posttoday

เมื่อคนจีนถูกปั่นให้ตื่นสงคราม จับสัญญาณความหวาดผวา

04 พฤศจิกายน 2564

การถูกขังในประเทศเพราะมาตรการคุมโควิดที่เข้มงวด การปั่นกระแสชาติและนิยมและศัตรูภายนอกกำลังทำให้เกิด panic ย่อมๆ ในหมู่คนจีนที่เริ่มตระหนัก (หรือกลัว) ภัยสงคราม

ประเทศต่างๆ หันมาใช้วิธีอยู่ร่วมกับโควิด ให้มันติดก็ติดไป เพราะฉีดวัคซีนครอบคลุมมากแล้ว ถึงจะติดแต่โอกาสตายน้อยลงมาก

สิงคโปร์เป็นหัวหอกวิธีนี้ แม้ว่าจะมียอดติดและยอดตายเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลบอกว่าไม่เกินความคาดหมาย เพราะระบบสาธารณสุขไม่ล้น

คีย์เวิร์ดจึงอยู่ตรงที่ติดได้ติดไป มนุษย์จะแข่งกับไวรัสด้วยวัคซีนจนกว่ามันจะถอยไปเอง

แต่จีนไม่ยอมใช้วิธีแบบนี้ แม้เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์จงหนานซาน ผู้เป็นวีรบุรุษชุดกาวน์ของชาวจีนก็ยังบอกว่าจีนแบกรับแนวทางอยู่ร่วมกับโควิดไม่ไหว

ดูจากจำนวนประชากรจีนแล้วก็น่าจะแบกไม่ไหว ขนาดตอนนี้ใช้วิธีปิดประเทศแบบไม่มีกำหนด อัตราการติดเชื้อก็ยังรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่พบการระบาดที่อู่ฮั่น

การกล่าวของจงหนานซานยังมีเป็นไปได้ว่าจีนอาจจะรอผลการทดลองของชาติอื่นๆ ก่อนว่าเวิร์กไหม

แต่ผู้เขียนคิดว่าจีน "อาจจะ" เริ่มคลายมาตรการหลังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ในอีกไม่นานฮ่องกงกับจีนก็จะเริ่มเปิดกันเองแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นการทดลองเป็นขั้นๆ

จีนนั้นอาจจะใช้ฮ่องกงเป็นหนูทดลองด้วยซ้ำ

ฮ่องกงนั้นถูกภาคธุรกิจต่างชากดดันให้เปิดเมืองเสียที เพราะค้าขายอะไรลำบากหากใช้ยุทธวิธีขังตัวเองแบบจีน คนในฮ่องกงเองก็กลัวว่าถ้าขังตัวเองแบบนี้จะสูญเสียสถานะศูนย์ธุรกิจ/การเงิน

แต่คนใหญ่คนโตของฮ่องกงดูเหมือนจะยอมแลกสถานะศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกกับการใช้ยุทธศาสตร์ Zero-case ไม่รู้ว่าเพราะกลัวติดเชื้อในวงกว้าง หรือเพราะถูกกดดันจากจีนให้ใช้วิธีนี้เพื่อทดลองเปิดเมืองกันเองก่อน

มีช่วงหนึ่งที่ฮ่องกงกังวลว่าจะไล่ตามไม่ทันสิงคโปร์ที่ใช้วิธีอยู่ร่วมกับโควิด ทั้งคู่แย่งกันเป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชีย แน่นอนว่าสิงคโปร์ชิงความได้เปรียบไปแล้ว

แต่น่าแปลกที่ผู้บริหารบ้านเมืองฮ่องกงไม่ได้เดือดร้อนเรื่องที่ถูกสิงคโปร์ช่วงชิงฐานะนำไป แถมยังย้ำว่าการเปิดพรมแดนกับจีนเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด

ราวกับว่าตอนนี้ฮ่องกงต้องพึ่งพาจีนไม่ได้พึ่งพาโลกภายนอกอีก แน่นอนว่า ธุรกิจต่างชาติในฮ่องกงรู้สึกสิ้นหวัง คนในฮ่องกงก็เริ่มทนไม่ไหว ในอนาคตภาวะสมองไหลจะเกิดหนักขึ้น

ฮ่องกงกับจีนนั้นมีมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดที่สุดในโลก การเข้าจีนนั้นต้องติดแหงกกับการกักตัวนานถึง 21 วัน

แม้แต่สีจิ้นผิงเอง ก็ยังไม่ได้ออกจากประเทศนานถึง 21 เดือนแล้ว ถึงขนาดไม่ได้ไปร่วมประชุม COP26 เป็นเหตุให้โจ ไบเดนแซะเอา

ผู้เขียนเชื่อว่าการขังตัวเองของจีนยังมีนัยทางการเมืองด้วย มันอาจเป็นการเตรียมการรับสถานการณ์ "ที่คาดหมายได้ แต่อาจเกิดแบบเหนือความคาดหมาย" นั่นคือการปะทะกันในลักษณะสงคราม

เรื่องนี้อาจฟังดูเพ้อเจ้อไปหน่อยสำหรับบางคน แต่ผู้เขียนเคยชี้ให้เห็นหลายครั้งแล้วว่ามีปฏิกิริยาเรื่องภัยสงครามจากทั้งโลกตะวันตกและในจีนเอง แม้มันจะเกิดได้ยาก แต่มันมีเหตุให้คนจีนตื่นตระหนกกันบางแล้ว เพราะมาตรการของภาครัฐหลายอย่างชวนให้คิดไปแบบนั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้เมืองจี่หนานในมณฑลซานตงส่งถึงยังชีพยามฉุกเฉินเตรียมพร้อมกับการป้องกันพลเรือนให้กับ 10,000 ครัวเรือนในเมือง เรื่องนี้ทำให้เกิดความแตกตื่นไม่น้อย ชาวเน็ตจีนบางคนโยงว่าน่าจะเกี่ยวกับความตึงเครียดกับไต้หวัน

เพียงแต่มันไม่สมเหตุผลตรงที่ถุงยังชีพฉุกเฉินมีแค่ 10,000 ถุง แถมจี่หนานยังเป็นเมืองชั้นในไม่ใช่เมืองชายฝั่งชั้นนอกที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ ทำให้น่าสงสัยว่าทำไปทำไม เพื่อซักซ้อม หรือเพราะตื่นตระหนก?

ในภายหลังมีชาวเน็ตที่น่าจะเป็นคนท้องถิ่นเผยว่าทางจี่หนานเคยแจกแบบนี้มาแล้ว และต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยว่าสิ่งที่ของที่มอบให้ประชาชนตอนนี้ก็เคยแจกแบบปีที่แล้ว

และไม่ใช่แค่จี่หนาน สื่อจีนคือ The Paper หรือ "เผิงไพ่ ซินเหวิน" รายงานว่าเฉิงตูแจกแบบนี้มาหลายปีแล้ว ทั้งหนานจิง อู่ฮั่นก็แจกถุงยังชีพเตรียมกับการโจมตีทางอากาศ

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแตกตื่นในกรณีจี่หนาน ก็เพราะคนมีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน

อันที่จริงแล้วการแจกถุงยังชีพฉุกเฉินยามสงครามก็สะท้อนความเตรียมพร้อมของจีนที่ตระหนักถึงภัยคุกคาามต่อตนอยู่ตลอดเวลา ดังที่คณะกรรมาธิการเขตตงปู้ซินชวีของเฉิงตูอธิบายกับชาวเน็ตว่า การแจกถุงยังชีพก็เพื่อปรับปรุงความตระหนักของประชาชนในเรื่องการป้องกันประเทศและความพร้อมในการป้องกันการโจมตีทางอากาศ

ประเทศที่ซ้อมรับการโจมตีทางอากาศถี่ขนาดนี้ ยกเว้นจีนแล้วก็มีเกาหลีใต้ที่มักซ้อมเป็นประจำในกรุงโซล เพื่อรับการโจมตีกับเกาหลีเหนือเนื่องจากสงครามยังไม่ยุติเป็นเพียงการหยุดยิงเท่านั้น

นอกจากถุงยังชีพเจ้าปัญหาตามภูมิภาคต่างๆ ส่วนกลางยังทำให้ตื่นตระหนกด้วย เมื่อกระทรวงพาณิชย์จีนมีโนติซแนะให้ประชาชนตุนข้าวของจำเป็น "เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการประจำวันและสถานการณ์ฉุกเฉิน"

เพียงแค่นี้ทำให้คนจีน (อย่างน้อยก็ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก) ตื่นว่าประเทศกำลังจะเกิดสงครามขึ้นหรืออย่างไร ในภายหลังจึงเข้าใจว่าเป็นการแนะนำให้รับกับสถานการณ์การระบาดที่อาจหนักขึ้น บวกกับภาวะผักแพงที่เกิดจากน้ำท่วมใหญ่ไม่กี่เดือนก่อน ทำให้ตอนนี้ในเมืองจีนเนื้อมีราคาถูกกว่าผัก

ร้านของชำบางแห่งในจีนต้องวิงวอนลูกค้าว่าอย่ารีบตุน เพราะตุนไปก็กินไม่หมด ทางร้านกำลังได้ซัพพลายสินค้ามา หากซัพพลายมาถึงแล้วคนไม่ซื้อเพราะตุนไว้แล้ว ร้านก็จะลำบาก คนซื้อก็ใช้เงินเปล่า เสียหายกันทั้งสองฝ่าย - นี่คือสถานการณ์ในจีนเวลานี้

แทนที่ประชาชนจะเข้าใจว่าเป็นเพราะการระบาด แต่กลับไพล่คิดไปว่าเป็นการซ้อมภาวะสงคราม นั่นอาจเป็นเพราะจีนขังตัวเองจากโลกภายนอกจนไม่ได้เจอประสบการณ์แบบโลกภายนอกที่เลิกขังตัวเอง เลิกตุนข้าวของ และใช้ชีวิตชิลๆ ขึ้นทุกวัน

ส่วนคนจีนนั้นไม่ชิล แม้โนติซของกระทรวงพาณิชย์จะอธิบายชัดเจน โดยไม่มีคำว่า "สงคราม" เลยสักคำเดียว แต่ชาวเน็ตจีนถามแล้วว่า "คุณจะทำสงครามกันหรือเปล่า?" บ้างก็ว่า "การระบาดเริ่มขึ้นปีที่แล้วก็ยังไม่มีคำแนะนำอะไรแบบนี้"

บางคนคิดลึกบอกว่า "นี่มันกลเม็ดเพื่อกระตุ้นการบริโภคแหงๆ คนกลัวกันจะตายแล้ว" แน่นอนว่าสื่อจีนบางแห่งต้องติงว่า "อย่ามโนกันเกินไป"

อีกสาเหตุเพราะบรรยากาศในจีนตอนนี้กระตุ้นเร้าชาตินิยมอย่างหนักพร้อมๆ กับปั่นบรรยากาศว่าประเทศกำลังเผชิญกับการคุกคาม แม้จะไม่ถึงระดับที่คนส่วนใหญ่ตื่นกลัวสงคราม แต่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในทำนอง "รายงานผู้ต้องสงสัย" และ "ไล่ล่าศัตรูของชาติ" มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ภาครัฐกวดขันเรื่องรายการบันเทิง รายการต่างชาติ หรือห้ามการโซเชียลเน็ตเวิร์กรายงานข่าวตามอำเภอใจหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสื่อ

ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนตึงเครียด ได้ยินมาว่าว่าชาวบ้านกันเองเริ่มสอดแนมเพื่อนบ้าน แล้วรายงานทางการหรือประจานว่าบ้านใกล้เรือนเคียงเสพสื่อที่ไม่ได้อนุญาตจากทางการ หรือแสดงท่าที "ไม่รักชาติ"

พฤติกรรมแบบนี้่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอคนจีน เพราะตั้งแต่โบราณแล้วมีกฏหมายให้เพื่อนบ้านต้องรับโทษไปด้วย หากพบว่าเพื่อนบ้านกระทำผิดกฏหมายแล้วไม่ยอมแจ้งทางการ ในยุคต้นๆ ของสมัยคอมมิวนิสต์พฤติกรรมแบบนี้ยิ่งถูกสนับสนุนโดยเฉพาะในช่วงที่การปฏิวัติรุนแรง ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ประชาชนช่วยกันสอดส่องศัตรูของการปฏิวัติ

นิสัยแบบนี้นอนนิ่งในดีเอ็นเอคนจีนมานานหลายสิบปีแล้ว มันจะออกอาละวาดเป็นช่วงๆ แต่ถ้าประเทศเริ่มใช้นโยบายที่สร้างความหวาดผวาเหมือนเวลานี้ มันจะเริ่มแผลงฤทธิ์อีกครั้ง

สำหรับประเทศอำนาจนิยม ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้ประชาชนจับตากันเองอีกแล้ว ประหยัดทั้งแรงของทางการ และทำให้ประชาชนไม่เพ่งเล็งมาที่รัฐบาลมากเกินไป

สิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนในตอนนี้ สื่อภาษาจีนภายนอกจีนมองว่าเป็นความพยายามของผู้ปกครองจีนที่จะแสดงให้โลกเห็นว่าจีนพร้อมกับสงคราม แต่นักวิเคราะห์นอกจีนชี้ว่าถึงจะแสดงท่าทีแบบนี้ แต่จีน "ไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สมรภูมิ"

ตัวอย่างเช่น นักวิเคราะห์การเมืองของไต้หวันชี้ว่าเครื่องบินที่จีนส่งมาล้ำเขตแดนไต้หวันอยู่บ่อยๆ เป็นเครื่องบินสมรรถนะต่ำและโลว์เทค ทำให้เกิดคำถามว่าจริงๆ จีนต้องการรบกับไต้หวันจริงหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงว่ารบกันแล้วเครื่องบินพวกนี้จะไหวหรือเปล่า?

หรือว่าจีนจะใช้กลยุทธ์ "บุปผาบานบนต้นไม้" หรือ "แต่งต้นด้วยดอกไม้ปลอม" คือการแต่งต้นไม้ที่ไร้ดอกใบด้วยดอกไม้ปลอม ทำประหนึ่งว่ามีแสนยานุภาพ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามครั่นคร้าม แต่ไม่พร้อมรบกันจริงๆ เพียงแต่ทำให้ดูหมือนพร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อันคับขัน

เหมือนเตียวหุยใช้ทหารผูกกิ่งไม้ตีฝุ่นให้คลุ้งเหมือนมีทัพมาพร้อมรบมากมาย เพื่อหลอกกองทัพโจโฉที่ยุทธการที่สะพานเตียงปันเกี้ยว

การที่จีนแสดงท่าทีเหมือนจะทำสงครามจีนประชาชนตื่นกลัวก็อาจเป็นการส่งสัญญาณหลอกให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกขยาดก็เป็นได้ เพราะถ้าจะลงมือกันจริงๆ จีนไม่ได้แค่รบกับไต้หวัน แต่จะต้องรบกับพันธมิตรของสหรัฐอีกหลายประเทศ

ผู้สังเกตการณ์ภายนอกจีนชี้ว่าบางทีสีจิ้นผิงอาจพยายามรวบอำนาจ กำจัดฝั่งฝ่ายต่างๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพ "หรือทำสงครามภายใน" จึงจำเป็นต้องเบี่ยงเบนให้ศึกภายนอกรู้สึกว่าจีนไม่มีภาวะไร้เสถียรภาพ เช่น ปัญหาจากการควบคุมการระบาดที่จะรบกวนจีนไปเรื่อยๆ หากยังใช้แนวทาง Zero-case

ถึงมันจะเป็นเหมือน "แต่งต้นด้วยดอกไม้ปลอม" แต่ไม่ใช่ว่าคู่กรณีของจีนจะไม่ตื่นเรื่องสงคราม ไต้หวันก็เตรียมพร้อมเหมือนกัน

สัปดาห์นี้ กระทรวงกลาโหมของไต้หวันเผยว่าจะเสริมการฝึกกำลังสำรองในปีหน้า ซึ่งรวมถึงการฝึกต่อสู้และยิงปืนเพิ่มเป็นสองเท่า

เมื่อเดือนที่แล้ว ชิวกั๋วเจิ้ง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไต้หวัน อธิบายว่าสถานการณ์ดังกล่าว “ร้ายแรงที่สุด” ในรอบกว่า 40 ปี และเรียกร้องให้มีการใช้จ่ายทางทหารเพิ่มเติมสำหรับอาวุธที่ไต้หวันผลิตเอง

ความจริงไต้หวันกำลังจะเปลี่ยนจากระบบเกณฑ์ทหารมาเป็นการอาสาโดยสมัครใจ เพราะมีเสียงบ่นจากคนที่ถูกเกณฑ์เสียเวลา ตอนนี้จีนกดดันหนักๆ เข้าอาจจะต้องพับแผนนี้ไปก่อน และคนที่บ่นอาจจะต้องเปลี่ยนท่าที

ในเรื่องการแจกถุงยังชีพในจีน สื่อไต้หวันก็จับตาโดยเฉพาะการแจกของพวกนี้ตามเมือง/มณฑลชายฝั่งที่ประจันหน้ากับไต้หวัน ยิ่งทำให้ไต้หวันตื่นตัวพอๆ กับคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้รับมันมา

สื่อบางแห่งบอกว่าจีนกำลังปั่นให้เกิดบรรยากาศของการรบกับไต้หวัน แต่ในจีนเองทางการกลับต้องปลอบประชาชนว่านี่เป็นการซักซ้อมตามปกติ

โปรดอย่าได้ตื่นตูม

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by STR / AFP) / China OUT