posttoday

ธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณ

14 ธันวาคม 2562

โดย กริช อุ๊งวิฑูรย์สถิตย์

คุณชุ ร้านขายเมียเก่าจากสระบุรีถามมาว่า การทำบ้านพักคนชราโดยการพาเด็กเมียนมามาเรียนที่แม่สอด เพื่อมาดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และอยากรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุในเมียนมาบ้าง ขอให้ผมช่วยตอบคำถามทั้ง 2 ข้อนี้ด้วย เป็นคำถามที่ถูกใจมาก เข้าทางผมเลย เพราะผมกำลังสร้างบ้านพักคนวัยเกษียณอยู่พอดี

แต่ผมทำที่ประเทศไทยเรานี่แหละ ไม่ได้ไปทำที่เมียนมา อย่าหาว่าโฆษณาธุรกิจตนเองเลยนะครับ แค่เอามาเล่าสู่กันฟังนิดหน่อย

ถ้าติดใจอยากจะมาใช้บริการก็ค่อยคุยกันหลังไมค์ก็แล้วกันนะครับ การทำบ้านพักคนชรา ที่ผมไม่อยากใช้คำนี้ อยากจะใช้คำว่า "บ้านพักคนวัยเกษียณ" มากกว่า เพื่อให้คนที่อยากไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างจำกัด ได้ไปอยู่ในที่ที่มีคนรู้ใจหรือคนวัยเดียวกันได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

อีกทั้งยังมีคนมาดูแลเรา ให้ได้มีชีวิตที่มีความสุขตามประสาคนใกล้ฝั่ง ทำไมผมถึงอยากทำและลงมือทำ เหตุผลง่ายๆคือ "คนเราทุกคนไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เรามีสิทธิที่จะเลือกสถานที่ที่เราคิดว่าเรามีความสุขได้ในบั้นปลายของชีวิตได้" นี่คือหลักแนวคิดของผม

นานมาแล้วผมเคยอ่านแนวคิดของคุณหมอท่านหนึ่งที่ไต้หวัน ซึ่งผมจำชื่อท่านไม่ได้แล้ว ท่านได้ก่อตั้งชมรมหนึ่งขึ้นมา เพื่อรวบรวมเอาคนวัยเกษียณเหมือนท่านมารวมตัวกัน แล้วไปเตรียมสร้างสุสานใว้

เพื่อว่าสักวันหนึ่งถ้าสมาชิกในกลุ่มจากไป ก็จะมาอยู่ร่วมกันในที่ๆท่านคิดว่า เป็นที่รวมกลุ่มคนที่รักในสิ่งเดียวกัน ชอบในสิ่งที่ทุกคนเมื่อช่วงที่มีชีวิตอยู่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมด้วยกัน

จากนั้นท่านก็จะชักชวนสมาชิกใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ ให้มาทำกิจกรรมต่างๆทุกๆเดือน ด้วยการสร้างประโยชน์ให้สังคม (community service) เช่น ไปช่วยชาวบ้านทำทุกอย่างที่ชุมชนต้องการ ด้วยการไม่กำหนดเป้าหมายว่าจะต้องไปทำที่ไหน? เพื่อให้ใคร?

หรือ ไม่ได้มีความคาดหวังถึงผลตอบแทนใดๆ ด้วยเงินทุนที่ทุกคนช่วยกันบริจาคเอง ด้วยเงินส่วนเกินที่เขามีเหลือกินเหลือใช้อยู่ ซึ่งสุดยอดมากๆ มีความสุขมากๆด้วย

ผมอ่านแล้วจึงเกิดแรงบันดาลใจ อยากทำบ้างเลยครับ อีกทั้งพอดีบุตรชายคนที่สองของผม ระหว่างที่ได้ไปเรียนที่เมืองซูซึกะ จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ผมได้เพื่อนที่อยู่ที่นั่นเป็นผู้ปกครองให้เขา และเผอิญว่าเพื่อนผมได้ทำโรงเรียนสอนการทำธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณอยู่ด้วย

ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าเขาทำธุรกิจอะไร แต่ในวันที่บุตรชายรับปริญญาบัตร ผมได้เดินทางไปร่วมงานด้วย จึงทราบว่าเขาทำธุรกิจนี้อยู่ จึงไปเยี่ยมชมกิจการของเขา เห็นแล้วบอกเลยว่า "ใช่แนวเลย" กลับมาจึงชักชวนคุณหมอหลายท่าน เช่น ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศ มาร่วมกันสร้างธุรกิจนี้ เลยจับพลัดจับพรูกระโดดเข้ามาทำบ้านพักคนวัยเกษียณ "คัยโกเฮ้าส์" ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และโนว์ฮาวน์จากญี่ปุ่นนี่แหละครับ

เล่ามาตั้งนานยังไม่ได้ไปถึงเมียนมาเลย ทำไมผมถึงไม่ได้คิดว่าจะมาทำที่นี่ ที่จริงแล้วที่นี่กำลังเป็นที่ต้องการธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์อย่างยิ่ง เพราะยังขาดแคลนมาก อีกทั้งธุรกิจประเภทนี้ เป็นปลายน้ำของธุรกิจการแพทย์

บุคลากรย่อมต้องมีความรู้ทางด้านการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ประเภท direct เช่นพยาบาล และผู้ดูแลผู้สูงอายุ แต่ผมคิดว่าค่าครองชีพของที่นี่ยังไม่ได้แพงมาก อีกทั้งวัฒนธรรมการดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ยังคงใช้ลูกหลานเป็นคนดูแลอยู่

หากใครส่งไปบ้านพักคนชรา ก็จะถูกมองว่าไม่กตัญญู ซึ่งก็เหมือนกับวัฒนธรรมไทยที่ผ่านมานั่นเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือค่าแรงที่นี่ยังถูกมาก (ถ้าเทียบกับประเทศในแถบนี้ ถูกกว่าไทยสามเท่า)

เขาสามารถว่าจ้างคนรับจ้างงานบ้านได้อย่างสบาย ทั้งยังอยู่ในสายตาลูกหลานได้ด้วย ซึ่งการที่เราจะไปแก้ไขความเชื่อและวัฒนธรรมเหล่านี้ ต้องใช้เวลายาวนานมาก พอดีเจ๊งก่อนได้เกิดครับ

อีกประการหนึ่ง คือ ที่นี่เขาก็มีสถานที่ที่รัฐบาลจัดหาให้ เช่น ที่ย่างกุ้ง มัณฑเลย์ สกาย และที่อื่นๆอีก บ้านพักคนชราเหล่านี้ โดยเป็นการทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ เขาเก็บค่าบริการถูกมาก บางแห่งให้อยู่ฟรีเลย

ผมเคยเล่าให้ฟังมาแล้วว่า ที่เมืองหมิ่นกุน รัฐสกาย ผมเคยไปบริจาคยาให้แก่บ้านพักคนชรามาแล้ว ซึ่งสถานที่แห่งนั้นสร้างโดยเจ้าของยาหม่องตราเสือ มิสเตอร์โฮ้ว ซึ่งเป็นชาวเมียนมาปัจจุบันนี้ได้แปลงสัญชาติเป็นสิงคโปร์ไปแล้ว นี่เองที่ผมไม่ได้ตัดสินใจไปทำที่เมียนมาครับ

แล้วถ้าหากจะทำธุรกิจต่อเนื่องละ เป็นไปได้มั้ย บางท่านอาจจะมีคำถาม มีครับ เช่น โรงเรียนสอนการพยาบาลเบื้องต้น หรือโรงเรียนสอนผู้ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นไงครับ นี่เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจในเมียนมาครับ ผมคิดว่ายังมีโอกาสสูงมาก

เพราะการที่แรงงานหนุ่มสาวชาวเมียนมา เขาจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือ ต่างประเทศ ปัจจุบันนี้งานที่เขาทำได้ก็เฉพาะแรงงานทั่วไป แต่คนเมียนมามีความอดทนสูงมากเป็นคนโอบอ้อมอารี

บางคนที่เขามาทำงานบ้านในประเทศไทย บางบ้านก็ให้เขาช่วยดูแลผู้แก่แม่เฒ่ากันอยู่แล้ว คนจำพวกดังกล่าว เขาไม่ได้รับการฝึกฝนมาเฉพาะทาง เราก็ยังใช้เขาเลย ถ้าหากมีโรงเรียนเฉพาะทาง เมื่อเรียนจบ ส่งมาทำงานในบ้านเราหรือจะไปทำที่ประเทศอื่นๆ

ช่องทางยังเปิดกว้างสำหรับเขามากทีเดียว ในขณะเดียวกันสำหรับเจ้าของโรงเรียน ก็เป็นโอกาสที่ดีมากและธุรกิจนี้ยังไม่มีคู่แข่งเลยครับ ดังนั้นที่คุณชุถามมาว่าหากเราไปเปิดสอนที่แม่สอดเป็นไปได้มั้ย ถ้าเป็นความคิดของผม ผมคิดว่าน่าจะเปิดในเมืองย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์เลยน่าจะดีกว่า แล้วขออนุญาตให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย

ปัจจุบันนี้รัฐบาลเขาส่งเสริมให้ต่างชาติเข้าไปเปิดกิจการและถือหุ้นได้ 100% อยู่แล้ว โอกาสยังเปิดกว้างสำหรับผู้กล้านะครับ