posttoday

บริษัทในฝัน เสนอวันลาไม่จำกัดป้องกันพนักงานหมดไฟ

23 พฤศจิกายน 2564

หลายบริษัทต้องเพิ่มวันลาแก้ปัญหาพนักงานหมดไฟในช่วง Work From Home

บริษัท FinnCap Group วาณิชธนกิจจากลอนดอนจะอนุญาตให้พนักงานลาพักร้อนได้อย่างไม่จำกัดในปีหน้า และไม่ลดค่าตอบแทน โดยหวังว่าจะสามารถป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout) ของพนักงานได้

หลังผ่านพ้นปีแห่งการเจรจาทางการเงินท่ามกลางตลาดทุนที่เฟื่องฟูซึ่งทำให้พนักงานต้องทำงานหนักต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน บริษัทจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้พนักงานสามารถลางานได้มากเท่าที่ต้องการ

แซม สมิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท FinnCap กล่าวว่าบริษัทกำลังเปลี่ยนนโยบายให้พนักงานสามารถลางานได้อย่างไม่จำกัดตั้งแต่ปี 2022 โดยระบุว่าพนักงานทุกคนเหนื่อยมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและพวกเขาไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนเท่าที่ควร

ขณะที่บริษัทสังเกตว่าพนักงานมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี เมื่อต้องติดต่องานด้วย Zoom และทำงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน ทำให้พนักงานมีอาการเบื่อหน่ายและหมดไฟรวมถึง "เส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตไม่ชัดเจน" ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของพนักงานด้วย บริษัทจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีปฏิบัติในการทำงาน

"เราจะไม่มีวันลาสูงสุด มีแต่วันลาขั้นต่ำที่คุณต้องใช้" แซมกล่าวโดยชี้ว่าแผนการเบื้องต้นของนโยบายใหม่นี้จะกำหนดให้พนักงานต้องใช้วันลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ต่อปี และ 2 ถึง 3 วันต่อไตรมาส นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป

โดยบริษัทได้จัดทำรายการกิจกรรมต่างๆ ที่พนักงานสามารถทำได้โดยไม่นับรวมอยู่ในวันลาพักร้อน ได้แก่ การกับปัญหาในบ้าน อาทิ ดูแลพ่อแม่ที่ป่วย ดูแลบุตรหลาน พาสัตว์เลี้ยงไปหาหมอ หรือจัดการกับช่างที่มาซ่อมแซมบ้าน ซึ่งแซมมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรนับรวมอยู่ในวันลาของพนักงาน และหากพนักงานจำเป็นต้องทำงานในช่วงวันหยุด พวกเขาควรได้รับวันหยุดชดเชย

แซมเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความตึงเครียดของพนักงานทั้ง 155 คนของ FinnCap ในช่วงเวลาที่ตลาดทุนมีงานยุ่งมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

"ภาวะหมดไฟไม่สามารถแก้ไขด้วยวันหยุดเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่มันต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างเหมาะสม" แซมกล่าว

ทั้งนี้ FinnCap รายงานรายรับในช่วง 6 เดือนถึงวันที่ 30 ก.ย. อยู่ที่ 31.7 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์และเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 55% ขณะที่กำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 7.2 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 67% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ระยะหลังมานี้นโยบายเพิ่มวันลาอย่างไม่จำกัดโดยไม่ลดค่าตอบแทนได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี แต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในบริษัทด้านการเงิน

เมื่อต้นปีนี้ Nike, LinkedIn และแอปพลิเคชันหาคู่ Bumble ปิดสำนักงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้พนักงานทุกคนได้หยุดพัก และบรรเทาความเครียดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการทำงานที่บ้าน

นอกจากนี้ Bumble ยังมีนโยบายให้มีวันหยุดยาวทั้งบริษัทปีละ 2 ครั้ง และพนักงานมีสิทธิลาได้ไม่จำกัด โดยตาริก เชาคัต ประธานบริษัทกล่าวว่าพนักงานเริ่มมีภาวะหมดไฟและความเหนื่อยล้าจากการทำงานผ่าน Zoom และการทำงานที่บ้านทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

ด้านบริษัท CitiGroup กล่าวเมื่อต้นเดือนมี.ค. ว่าจะมี "วันศุกร์ที่ไม่มี Zoom" ขณะที่ PricewaterhouseCoopers (PwC) และ Deloitte กล่าวว่าพนักงานสามารถเลือกได้ว่าพวกเขาจะทำงานเมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร

อย่างไรก็ตามมีหลักฐานว่าพนักงานไม่กล้าใช้สิทธิในการกำหนดวันลาด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ โดยบริษัทซอฟต์แวร์ CharlieHR ซึ่งเคยมีนโยบายที่คล้ายกันนี้ต้องเพิกถอนนโยบายดังกล่าวเพราะมันสร้างความวิตกกังวลไม่น้อย

เบ็น เกตลี ซีอีโอของ CharlieHR เผยว่าพนักงานมักถามถึงแนวทางและข้อกำจัดในการกำหนดวันลาอยู่เสมอ พวกเขาไม่กล้าลา และไม่แน่ใจว่าควรมีวันลากี่วันกันแน่ แต่ความจริงคือมันไม่มีจำกัดจริงๆ

ที่มา: Bloomberg, BBC, The Guardian

ภาพ: Loic VENANCE / AFP