posttoday

สรุปอีกครั้ง Pfizer-Astra-Moderna เอา Omicron อยู่แค่ไหน

30 ธันวาคม 2564

รวมบทวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer-Astra-Moderna และเข็มกระตุ้นว่าป้องกันโอมิครอนได้แค่ไหน

เว็บไซต์ The Independent ของอังกฤษรวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer-BioNTech, AstraZeneca และ Moderna ทั้งแบบ 2 เข็มและเข็มกระตุ้นว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ได้มากน้อยเพียงใด

วัคซีนมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่

ข้อมูลล่าสุดจากการวิเคราะห์ของสำนักงานคามมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) บ่งชี้ว่า วัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแบบแสดงอาการ เนื่องจากมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มผู้ที่ฉีดเข็มกระตุ้นพบว่าการปกป้องยังอยู่ที่ 70% ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้เร็วที่สุด

ผลการวิจัยก่อนหน้านี้จากศูนย์วิจัยการติดเชื้อเยอรมันพบว่า ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนของ Pfizer-BioNTech, AstraZeneca และ Moderna ต่อโอมิครอนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทว่า วัคซีน 2 เข็มยังป้องกันอาการรุนแรงได้

อูช์ ชาฮิน (Ugur Sahin) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท BioNTech ของเยอรมนีเผยว่า “วัคซีน 2 เข็มอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ เรารู้ว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้ T-cells (เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่หลักในการเป็นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและคอยกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส) จดจำไวรัสไประยะหนึ่ง ซึ่งป้องกันอาการรุนแรง”

ในการบรรยายสรุปครั้งแรกอย่างเป็นทางการจากบรรดาผู้ผลิตวัคซีนถึงประสิทธิภาพของวัคซีนต่อโอมิครอน ชาฮินเผยว่า การเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นสิ่งที่ควรทำ และแนะนำว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถชดเชยประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีนเมื่อต้องเจอกับโอมิครอน

การวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากสถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกาในแอฟริกาใต้ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. พบว่า แอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีน Pfizer-BioNTech 2 เข็มลดลง 41 เท่าเมื่อเจอโอมิครอน ทว่าหากเคยติดเชื้อมาก่อน แล้วฉีดวัคซีนหรือฉีดเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มระดับการลบล้างฤทธิ์ของเชื้อและปกป้องอาการรุนแรงจากโอมิครอนได้

วัคซีนบางชนิดมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนชนิดอื่นหรือไม่

การวิจัยเล็กๆ ซึ่งศึกษาตัวอย่างเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนของ Pfizer-BioNTech 12 คนชี้ว่า โอมิครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ได้มากกว่าเดลตา

ส่วน Moderna ยังไม่เผยแพร่ข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อต้องเจอกับโอมิครอน แต่ สตีเฟน โฮก ประธานบริษัทเผยกับ ABC News เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ว่า มีโอกาสที่วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันจะเอาไม่อยู่เมื่อต้องเจอกับโอมิครอน “ผมคิดว่ามีความเสี่ยงสูงที่ประสิทธิภาพของวัคซีนจดลดลง สิ่งที่ผมยังไม่รู้คือมัจะลดลงมากน้อยแค่ไหน”

จะมีวัคซีนสำหรับโอมิครอนโดยเฉพาะมั้ย

บรรดาผู้ผลิตวัคซีนบอกว่าพวกเขาจะเดินหน้าต่ออย่างเต็มกำลังกับแผนกับพัฒนาวัคซีนสำหรับโอมิครอน ซึ่งน่าจะออกมาภายในเดือน มี.ค. 2022 หากจำเป็น

Pfizer บอกว่า หากจำเป็นบริษัทสามารถผลิตวัคซีนสำหรับโอมิครอนโดยเฉพาะภายในเวลาราว 100 วัน

ในเรื่องเดียวกันนี้ชาฮินบอกว่า “เรากำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการปรับวัคซีนซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มระดับการปกป้องโอมิครอนและคงอยู่ยาวนานขึ้นเมื่อเทียบกับวัคซีนในขณะนี้”

ขณะที่ พอล เบอร์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของ Moderna เผยก่อนหน้านี้ว่า Moderna น่าจะใช้เวลา 3 เดือนในการผลิตวัคซีนเฉพาะสำหรับโอมิครอน

ส่วน Johnson & Johnson ซึ่งกำลังทดลองวัคซีนสำหรับโอมิครอน มาไท แมมเมน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทเผยว่า “เราเริ่มลงมือออกแบบและพัฒนาวัคซีนใหม่สำหรับโอมิครอน และจะเร่งศึกษาวิจัยทางคลินิกหากจำเป็น” โดยยังไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนในการพัฒนาวัคซีนได้

AstraZeneca ยังไม่เปิดเผยว่าจะพัฒนาวัคซีนสำหรับโอมิครอนหรือไม่ อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ ซาราห์ กิลเบิร์ต จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดซึ่งช่วยในการคิดค้นวัคซีนของ AstraZeneca เผยว่า วัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่ว่าจะของเจ้าไหนก็ตาม อาจทำได้ไม่ดีนักเมื่อต้องเจอโอมิครอน

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration