posttoday

จะเกิดอะไรขึ้นตามมาเมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรงสุดนับตั้งแต่ปี 2000?

05 พฤษภาคม 2565

แม้ว่า Federal Reserve จะตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% แต่มันก็สร้างความสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนทั้งด้านบวกและด้านลบ

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2000 หรือในรอบ 22 ปี   

ทำไมเฟดจึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงขนาดนี้?

1. คณะกรรมการเฟดกล่าวว่า แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะลดลงในไตรมาสแรก แต่การใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนคงที่ของธุรกิจยังคงแข็งแกร่ง การจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราการว่างงานลดลงอย่างมาก อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาในวงกว้าง

2. การรุกรานของยูเครนโดยรัสเซียทำให้เกิดความยากลำบากอย่างมากต่อผู้คนและเศรษฐกิจ นัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐมีความไม่แน่นอนสูง การบุกรุกและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกำลังสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออัตราเงินเฟ้อและมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การปิดเมืองที่เกี่ยวข้องกับโควิดในจีน มีแนวโน้มที่จะทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงักลง คณะกรรมการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก

3. คณะกรรมการพยายามที่จะบรรลุการจ้างงานสูงสุดและอัตราเงินเฟ้อในอัตราร้อยละ 2 ในระยะยาว ด้วยจุดยืนของนโยบายการเงินที่แน่วแน่อย่างเหมาะสม คณะกรรมการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายที่ 2 เปอร์เซ็นต์ และตลาดแรงงานจะยังคงแข็งแกร่ง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้ คณะกรรมการจึงตัดสินใจเพิ่มช่วงเป้าหมายสำหรับอัตราเงินกองทุนของรัฐบาลกลางเป็น 3/4 ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเป้าหมายจะเหมาะสม

4. นอกจากนี้ คณะกรรมการตัดสินใจที่จะเริ่มลดการถือครองหลักทรัพย์ธนารักษ์และตราสารหนี้และหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยหน่วยงานในวันที่ 1 มิถุนายน โดยคณะกรรมการจะติดตามดูผลกระทบของข้อมูลที่เข้ามาเพื่อแนวโน้มเศรษฐกิจต่อไป และคณะกรรมการจะเตรียมปรับจุดยืนของนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากมีความเสี่ยงที่อาจขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของคณะกรรมการ โดยการประเมินของคณะกรรมการจะพิจารณาข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการอ่านข้อมูลด้านสาธารณสุข สภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ และการพัฒนาด้านการเงินและระหว่างประเทศ

จะเกิดอะไรขึ้นตามมาหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่?

ในขั้นต้น ตลาดทุนตอบรับด้วยดีเพราะคาดหวังว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราราวๆ นี้ และยังทำให้นักลงทุนโล่งใจเพราะบางคนเชื่อว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยสูงกกว่านี้คือ 0.75% และก่อนหน้านี้ เจอโรม พาวเวลล์ ยังกล่าวอีกว่าเฟดไม่ได้ "พิจารณาอย่างจริงจัง" ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 จุด ซึ่งลดความคาดหวังของตลาดบางส่วนเรื่องที่เฟดจะเข้มงวดในเชิงรุก 

ส่วนในอนาคตก็คาดหวังได้ว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยที่แรงกกว่านี้ เพราะพาวเวลล์กล่าวว่าผู้กำหนดนโยบายคือคณะกรรมการของเฟดพร้อมที่จะอนุมัติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขนาดใกล้เคียงกันในการประชุมนโยบายที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม

ตลาดคริปโตอาจจะเข้าสู่ตลาดกระทิง หลังการประกาศขึ้นดอกเบี้ย BTC เพิ่มขึ้น 5% มุ่งสู่หลัก $40,000 ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาเนื่องจากความเชื่อมั่นในเชิงลบลดลงจากการายงานของ coindesk

 หลังการขึ้นดอกเบี้ยดัชนี Fear & Greed Index ที่ใช้จับตา Bitcoin ปรับมาอยู่ที่ระดับใกล้กับ Extreme fear มากขึ้น การปรับลงมาในแดน fear อาจเป็นสัญญาณว่านักลงทุนวิตกกังวลเกินไป ซึ่งนั่นอาจเป็นโอกาสในการซื้อ

ต้องจับตาทองคำ หลังจากที่พาวเวลล์กล่าวออกมาพร้อมกับให้เหตุผลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยว่าเพื่อปราบเงินเฟ้อ ทำให้ราคาทองคำขึ้นมา เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ใช้เก็งกำไรในช่วงที่เงินเฟ้อรุนแรง

ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึง JPMorgan Chase & Co, Wells Fargo Bank และ Citibank ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพิเศษเป็น 4% โดยมีผลในวันพฤหัสบดีนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้พื้นฐานเพิ่มขึ้น 50 จุด ตามเกณฑ์ธนาคารกลางกล่าวในแถลงการณ์

CNBC รายงานว่าหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะต้องจับตาสิ่งที่แพงขึ้นคือ ดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหลาย เช่น ดอกเบี้ยบ้าน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งชาวอเมริกันใช้กันอย่างกว้างขวาง แม้แต่การขึ้น 1% ก็อาจทำให้ค่าใช้จ่ายของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องดูว่ามันจะเป็นภาระซ้ำซ้อนกับเงินเฟ้อหรือไม่

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Photo - Win McNamee/Getty Images/AFP