posttoday

ทำไมลิทัวเนียหักจีน? กับชนวนสงครามเย็นจีน-สหรัฐในยุโรป

21 พฤศจิกายน 2564

ไต้หวันเป็นเหตุ จีดลดสัมพันธ์ลิทัวเนีย สหรัฐเข้าเสียบแทน มันเกิดอะไรขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างลิทัวเนีย จีน ไต้หวัน และสหรัฐ?

1. ลิทัวเนียเคยเสียเอกราชและถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน แต่ทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ต่างไม่ยอมรับการผนวกลิทัวเนียเข้ากับสหภาพโซเวียต จนกระทั่งลิทัวเนียได้รับเอกราชอีกครั้งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในปี 1992 จึงมีการเปิดสถานทูตของสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในกรุงวิลนีอุส และในปี 1995 สถานทูตลิทัวเนียได้ก่อตั้งขึ้นในกรุงปักกิ่ง

2. จนกระทั่งเข้าสู่ยุค "สงครามการค้า" และ "สงครามเย็นครั้งใหม่" ระหว่างจีนกับสหรัฐ ความสัมพันธ์ของจีนและลิทัวเนียก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเล็กๆ อย่างลิทัวเนียจะลุกขึ้นมาท้าทายจีนอยย่างตรงไปตรงมา ในช่วงเวลาประเทศที่ใหญ่กว่าและทรงอิทธิพลมากกว่าในยุโรป "โอ๋จีน"ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ

3. ความสัมพันธ์ของลิวทัวเนีย-จีน สั่นคลอนอย่างหนัก ในเดือนมิถุนายน 2020 ลิทัวเนียคัดค้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงอย่างเปิดเผยในแถลงการณ์ที่มีไปถึงที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2021รัฐสภาลิทัวเนียยังได้ผ่านมติที่ยอมรับการว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์และเรียกร้องให้รัฐบาลของจีนเพิกถอนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง

4. ทางการจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำนักการมืองลิทัวเนียบางคน แต่สถานการณ์ยิ่งเสื่อมทรามลงไปเมื่อกรณีไต้หวันเข้ามาพัวพัน ในเดือนสิงหาคม 2021 รัฐบาลไต้หวันได้เปิดสำนักงานตัวแทนในกรุงวิลนีอุสภายใต้ชื่อ "ไต้หวัน" ซึ่งเป็นสำนักงานผู้แทนไต้หวันแห่งแรกภายใต้ชื่อนี้ในยุโรป และสำนักงานลิทัวเนียในไทเปจะเปิดทำการภายในสิ้นปี 2021

5. นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากเพราะเพื่อธำรงนโยบาย "จีนเดียว" นานาประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไต้หวันที่อนุญาตให้มีสำนักงานผู้แทนของไต้หวันได้นั้นจะต้องใช้ชื่อสำนักงานว่า "ไทเป" (เช่น สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย) การใช้ชื่อไต้หวันแทนไทเปบ่งชี้ถึงความเป็นเอกเทศและเอกราชของไต้หวัน และยิ่งทำให้สถานะของ "สำนักงานไทเป" เป็นสถานทูตโดยพฤตินัยของไต้หวันมากขึ้น ซึ่งจีนยอมรับไม่ได้

6. เพื่อเป็นการตอบโต้ ในเดือนสิงหาคม จีนได้เรียกตัว เซินจื้อเฟย เอกอัครราชทูตของจีนในวิลนีอุสกลับประเทศ และเรียกร้องให้ลิทัวเนียเรียกคืนเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง คือ ดิอานา มิกเควิเชียเน กลับประเทศไป ซึ่งนทางปฏิบัติเท่ากับเป็นการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตนั่นเอง นอกจากนี้การค้าระหว่างสองประเทศก็หยุดชะงักลงอย่างรุนแรงเช่นกัน

7. ไต้หวันเปิดสถานทูตโดยพฤตินัยในลิทัวเนียในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน โดยกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันกล่าวว่าการเปิดสำนักงานจะ "เป็นการเปิดศักราชใหม่และนวทางอันมีความหวัง" สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับลิทัวเนีย

8. แน่นอนว่าจีนมีปฏิกริยาที่รุนแรง กระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็น "การแทรกแซงที่หยาบคาย" ต่อกิจการภายในของประเทศจีน และกล่วว่า “ฝ่ายลิทัวเนียมีหน้าที่รับผิดชอบต่อผลที่ตามมาทั้งหมดที่เกิดขึ้น” แถลงการณ์ระบุยังระบุว่า “เราเรียกร้องให้ฝ่ายลิทัวเนียแก้ไขการตัดสินใจที่ผิดพลาดทันที”

9. จ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนจะใช้ "มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด" เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ หลังจากที่ลิทัวเนียอนุญาตให้ไต้หวันเปิดสถานทูตโดยพฤตินัย และกล่าวว่า "ลิทัวเนียต้องโทษตัวเองเท่านั้น และจะต้องชดใช้ในสิ่งที่ทำลงไป"

10. ในทันที วันเดียวกันนั้น (18 พฤศจิกายน) ลิทัวเนียก็ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอยางไม่มีรีรอ โดย เอารีเน อาร์โมทไนเท รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของลิทัวเนียกล่าวกับรอยเตอร์หลังจากได้รับคำเตือนจากจีนว่าลิทัวเนียจะลงนามในข้อตกลงสินเชื่อเพื่อการส่งออกมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐ

11. ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแอนโทนี บลินเกน ได้พูดคุยกับกาเบรียลเลียส ลันด์สแบร์กิส รัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนียเมื่อเดือนสิงหาคม และตกลงใน "การดำเนินการประสานงานระดับทวิภาคี" เพื่อช่วยให้ประเทศทนต่อแรงกดดันจากจีน

12. “เราคิดว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัฐประชาธิปไตยนั้นมีเสถียรภาพและยั่งยืนมากกว่า ความสัมพันธ์แบบนี้ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม ดังนั้นความสัมพันธ์แบบนี้จึงตอบสนองผลประโยชน์ของลิทัวเนียได้ดีขึ้น” ลันด์สแบร์กิส กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวิลนีอุสเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน

13. วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน อุซรา เซยา รัฐมนตรีช่วยวาการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวหลังการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนียในการแถลงข่าวในกรุงวิลนีอุสว่า “เราปฏิเสธความพยายามของประเทศอื่นที่จะเข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจของอธิปไตยของลิทัวเนียในการกระชับความร่วมมือกับไต้หวันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” และ "เราขอยืนยันอีกครั้งว่าเราสนับสนุนหุ้นส่วนและพันธมิตรของ NATO และสหภาพยุโรปอันทรงคุณค่าของเรา"

14. วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน กระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการฑูตกับลิทัวเนียอย่างเป็นทางการเป็นระดับ "charge d'affaires" (อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูต กล่าวว่า “รัฐบาลจีนต้องลดความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสองประเทศ… เพื่อปกป้องอธิปไตยและบรรทัดฐานพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

15. จีนยังเตือนอีกครั้งว่า “รัฐบาลลิทัวเนียต้องรับผลที่ตามมาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากสิ่งนี้” ถ้อยแถลงระบุ และเสริมว่า การกระทำของลิทัวเนีย “สร้างแบบอย่างที่ไม่ดีในเวทีระหว่างประเทศ”

16. วันเดียวกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนียกล่าวในแถลงการณ์ว่า "เสียใจ" ที่จีนตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการฑูตโดยกล่าวว่า “ลิทัวเนียยืนยันการยึดมั่นในนโยบาย 'จีนเดียว' แต่ในขณะเดียวกันก็มีสิทธิที่จะขยายความร่วมมือกับไต้หวัน” รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานที่ไม่ใช่ทางการทูต

Photo by PETRAS MALUKAS / AFP