posttoday

กรณียูเครน: ยุโรปแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันรบกับรัสเซีย

17 มกราคม 2565

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับกลุ่มนาโตต่อท่าทีของรัสเซียที่อาจรุกรานยูเครน ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสงครามขึ้นมา แต่รัสเซียมีไม้เด็ดที่ทำให้ยุโรปซึ่งเป็นสมาชิกหลักของนาโตต้องยอมศิโรราบทั้งๆ ที่ยังไม่ทันรบกัน

ว่ากันว่าสหรัฐจะไม่รุกรานหรือเข้าไปก้าวก่ายถ้าประเทศนั้นไม่มีน้ำมัน นี่เป็นคำพูดล้อกันเล่นแต่มีส่วนจริงอยู่บ้างแต่ไม่ทั้งหมด เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่จำเป็นหรอกว่าประเทศนั้นมีน้ำมันหรือไม่ ถ้ามันสมผลประโยชน์ สหรัฐก็จะเข้าไปยุ่มย่ามอยู่ดี

อย่างยูเครนก็ไม่ใช่เศรษฐีน้ำมัน มีแต่ทุ่งปลูกข้าวสาลีสุดลูกหูลูกตา แต่สหรัฐแย้มออกมาแล้วว่ากำลังพิจารณาส่งความช่วยเหลือให้กับกลุ่มติดอาวุธในยูเครนถ้าหากรัสเซียจะรุกรานยูเครนขึ้นมา จากการรายงานของ The New York Times

ในรายงานของ The New York Times เช่นกันได้สัมภาษณ์ เจมส์ สตาวริดิส (James Stavridis) นายพลเรือเกษียณอายุราชการชาวอเมริกันซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายพันธมิตรของนาโต (NATO) สตาวริดิสบอกว่าถ้ารัสเซียจะเข้ามายึดยูเครน สหรัฐก็จะใช้ยุทธวิธีเดียวกับที่เคยสนับสนุนกลุ่มมุญาฮิดีนในอัฟกานิสถานเพื่อต้านทานการรุกรานของสหภาพโซเวียตจนทัพโซเวียตต้องซวนเซถอนทัพกลับไปในทศวรรษที่ 80

เป็นเรื่องที่จะขำก็ขำไม่ออก เพราะสหรัฐเพิ่งจะซวนเซออกมาจากอัฟกานิสถานอยู่หมาดๆ นอกจากจะกำจัดตอลิบานไม่ได้แล้ว ยังถอนกำลังออกมาแบบถูลู่ถูกังจนหมดสภาพมหาอำนาจทางการทหารอันดับหนึ่ง

ยังไม่นับเรื่องที่กลุ่มมุญาฮิดีนในอัฟกานิสถานที่สหรัฐหนุนหลังให้ช่วยทำสงครามตัวแทนกับโซเวียตนั้น ต่อมาเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรู กลายร่างเป็นตอลิบานและอัลกออิดะห์ที่หันกระบอกปืนมาเล่นงานสหรัฐจนลากยาวเป็น "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" นานกว่า 2 ทศวรรษ

อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งตัวอย่างของการรุกรานของสหรัฐต่อประเทศที่ไร้น้ำมันแล้วกลับออกมาแบบมือเปล่าแถมเจ็บตัว

ดังนั้นเมื่อนายพลอเมริกันอ้างกลยุทธ์ที่กลายเป็นความล้มเหลวทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาแบบนี้ ทำให้เชื่อได้ยากว่าหากใช้อีกรอบกับ "อดีตโซเวียต" มันจะได้ผลจริงหรือ?

ยังไม่จบแค่นั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันยังฝันหวานว่าแผนการที่จะช่วยผู้ลุกฮือต้านรัสเซียในยูเครนอาจรวมถึงการฝึกกองกำลังในประเทศใกล้เคียงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปีกตะวันออกของนาโต คือ โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวาเกีย

ก่อนที่จะวางแผนทำสงครามบานปลายขนาดนั้น สหรัฐคงลืมนึกไปว่าสมาชิกนาโตจะเต็มใจทำตามแผนหรือไม่

เพราะแน่นอนว่านาโตพร้อมที่จะช่วยยูเครนและสกัดอิทธิพลรัสเซียก็จริง แต่การทำสงครามแม้แต่ทางอ้อมจะทำให้นาโตในยุโรปพบกับหายนะมากกว่า

ไม่ต้องอะไร รัสเซียขู่มาตลอดว่านาโตไม่พึงขยายสมาชิกใหม่ หากแสวงหาแนวร่วมเพิ่มเป็นได้เห็นดีกัน เพราะอะไร? ก็เพราะว่ายิ่งนาโตดึงประเทศรายล้อมรัสเซียมาร่วมด้วย ก็เท่ากับทำยุทธศาสตร์ล้อมรัสเซีย แล้วจะให้รัสเซียอยู่นิ่งๆ ได้หรือ?

แต่ไรมาแล้วตั้งแต่ยุคสภาพโซเวียต นาโตนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อต้านโซเวียต (ซึ่งก็คือรัสเซีย) แต่ดีที่ไม่ต้องเผชิญหน้า เพราะในเวลานั้นมีแนวกันชนคือยุโรปตะวันออกและเยอรมนีที่ถูกแบ่งเป็นตะวันตก-ตะวันออก รวมถึงฟินแลนด์และสวีเดนที่เป็นแนวกันชนทางตอนเหนือ

ทว่า นาโตดันล้ำเส้นโดยดึงเยอรมนีตะวันตกมาเป็นสมาชิก ทำกับทำลาย "แนวกันชน" โซเวียตก็ตอบโต้ด้วยการสร้างแนวร่วมกติกาสัญญาวอร์ซอ โดยดึงเยอรมนีตะวันออกมาร่วมด้วย จนกระทั่งไร้เส้นแบ่งกั้น พร้อมจะเผชิญหน้ากันตรงๆ ได้

กติกาสัญญาวอร์ซอจบลงไปแล้วหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่ทุกวันนี้รัสเซียและกลุ่มประเทศเอเชียกลางและยุโรปตะวันออกสองสามแห่งยังฟอร์มทีมกันเป็นองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) โดยที่สมาชิกกติกาสัญญาวอร์ซอในยุโรปตะวันออกหลายรายหันไปซบนาโต

ยูเครนก็เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกกติกาสัญญาวอร์ซอและต้องการจะเป็นสมาชิกนาโต แต่รัสเซียขวางไม่ให้ทำเช่นนั้น และนาโตก็ไม่กล้าหือ เพราะการดึงยูเครนเข้ามาร่วมนาโต เท่ากับทำลาย "แนวกันชน" แล้วเปิดหน้าชนกับรัสเซียโดยตรง

ดูเอาเถอะ แม้แต่ฟินแลนด์กับสวีเดนก็ยังออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พยายามดิ้นรนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต โดยเพกกา ฮาวัสโต รัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ย้ำเมื่อวันที่ 14 มกราคมว่า “ฟินแลนด์ไม่ได้หารือกับนาโตเรื่องการเข้าร่วม และฟินแลนด์ไม่มีโครงการที่จะทำแบบนั้นในเร็วๆ นี้ … นโยบายความมั่นคงของฟินแลนด์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง”

คำกล่าวนี้มีขึ้น 1 วันหลังรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแอนโทนี บลิงเคน บอกเป็นนัยในการให้สัมภาษณ์กับ MSNBC วันที่ 13 มกราคม ว่าฟินแลนด์ต้องการเข้าร่วมกับนาโต โดยที่ก่อนหน้านี้วันที่ 12 มกราคม โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เปสคอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่ารัสเซียจะมองว่าฟินแลนด์เข้าร่วมกับนาโต้ว่าเป็น "การกระทำที่แสดงถึงการเผชิญหน้า"

จะเห็นว่าหลังจากรัสเซียขู่ สหรัฐก็สวนกลับโดยยุยงให้ฟินแลนด์ร่วมนาโต (หรือที่จริงคือทำทีปล่อยข่าวว่าฟินแลนด์จะร่วมนาโต) ปรากฏว่าฟินแลนด์ไม่เล่นตามน้ำสหรัฐ แต่ "เกรงใจ" รัสเซียมากกว่า

ฟินแลนด์ไม่ได้มีแค่ฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างรัสเซียกับยุโรปตะวันตก แต่มีปัญหาทางประวัติศาสตร์กับรัสเสียมาเนิ่นนาน ทั้งเรื่องพรมแดน เรื่องการุกรานและรุกล้ำ เรื่องเชื้อชาติ และเอกราช เพราะฟินแลนด์เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียมาก่อน

ตราบใดที่รัสเซียไม่ก้าวร้าวใส่ ฟินแลนด์ก็อยากจะอยู่นิ่งๆ มากกว่า เช่นเดียวกับสวีเดนที่ถึงจะไม่มีพรมดินแดนติดกับรัสเซียแต่ก็ลังเลที่จะร่วมกับนาโต เพราะคงคำนวณแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสียเพราะเท่ากับสร้างศัตรูระดับยักษ์ขึ้นมาใกล้ๆ บ้านตัวเอง

สวีเดนมีส่วนใกล้กับรัสเซีย (คือใกล้กับคาลินินกราด จังหวัดที่เป็นเสี้ยวหนึ่งในเขตบอลติกนอกแผ่นดินใหญ่รัสเซีย) ดังนั้น แม้ว่าจะไม่เข้านาโต สวีเดนก็ต้องปกป้องตนเองด้วย โดยเสริมกำลังเข้าไปในก็อตแลนด์ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคาลินินกราด นัยว่าเพื่อป้องกันเรื่องที่คาดไม่ถึง (สวีเดนส่งทหารเข้าไปประจำการเกาะก็อตแลนด์ ตั้งแต่ปี 2008 หลังจากรัสเซียกับยูเครนและยุโรปตะวันตกมีเรื่องประทับกระทั่งกันมากขึ้น)

ฟินแลนด์กับสวีเดนไม่ใช่หมากชี้เป็นชี้ตาย ในทางประวัติศาสตร์แล้วทั้งสองประเทศพยายามรักษาความเป็นกลางมาโดยตลอด แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้นาโตพยายาม "ยุ" ให้ทั้งสองประเทศมาร่วมกับตนอย่างหนักขึ้น นอกจากบลิงเคนแล้ว ยังมีอันเดอร์ ฟอก ราสมุสเซน ชาวเดนมาร์กอดีตเลขาธิการของนาโตที่บอกเมื่อวันที่ 15 มกราคมว่า "ถ้าฟินแลนด์และสวีเดนสมัครเป็นสมาชิก เราสามารถตัดสินใจได้ในชั่วข้ามคืน"

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัสเซียด้วยว่าจะก้าวร้าวแค่ไหน หากก้าวร้าวในขนาดรุกรานยูเครนขึ้นมา ประเทศเป็นกลางก็คงอยู่เฉยไม่ได้ เพราะเห็นแล้วว่ารัสเซียไม่เกรงใจใคร ใครๆ ก็ไม่ควรเกรงใจรัสเซียอีก

แต่คำว่า "อยู่เฉยไม่ได้" ก็ไม่ได้หมายความจะมีปฏิกริยาทันที เราต้องรอดูกันต่อไปว่าจะตอบโต้รัสเซียในระดับไหน เราเห็นแล้วว่าฟินแลนด์กับสวีเดนไม่ยอมคล้อยตามลูกยุของนาโต แม้แต่สมาชิกนาโตระดับเบ้งๆ อย่างเยอรมนีพยายามเบี่ยงเบนการเผชิญหน้า กระทั่งถูกยูเครนตราหน้าว่าพยายามขัดขวางการขายปืนไรเฟิลต่อต้านอากาศยาน, ระบบต่อต้านสไนเปอร์ผ่านนาโตและเอเย่นอาวุธอื่นๆ ให้กับยูเครน

โอเล็กเซ เรซนิคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของยูเครนกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า “พวกเขายังคงสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 และในขณะเดียวกันก็ปิดกั้น [การซื้อ] อาวุธป้องกันของเรา สิ่งนี้ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง”

Nord Stream 2 คือท่อส่งก๊าซของรัสเซียที่ไหลผ่านทะเลบอลติกไปยังเยอรมนี มันคือเส้นทางเลือกที่จะไม่ผ่านยูเครน เพราะในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมารัสเซียมีปัญหากับยูเครนเรื่องท่อส่งก๊าซมาโดยตลอด

รัสซียนั้นเป็นทั้งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่แต่ที่ใหญ่กว่าคือมหาอำนาจก๊าซธรรมชาติ ก๊าซที่รัสเซียขายมีลูกค้ารายใหญ่คือยุโรปตะวันตกถึงขนาดที่ว่า "ขาดก๊าซเหมือนขาดใจ" โดยเฉพาะเยอรมนีนั้นยอมอะลุ่มอล่วยกับรัสซียมาโดยตลอดเพราะพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียนั่นเอง

เผอิญว่าก๊าซที่รัสเซียส่งไปยังยุโรปตะวันตกต้องผ่านยูเครนหรือประเทศยุโรปตะวันออกบางประเทศที่ไม่ค่อยถูกกับรัสเซีย (แม้จะเคยเป็นพันธมิตรกติกาสัญญาวอร์ซอมาก่อน แต่หลังเป็น "เอกราช" แล้วพากันชิงชังรัสเซียอย่างมาก เพราะเคยถูกข่มมาก่อนสมัยสหภาพโซเวียต)

ยูเครนมีเรื่องกับรัสเซียเรื่องท่อส่งก๊าซหลายครั้งและหลายเหตุผล รวมถึงความขัดแย้งเรื่องดินแดน การทะเลาะกันของทั้งคู่ทำให้ยุโรปกลุ้มใจเพราะก๊าซจะตกไม่ถึงมือ ทำให้ขาดแคลนพลังงาน

ความขัดแย้งล่าสุด ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในสหภาพยุโรปเมื่อปีที่แล้วได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 800% นับตั้งแต่ต้นปีจากข้อพิพาทเรื่องท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 และกรณีพิพาทอื่นๆ

และมาปีนี้เมื่อการเจรจาระหว่างรัสเซียกับสหรัฐคว่ำไม่เป็นท่า ราคาก๊าซก็พุ่งขึ้นมา 25% เมื่อวันที่ 14 มกราคม

บางคนยังมองว่าราคาก๊าซคืออาวุธที่รัสเซียใช้จ่อคอหอยยุโรปไม่ให้ซ่าไปกว่านี้ แม้แต่ฟาติห์ บิรอล กรรมการบริหารของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ยังต่อว่ารัสเซียว่าฉวยโอกาสใช้วิกฤตการเมืองระหว่างประเทศบีบอุปทานเพื่อปั่นราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงที่ยุโรปต้องการก๊าซมากในฤดูหนาว

เขาเชื่อว่า Gazprom รัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติของรัสเซียต้องกักอุปทานแน่นอน และทำให้ราคาสูงขึ้นแต่รัสเซียอ้างสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครน

อันที่จริงว่ากันแฟร์แล้ว ต่อให้รัสเซียกักอุปทานก๊าซจริง รัสเซียก็มีเหตุผลที่จะใช้ก๊าซเป็นอาวุธกับยุโรปซึ่งแสดงท่าทีเป็นศัตรูกับรัสเซียอย่างออกนอกหน้า

สหรัฐจึงต้องมาเป็นแบ็คอัพให้ยุโรป โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐ 2 รายและแหล่งอุตสาหกรรม 2 แห่งบอกกับรอยเตอร์เมื่อวันที่ 14 มกราคมว่า รัฐบาลสหรัฐได้จัดการเจรจากับบริษัทพลังงานระหว่างประเทศหลายแห่งเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินในการจัดหาก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนขัดขวางอุปทานก๊าซจากรัสเซีย

แน่นอนว่ามันช่วยยันสถานการณ์ไว้ได้ แต่เอาเข้าจริงมันช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

จนถึงตอนนี้ เราจะเห็นแค่สมาชิกนาโตที่อยู่ไกลจากจุดขัดแย้งเท่านั้นที่เคลื่อนไหวก้าวร้าวกับรัสเซียมากกว่าพวกที่อยู่ใกล้ๆ เช่น สหรัฐที่คอยยุและขู่ไม่หยุด

อดัม ชิฟฟ์ ประธานคณะกรรมการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐถึงกับเชื่อว่ารัสเซียจะบุกยูเครน "แน่ๆ"

แต่โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เปสคอฟ ต่อคำถามว่ารัสเซียจะบุกยูเครนหรือไม่นั้น เขาตอบด้วยคำสั้นๆ ว่า "บ้าชัดๆ "

ใครพูดจริงพูดโกหก ใครมั่วใครถูก อนาคตเท่านั้นที่จะตัดสิน

รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดาที่จะเดินทางไปเยือนยูเครนด้วยตัวอง แล้วบอกก่อนเดินทางว่า "แคนาดาจะทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศที่หลักนิติรัฐ"

ทั้งสหรัฐและแคนาดานั้นทำเป็นออกหมัดชกลมขู่ได้ เพราะไม่ได้อยู่บนเวทีกับเหมือนยุโรปที่ถูกผลักขึ้นไปเจอกับระดับเฮฟวี่เวทโดยตรง ยิ่งแคนาดานั้นระยะหลังทำตัวเลียนแบบตำรวจโลกกับครูสอนศีลธรรมโลกเหมือนสหรัฐขึ้นมาทุกที

ลองทั้งสองประเทศต้องพึ่งก๊าซจากรัสเซีย จะไม่แสดงอาการยั่วยุให้ชาวบ้านชกกันแบบนี้

สถานการณ์แบบนี้การยั่วยุเป็นสิ่งอันตรายอย่างมาก ขณะที่ชาติตะวันตกพยายามโน้มน้าวให้โลกเชื่อให้ได้ว่ารัสเซียจะยูเครน (อ้างว่าปูตินมีปัญหาภายในต้องการกลบเกลื่อนและมีปมเรื่องการขยายดินแดน) แต่การก่อความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามโลกแบบนี้่ไม่คุ้มอย่างมากกับทุกฝ่าย

รัสเซียนั้นกล่าวหาว่ายูเครนและนาโตสะสมกำลังทหารยั่วยุก่อน หลังจากนั้นรัสเซียจึงต้องตอบโต้ด้วยการส่งทหารนับแสนนายไปที่พรมแดนยูเครน

เรื่องนี้มีส่วนจริงเพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานาโตและสหรัฐเคลื่อนไหวทางการทหารในประเทศสมาชิกใกล้พรมแดนรัสเซียอย่างมาก เช่น โปแลนด์ รวมถึงความวุ่นวายในเบลารุสที่เป็นแนวกันชนของรัสเซีย รัสเซียก็มองว่าชาติตะวันตกแทรกแซงเข้ามาเพื่อจะ "กลืน" บาลารุส

แต่สถานการณ์จะนำไปสู่สงครามหรือไม่? สำหรับผู้เขียนคิดว่าอาจจะไม่ อย่างน้อยยุโรปจะไม่ยอมให้เกิดเรื่องแบบนั้น เพราะตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

ย้อนไปในเดือนพฤศจิกายนปีกลาย ดมิทรี โปลียันสกี (Dmitry Polyansky) ผู้ช่วยทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติกับคำถามว่าจะบุกยูเครนหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่เคยวางแผน ไม่เคยทำ และจะไม่ทำมัน เว้นแต่เราจะถูกยูเครนหรือคนอื่นยั่วยุ” และบอกว่า “และอย่าลืมว่าเรือรบอเมริกันรอบๆ ทะเลดำนั้นแสดงท่าทีเข้ามาใกล้มาก”

ถูกต้อง ขณะที่โลกตะวันตกประโคมว่ารัสเซียสั่งสมกำลังทหาร ชาติตะวันตกก็ส่งกองเรือไปยั่วรัสเซียถึงถิ่นไม่หยุด ทั้งในทะเลดำ ทะเลบอลติก ไหนจะมีระบบป้องกันขีปนาวุธและส่งกองทหารในประเทศยุโรปตะวันออกแบบที่ใครเห็นก็รู้ว่เอาไว้ขู่ใคร

พอรัสเซียเอาจริงขึ้นมา นาโตจึงมีทั้งฝ่ายหวั่นๆ กับฝ่ายที่ท้าทายไม่เลิกว่า "ก็เอาสักตั้งสิวะ" แล้วปั่นเรื่องยูเครนให้เป็นชนวนบานปลาย

ดังนั้นระเบิดลูกนี้หรือจะตูมขึ้นมาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าบางประเทศจะทำให้ยูเครนหมดสถานะรัฐกันชนแล้วลากมาเป็นสมาชิกนาโตหรือไม่

หากทำเช่นนั้นนั้นสงครามจะเกิดขึ้นสมใจบางประเทศ

โดย กรกิจ ดิษฐาน

REUTERS/Evgenia Novozhenina