posttoday

ฝีดาษลิงอันตรายไหม? น่ากังวลแค่ไหน? ติดง่ายหรือเปล่า?

21 พฤษภาคม 2565

ขณะนี้ทั่วโลกพบโรคฝีดาษลิง (monkeypox) แล้วในอย่างน้อย 11 ประเทศในยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย

โรคฝีดาษลิงคืออะไร?

ฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิงซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับฝีดาษ (smallpox) หรือไข้ทรพิษ แต่รุนแรงน้อยกว่าและมีโอกาสในการติดเชื้อต่ำกว่า ส่วนใหญ่ระบาดในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกใกล้กับป่าฝนเขตร้อน ฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์แอฟริกากลางและสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกซึ่งรุนแรงน้อยกว่า

มีอาการอะไรบ้าง?

อาการเบื้องต้น ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ กระสับกระส่าย จากนั้นจะเริ่มมีผื่นหรือตุ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่เริ่มจากใบหน้า ก่อนจะกระจายไปตามส่วนอื่นของร่างกาย ที่พบบ่อยคือฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มที่ขึ้นอาจทำให้คันหรือเจ็บและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ก่อนจะกลายเป็นสะเก็ดและร่วงออกมา อาการจะปรากฏราววันที่ 6-13 หลังได้รับเชื้อ การติดเชื้ออาจหายเองโดยไม่ต้องรักษาและคงอยู่ประมาณ 14-21 วัน

ได้รับเชื้อจากอะไร?

ฝีดาษลิงแพร่กระจายจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่เป็นแผล ทางเดินหายใจ ตา จมูก หรือปาก ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการอธิบายว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ฝีดาษลิงสามารถติดต่อได้โดยตรงระหว่างมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังติดต่อผ่านการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ อาทิ ลิง หนู และระรอก หรือวัตถุที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน เช่น เครื่องนอน เสื้อผ้า

ระยะแพร่เชื้อ?

ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เกิดผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังจนกว่าสะเก็ดแผลจะหลุดลอกออกมา โดยสะเก็ดแผลที่หลุดออกมาอาจมีเชื้อไวรัสที่สามารถติดไปสู่ผู้อื่นได้

อันตรายแค่ไหน?

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งอาการคล้ายกับการเป็นโรคอีสุกอีใส และสามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางครั้งฝีดาษลิงก็ก่อให้เกิดอาการรุนแรง และมีรายงานว่าถึงขั้นทำให้เสียชีวิตในแอฟริกาตะวันตก เมื่อปีที่แล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ค่า R0 หรืออัตราแพร่เชื้อของเชื้อฝีดาษลิงอยู่ที่ 2

ระบาดบ่อยไหม?

ฝีดาษลิงพบครั้งแรกเมื่อปี 1958 ในลิงที่นำมาศึกษาในห้องวิจัย พบการติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 1970 ในคองโก นับตั้งแต่นั้นก็เกิดขึ้นนานๆ ครั้งในประเทศแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก จากนั้นในปี 2003 เกิดการระบาดในสหรัฐ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฝีดาษลิงระบาดนอกแอฟริกา ผู้ป่วยในสหรัฐได้รับเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับแพรีด็อก (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมฟันแทะตระกูลกระรอก) ที่ติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กที่นำเข้ามาในประเทศ

มียาหรือวัคซีนไหม?

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดด้วยการป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี วัคซีนป้องกันฝีดาษมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษลิงได้ 85%

น่ากังวลไหม?

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ายังไม่ถึงขั้นจะพัฒนาเป็นโรคระบาดระดับประเทศ ส่วนสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพสหราชอาณาจักร (UKHSA) บอกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ต่ำ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญอีกฝั่งหนึ่งบอกว่าการระบาด “น่ากังวล” และ “ผิดปกติมาก” ที่พบการระบาดในชุมชนในยุโรป

ไมเคิล เฮด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระดับโลกจากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตันเผยว่า เคสที่เพิ่มขึ้นน่ากังวลอย่างไม่ต้องสงสัยเลย แต่การระบาดของฝีดาษลิงครั้งใหญ่ครั้งนี้ยังแตกต่างอย่างมากจากสถานการณ์ของ Covid-19

ระบาดในประเทศไหนแล้วบ้าง?

เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี โปรตุเกส สวีเดน สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ (พบเคสต้องสงสัยยังไม่ยืนยัน) สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย

Brian W.J. Mahy/CDC/Handout via REUTERS