๆ พอเข้าสู่โหมดของ COVID19

หลายประเทศก็ให้ความช่วยเหลือในเกือบจะทุกๆด้าน อีกทั้งธนาคารโลก IMF ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ก็ให้ความช่วยเหลืออีกมากมาย

จึงทำให้หลังจากเหตุการณ์เจ้าวายร้าย COVID19 ผ่านไป เงินที่ได้มาจากแหล่งต่างๆก็จะเริ่มทำงานตามกลไกทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่ายากที่จะหลีกเลี่ยงที่จะเกิดสภาวะเงินเฟ้อได้

เพราะเมื่อกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในระบบ จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ตามหลักของเศรษฐศาสตร์การเงินหรือทฤษฎีปริมาณเงิน ที่บอกว่าMV=PG (ว่าจะไม่เอาทฤษฎีจ๋ามาเขียน ก็อดพาดพิงไม่ได้) คือตัวเงินและการหมุนเวียนของเงิน จะเท่ากับราคาสินค้าและปริมาณของสินค้า

ดังนั้นเมื่อกระแสเงินเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ดังนั้นผมจึงบังอาจที่จะทายทักไปว่า การเกิดเงินเฟ้อในเมียนมาเริ่มเห็นสัญญานบ่งชี้แล้ว และย่อมทำให้เมียนมาเกิดปัญหาอย่างแน่นอน

แต่ก็ต้องดูว่ารัฐบาลเมียนมาจะปล่อยเงินเข้าสู่ระบบมากน้อยแค่ไหน ความสามารถของรัฐมนตรีการตลังและการวางแผนจะเก่งกาจแค่ไหน

ในฐานะเราคนไทยที่ไปลงทุนที่นั่น เราควรต้องจับตามองให้ดี และหากสามารถใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสได้ คงต้องอาศัยประสบการณ์ที่เราเคยเจอมาในอดีตมาเป็นตัวช่วยก็จะเป็นผลดี 

ต้องดูกันยาวๆเลยครับงานนี้หนังชีวิตแน่นอน