posttoday

สะดุดแล้วต้องซ้ำ ทำไมชาวโลกจึงไม่มีเมตตากับ 'เมตา'?

09 กุมภาพันธ์ 2565

บทความทัศนะ - ชื่อของ 'เมตา' อาจจะยังไม่คุ้นหูนัก ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ แต่คนที่น่นเชื่อว่ามันคืออนาคต โดยเฉพาะธุรกิจที่ (สูบเงินมหาศาล) จะเป็นอนาคตในสายตาพวกเขาอย่าง 'เมตาเวิร์ส'

ในพลันที่มีข่าวออกมาว่า Meta Platforms, Inc. หรือในชื่อเดิมว่า Facebook, Inc. ประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่พังสุดๆ พร้อมประกาศว่าที่พังนั้นเพราะไปลงทุนกับธุรกิจใหม่ Metaverse และเผยด้วยว่ายอดผู้ใช้ Facebook ลดลงเป็นครั้งแรก

ปฏิกิริยาที่เห็นออกไปในทางยิ้มเยาะ สมน้ำหน้า ไม่เห็นอกใจ หรือถึงขั้นติดแฮชแท็ก #DeleteFacebook

ปุ่มกดหัวเราะใน Facebook (รวมถึงปุ่มแสดงอารมณ์ต่างๆ นานา) ซึ่งเป็น 'นวัตกรรม' ที่สร้างความร้าวฉานในหมู่ยูสเซอร์นับร้อยนับพันล้านคน กลายเป็นสิ่งที่กลับมาทิ่มแทง Meta เสียเอง เพราะส่วนใหญ่มีแต่คนหัวเราะใส่ข่าวร้ายของบริษัทนี้

ยิ่งเมื่อไปคลิกอ่านคอมเมนต์ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ส่วนน้อยบอกว่า "สมควร" ส่วนมากบอกในทำนองว่า "ว่าแล้วต้องเป็นแบบนี้"

ยูสเซอร์จำนวนไม่น้อย รวมถึงคนเขียนเคยชอบ Facebook แบบที่ขาดมันไม่ได้ และรู้สึกว่ามันเป็นหนึ่งในโลกโซเชียลยากที่จะหาใครโค่นได้

ซึ่งมันยังเป็นแบบนั้น Facebook ยังเป็นโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของโลก แต่จำนวนผู้ใช้ที่ลดลงเป็นลางบอกอนาคตร้ายๆ แบบที่ปฏิเสธไม่ได้

เราไม่ต้องไปดูสถิติให้เสียเวลา อ่านในช่องคอมเมนต์ก็มีคนแลกเปลี่ยนความเห็นกันให้สนุกว่า คนเจนใหม่ๆ ไม่มีใครใช้ Facebook กันแล้ว เหลือแต่เจนรุ่นซีเรียร์ที่อยู่กับมันมาตั้งแต่แรกๆ พวกนี้คือ Customer Loyalty จริงๆ แต่กำลังถูกทอดทิ้ง

นี่คือสาเหตุประการแรกที่ Facebook จะหมดอนาคต เหมือนญี่ปุ่นที่อัตรตาการเกิดต่ำ มีแต่คนแก่ แต่ไม่มีคนรุ่นใหม่มาเติม อนาคตของ Facebook จะเป็นแบบนั้น

แต่นั่นยังไม่หนักเท่ากับ Facebook กวนโมโหยูสเซอร์ที่ยังภักดีครั้งแล้วครั้งเล่า

เรื่องการยิงแอดหรือโฆษณาแบบรัวๆ และออกแบบการพรีเซนต์แอดที่ย่ำแย่ ยังพอให้อภัยได้ เพราะบริษัทต้องทำรายได้

แต่การบดบังฟีดของยูสเซอร์จนรวนไปหมด ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้เชื่อมต่อกับคนรู้จักและเพื่อนมากกว่าจะเชื่อมต่อกับเพจต่างๆ

และยังยัดเยียด "สิ่งแปลกปลอม" เข้ามาในแพลตฟอร์มครั้งแล้วครั้งเล่า เพียงเพื่อที่จะมีทุกอย่างที่คู่แข่งมี แต่ไม่รู้ทำไมต้องเอามากองในแพลตฟอร์มเดียวจนมั่วไปหมด

ความมั่วจนจับต้นชนปลายไม่ถูก คือสูตรสำเร็จของหายนะชัดๆ

ผลก็คือตอนนี้มีแต่เสียงบ่นว่า เข้าหน้า Facebook แล้วมีแต่เรื่องที่ถูกถูกยัดเยียดให้เสพโดยการทำงานของอัลกอริธึม ซึ่งทำงานได้น่าดูชมมาก เช่น "ข่าวด่วน" กว่าจะเดินทางมาถึงผู้ใช้ บางครั้งใช้เวลาถึง 4 - 5 วัน!

เพจที่ยูสเซอร์ต้องการจะติดตามถูกซ่อน แต่ถูกบังคับให้เสพเพจที่จ่ายสปอนเซอร์ เป็นความน่ารำคาญอย่างหาที่สุดไม่ได้

เปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ข่าวด่วนก็มากันด่วนจริง เพจที่ติดตามโผล่ตามธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามที่ผู้ใช้ต้องการ หรืออย่างน้อยพบกันครึ่งทางระหว่างผู้ใช้และแพลตฟอร์ม

ผู้คนจึงเบื่อหน่ายแพลตฟอร์มของ Meta ที่ยัดเยียดจนเกินไป ซึ่งมันไม่ใช่แค่ Facebook แต่ยังลามไปถึง Instagram ด้วย

นี่อาจเป็นปัญหาของยูสเซอร์ในระดับสากล แต่บางผู้คนในประเทศยังไม่พอใจ Facebook เพราะคิดว่ามันคือตัวทำลายประชาธิปไตยและทำลายข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แม้ว่าบริษัทนี้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม ยังสลัดไม่พ้นต่างข้อกล่าวหาเรื่องนี้

การจัดการของ Meta เพื่อพยายามบอกว่าพวกเขาค้ำชูด้วยการออกมาตรการต่างๆ นานา บางกรณีผู้คนยิ่งไม่พอใจอีก เพราะคิดว่า Meta ทำตัวไม่เป็นกลางจริงๆ และคิดว่าพยายามใช้อำนาจเสมือนจริงแทรกแซงการเมืองในโลกจริงๆ

นั่นเป็นเรื่องของการเมืองบางประเทศ ในประเทศส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ที่ความไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากกว่า

ดูเหมือนว่าซักเคอร์เบิร์กจะไม่จริงจังกับการทำให้ Facebook แบบออริจินัลพ้นจากความโกลาหล เพราะเขากำลังหมกมุ่นกับ Metaverse โลกเสมือนจริงที่เขาเชื่อมันต้องเป็นอนาคตแน่ๆ มันต้องทำเงินแน่ๆ แต่ปรากฏยังไม่ไปไหนก็ดูดเงินของบริษัทไปมากมาย

กูรูในวงการเทคคนแล้วคนเล่าเริ่มออกมาพูดว่า Metaverse มันไม่เวิร์ก มันเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ แม้แต่ยูสเซอร์ทั่วไปก็บอกว่าไม่รู้จะยุ่งยากกับมันไปทำไม ในเมื่อมีฟีเจอร์ที่ใช้ง่ายและดีไซน์ดีกว่านี้มาก?

อีกเรื่องที่ยูสเซอร์รุ่นออริจินัลต้องเตรียมใจไว้คือ ซักเคอร์เบิร์กบอกให้พนักงาน Meta ทุ่มเทกำลังเต็มที่กับวิดิโอคลิป (สั้นๆ) เพื่อรับมือกับ "การแข่งขันอย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน" จากคู่แข่ง คือ TikTok

พูดก็พูดคือซักเคอร์เบิร์กยังคิดว่าผู้ใช้ลดลงเพราะคู่แข่ง แน่นอนเรื่องนี้มันเกี่ยวด้วยอย่างมาก แต่ที่เกี่ยวเหมือนกันคือการที่เขาไม่แยแสผู้ใช้กลุ่ม Customer Loyalty เอาเลย 

กลุ่มนี้ที่แหละที่ออกมาเย้ยและขยี้ Meta มากที่สุด

เหมือนกับที่บริษัทของซักเคอร์เบิร์กโพล่งออกมาว่าพร้อมที่จะปิด Facebook กับ Instagram ในยุโรป เพราะทางการยุโรปไม่ต้องการให้ Meta นำดาต้าจากยุโรปไปจัดการที่สหรัฐ เพราะเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

หลังจากคำขู่นี้ออกมาผู้คนยิ่งหัวเราะเยาะ เย้ยว่าจะปิดก็ปิดไปเลย ไม่มีโซเชียลมีเดียพวกนี้ ชีวิตน่าจะขึ้นด้วยซ้ำ

ซึ่งคนที่ออกมากระทืบซ้ำเหล่านี้ก็ครื้นเคร่งกันในแพลตฟอร์มของ Meta นั่นเอง

แม้แต่โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานพร้อมกับบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศสในกรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ว่า “หลังจากถูกแฮ็ก ผมใช้ชีวิตโดยปราศจาก Facebook และ Twitter มาเป็นเวลาสี่ปีแล้ว และชีวิตก็แสนวิเศษ” 

ส่วน เลอ แมร์ กล่าวเสริมว่า “ผมยืนยันได้ว่าชีวิตจะดีมากถ้าไม่มี Facebook และเราจะอยู่ได้อย่างดีถ้าไม่มี Facebook”

บทความทัศนะโดย ไทยแลเทศ