posttoday

มาเลย์มองไทย วัคซีนของเพื่อนบ้านทำไมถึงดีกว่า?

21 กรกฎาคม 2564

มาเลย์ไม่มั่นใจ Pfizer-ไทยด้อยค่า Sinovac อีกมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับการใช้วัคซีนของสองประเทศ ขณะที่ไทยเรียกหา Pfizer และบ่ายเบี่ยง Sinovac ที่มาเลเซียมีบางคนเห็นตรงกันข้าม

คงจำกันได้ที่ผู้เขียนเขียนเรื่อง "เมื่อคนสิงคโปร์แก้ต่างให้ไทย แต่คนไทยขอขับเคลื่อนด้วยการด่า" โดยยกข้อมูลเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่ได้รับวัคซีนของ Sinovac (คือ CoronaVac) จำนวน 2 โดส ติดเชื้อจำนวน 618 จาก 677,348 คน ซึ่งคนสิงคโปร์ชี้ว่าสัดส่วนนี้น้อยมากแค่ 0.1% เท่านั้น แต่ในไทยเรากลับไม่ได้ดูที่สัดส่วนแบบนี้โดยดูที่ตัวเลขลุ่นๆ คือ 618 เมื่อเห็นหกร้อยกว่าคนก็คิดว่ามันมากแล้ว การอ่านข้อมูลแบบนี้ทำให้กระแสโจตีวัคซีนของ Sinovac ยิ่งหนักขึ้น

ผู้เขียนไม่ได้เชียร์หรือด้อยค่าวัคซีนตัวไหนเป็นพิเศษ ในเวลานี้ขอให้รัฐบาลจัดสรรและฉีดให้ครอบคลุมก็พอ ปัญหาที่ใหญ่กว่าการซื้อวัคซีนของจีนหรือของตะวันตกก็คือหรือที่ไทยผลิตเองก็คือมันมีจำนวนไม่พอและรัฐบาลบริหารวัคซีนได้แย่ อย่างที่หลายคนบอกว่า "แทงม้าตัวเดียว" คือหวังพึ่งแต่วัคซีนตัวสองตัว แถมยังยักไว้ในปริมาณที่น้อยเกินไปด้วย

เมื่อรัฐบาลทำให้เกิดสถานการณ์แบบนั้น ผู้คนจึงตำหนิและขับไล่ แต่ไม่ใช่เหตุที่จะไม่ฉีดวัคซีนที่มีในตอนนี้คือของ Sinovac การที่บางคนในไทยพ่วงการโจมตีรัฐบาลโดยด้อยค่าวัคซีนที่รัฐบาลเลือก เท่ากับปลุกกระแสต่อต้านและกลัววัคซีนไปพร้อมๆ กัน การทำแบบนี้ทำให้คนยิ่งติดเชื้อมาก สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือบอกให้รีบฉีดไปก่อน เมื่อวัคซีนที่ถูกใจมาถึงค่อยใช้บูสเตอร์ในภายหลังได้

ปัญหาในไทยตอนนี้ก็คือ โจมตีรัฐบาลทำให้เกิดกระแส Anti-vaccine ด้วยซึ่งเป็นเกมส์อันตรายและใช้คนเป็นเบี้ยหมากในทางการเมือง วิธีที่ดีที่สุดคือการโจมตีรัฐบาลที่มีนโยบายวัคซีนที่ล้มเหลว แต่จะต้องไม่ด้อยค่าวัคซีนที่พอหาได้ในตอนนี้ การด้อยค่าวัคซีนทีมีตอนนี้ทำให้คนกลัววัคซีนมากกว่ากลัวติดโควิด ผลก็คือคนติดโควิดมากและตายมาก

ถ้าจะวิพากษ์วัคซีนที่รัฐบาลพอจะสั่งมาได้ได้ก็ควรเทียบแบบคนสิงโปร์ คือใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่ใช่อารมณ์

มาเลเซียก็มีการถกเถียงกันเรื่องสถิติของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่ได้รับวัคซีนของ Sinovac เหมือนกันและเซอร์ไพรส์ที่คนมาเลเซียจำนวนหนึ่งคิดเหมือนคนสิงคโปร์ในเรื่องนี้แต่ยังขยายต่อโดยเทียบระหว่างบุคลากรแพทย์ของไทยกับมาเลเซียด้วยที่รับวัคซีนคนละตัว และผลลัพธ์ก็ต่างกัน

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมหรือไล่ๆ กับที่ไทยเปิดเผยตัวเลขบุคคลากรแพย์ที่ติดเชื้อหลังจากฉีด Sinovac มีการถกเถียงกันในประเด็นนี้ในกลุ่มติดตามโควิดของมาเลเซียโดยยกตัวอย่างว่า "ประเทศไทย - เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 677,348 คนได้รับวัคซีน Sinovac ครบถ้วนแล้ว ติดเชื้อโควิด 618 ราย = 0.091%-----VS---มาเลเซีย - บุคลากรทางการแพทย์ 245,932 คนได้รับวัคซีน Pfizer ครบถ้วนแล้วผู้ติดเชื้อ 3,106 ราย = 1.26%"

สรุปสั้นๆ ก็คือบุคลากรแพทย์ไทยฉีด Sinovac แต่ติดเชื้อ 0.091% ส่วนบุคลากรแพทย์มาเลเซียฉีด Pfizer ติดเชื้อ1.26% หรือ อัตราการติดเชื้อระหว่างบุคลากรแพทย์ในมาเลเซียกับไทยต่างกันถึง 14 เท่า (1.26/0.091) โดยมาเลเซียสูงกว่า 14 เท่านนั่นเอง เทียบกันแบบปอนด์ต่อปอนด์แบบนี้คงชัดเจนมากขึ้น

ในกลุ่มนี้มีการถกเถียงประเด็นนี้มีความหนึ่งที่น่าสนใจแม้จะไม่ใช่ความเห็นของคนเด่นคนดัง แต่ก็ตรงกับวิธีคิดของผู้เขียน ความเห็นนี้ (ชื่อ Francis Phang) บอกว่า "สิ่งสำคัญคือต้องฉีดวัคซีนไม่ว่ายี่ห้ออะไร พวกมันทั้งหมดทำงานได้ดี แต่ทำงานได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าคุณดูแลตัวเองดีเพียงใดเพื่อหลีกเลี่ยงสายพันธุ์ต่างๆ ของโควิด-19"

ที่พูดแบบนี้กันก็เพราะมาเลเซียนั้นได้ Pfizer มาถึง 44.8 ล้านโดส แต่ปรากฏว่ามีกระแสกังขามันและต้องการจะฉีด Sinovac เสียอยางนั้น ซึ่งกลับตาลปัตรกับประเทศไทย!

(ทั้งนี้ Pfizer ล็อตแรกที่ส่งมายังมาเลเซียสงวนไว้สำหรับแนวหน้า ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กองทัพ โดยเริ่มฉีดเดือนกุมภาพันธ์)

ตัน สรี ดร.นูร์ ฮิชัม อับดุลลอห์ อธิบดีกรมสุขภาพของมาเลเซียยังถึงกับบอก (หลังเผยตัวเลขบุคลากรแพทย์ที่ติดเชื้อถึง 3,106 ราย) ว่า “มีช่วงหนึ่ง หลายคนไม่พอใจกับทวีตของผม เมื่อผมพูดถึงจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนครบแล้ว ถูกต้อง คุณยังสามารถติดเชื้อได้หลังจากฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่ไม่เท่ากับที่มีรุนแรงโดยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตน้อยกว่า"

ไม่ว่าใครก็ตามต่างก็พยายามจะบอกว่าวัคซีนของที่ตัวเองมีอยู่นั้นมีผลน่าพอใจแล้ว เช่น รายนงานข่าวเรื่องทางการมาเลเซียเองก็บอกว่ามีบุคลากรแพทย์ที่ได้รับวัคซีนสองโดสแล้ว "ติดแค่เล็กน้อย" ซึ่งว่ากันตามสถิติแล้ว 1.26% ก็ยังถือว่าไม่สูงมากจริงๆ

สิ่งที่เลวร้ายกว่าการเชียร์วัคซีนก็คือการไปด้อยค่าวัคซีนอื่น เพราะไม่ใช่ทุกประเทศที่จะนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีกว่าได้ จะขอยกตัวอยางกรณีของสำนักข่าว The New York Times เรื่อง "พวกเขาอาศัยวัคซีนจีน ตอนนี้พวกเขากำลังต่อสู้กับการระบาด" เมื่อโพสต์ข่าวในเฟซบุ๊ค แทนที่ผู้อ่านจะโจมตีวัคซีนจีนกลับโจมตีคนรายงานข่าวนี้

ความเห็นที่มีผู้ไลค์มากที่สุด Roxana Nassiri บอกว่า "ประเทศที่ยากจนส่วนใหญ่พึ่งพาวัคซีนจากจีน มันคือสิ่งที่พวกเขาควรทำเมื่อประเทศร่ำรวยสะสมวัคซีนที่ดีที่สุดเอาไว้ให้ตัวเอง คุณพยายามอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมการติดเชื้อด้วยสิ่งที่คุณมีอยู่ในมือ"

อีกคน Jackie Orio บอกว่า "ลองเขียนบทความใหม่เป็น "วัคซีนที่พวกหามาเอาไหม? ผมแน่ใจว่าหากแบรนด์อื่นๆ มีจำหน่ายในประเทศเหล่านี้ พวกเขาจะรับมันไว้"

ดูเหมือนว่าชาวโลกที่มีเหตุมีผลจะคิดคล้ายๆ กันว่า "ได้อะไรมาก็รีบฉีดกันตายเอาไว้ก่อน" ส่วนรัฐบาลวางแผนพลาดเรื่องวัคซีนก็เช็คบิลกันไปตามเนื้อผ้า

วัคซีนที่ถูกด้อยค่านั้นอาจมีผลคือถูกสั่งนำเข้าลดลงมีผลต่อรายได้ของบิรษัท/ประเทศต้นทาง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของประเทศที่สั่งเข้ามาแล้ว ปัญหาของประเทศที่สั่งเข้ามาแล้วคือ ประชาชนกังขามันจนไม่ยอมฉีด ผลก็คือเกิดการระบาดหนัก ต้องสูญเสียชีวิตของคนที่หลงเชื่อขบวนการด้อยค่าวัคซีน

แม้แต่ในสหรัฐตอนนี้ใช้ Pfizer กับ Moderna เป็นหลักแท้ๆ ก็ยังมีกระแสกังขา/ต่อต้านมันจนกระทั่งอัตราการฉีดวัคซีนลดลงแบบน่าตกใจ หลายรัฐโดยเฉพาะรัฐภาคใต้จึงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาอีก ยังไม่นับความร้ายกาจของเดลตาที่ทำให้วัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพลดลง บางรัฐจึงสั่งให้สวมหน้ากากอีก แม้จะฉีดวัคซีนไปมากแล้ว

ในสหรัฐการด้อยค่าวัคซีนมีปัญหามาจากความแตกแยกทางการเมืองและการเมืองเรื่องสีคล้ายๆ กับบ้านเรา คือรัฐภาคใต้ที่นิยมพรรคสีแดง (รีพับลิกัน) ฉีดวัคซีนน้อยและต้านวัคซีนมาก ผลก็คือตัวเลขติดเชื้อพุ่งขึ้นมาอีก ส่วนรัฐสีน้ำเงิน (เดโมแครต) ฉีดวัคซีนมากการติดเชื้อน้อย แต่บางรัฐในกลุ่มนี้ต้องสั่งให้สวมหน้ากากอีกครั้ง

ดังนั้นสีเสื้อทางการเมืองไม่มีผลอะไร เพราะเจอไวรัสก็ตายเหมือนกันถ้าไม่ระวังตัวหรือเอาแต่กังขาวัคซีน

ในสหรัฐนั้นคนไม่ได้ต่อต้าน Pfizer แต่ต่อต้านมาตรการของรัฐ เพราะยึดมั่นถือมั่นว่าประชาชนอเมริกันมีเสรีภาพที่รัฐจะมาบีบบังคับไม่ได้แม้แต่เรื่องเป็นเรื่องตาย ประมาณว่า "กูจะตายก็เรื่องของกู"

แต่โรคระบาด "ไม่ใช่เรื่องของกูคนเดียว" เพราะถ้า "กู" ติดขึ้นมาไม่จะไม่ติดแค่ "กู" คนเดียวแต่จะลาก "มึง" อีกนับสิบนับร้อยคนซวยไปด้วย

เช่นกัน ในประเทศไทยมีผู้ออกมาด้อยค่าวัคซีนที่มีอยู่เพียงเพื่อจะเชียร์ Pfizer ซึ่งก็เชียร์ได้และควรจะเชียร์ เพียงแต่การเชียร์มิติเดียวของคนพวกนี้ทำให้ประชาชนกลัววัคซีนที่มีอยู่จนบอกกับตัวเองว่า "กูไม่ฉีดล่ะ" ผลก็คือ "กู" ติดเชื้อและทำให้คนอื่นติดไปด้วย

พูดสั้นๆ ก็คือพวกเชียร์วัคซีน A ด้อยค่าวัคซีน B คือพวกที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน/กังขาวัคซีนทางอ้อม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม และความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้มันหนักหนาสาหัสมาก

ย้ำว่ารัฐบาลสมควรถูกต่อว่าอย่างหนักหรือแม้แต่สมควรกับการถูกขับไล่เพราะแผนจัดการวัคซีนที่แย่และขาดวิสัยทัศน์ แต่วัคซีนที่รัฐซื้อมาเพื่อใช้ในเวลาฉุกเฉินไม่ใช่จำเลย รัฐบาลต่างหากที่เป็นจำเลยสังคมและการตำหนิรัฐบาลไม่ทำให้คนตายเท่ากับด้อยค่าวัคซีน

รัฐบาลบริหารผิดพลาดเป็นเวรกรรมคนไทยโดยแท้และคนไทยควรจะ "แก้กรรม" นี้โดยเร็ว

แต่การโจมตีรัฐบาลโดยใช้ความกลัววัคซีนของประชาชนเป็นเบี้ยหมากทางการเมืองนั้น ก็สร้างเวรสร้างกรรมเหมือนกัน

กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Madaree TOHLALA / AFP