posttoday

เมื่อคนสิงคโปร์แก้ต่างให้ไทย แต่คนไทยขอขับเคลื่อนด้วยการด่า

14 กรกฎาคม 2564

ขณะที่คนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนด้วยการด่าทำให้สังคมไทยดีขึ้น แต่มันเป็นแบบนั้นจริงหรือ?

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม สำนักข่าว The Straits Times ของสิงคโปร์รายงานข่าวว่า "บุคลากรแพทย์ไทยหลายร้อยคนติดเชื้อทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีน ชิโนวัค โควิด-19" พร้อมกับโปรยหัวข่าวในเฟซบุ๊คของสำนักข่าวว่า "บุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่ได้รับ Sinovac จำนวน 2 โดส ติดเชื้อจำนวน 618 จาก 677,348 คน"

ข่าวเดียวกันนี้ปรากฎขึ้นที่ไทยก่อน แน่นอนว่าในโลกโซเชียลของไทยนั้นด่าแบบเสียผู้เสียคนทั้งวัคซีนจีนและคนนำเข้าวัคซีนเข้ามา (รัฐบาล) รวมถึงคนที่เสนอข้อมูลเรื่องวัคซีนจีนคือ "หมอยง" ศ. นพ. ยง ภู่วรวรรณ ยังถูกคนมือบอนแก้ไขข้อมูลประวัติในวิกิพีเดียของคุณหมอว่าเป็น "เซลแมนของซิโนแวค"

ขณะที่ไทยหัวหมุนกับเกมการเมืองเรื่องวัคซีน และพยายาม "ขับเคลื่อนประเทศด้วยการด่า" อย่างที่อินฟลูเอนเซอร์บางคนคุยโว ในช่องความเห็นของ The Straits Times นั้นไปคนละทางกับไทย เช่น

Jonathan Tan บอกว่า "600 เคสจาก 677,000 น้อยกว่า 0.1% นี่ก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? แต่พาดหัวข่าวทำให้ดูแย่ รายงานควรมีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้ไม่ใช่หรือ?"

Mohd Faliq Putrans บอกว่า "ที่มาเลเซีย บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อทั้งๆ ที่ฉีด Pfizer ไปแล้ว 2 โดส กรุณารายงานอย่างเป็นธรรม ผมไม่ใช่พวกโปรจีน แต่น่ารำคาญกับรายงานที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น"

Richard Ker (ซึ่งมีคนกดไลค์มากที่สุด) บอกว่า "รายงานมีอคติ >68% ของคนอังกฤษได้รับวัคซีน AZ แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่า 30,000 ราย? มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่?" ซึ่งเขาอาจจะหมายความรายงานนี้เอนเอียงไปทางโจมตี Sinovac ขณะที่วัคซีนตัวอื่นมีข้อกังขาเรื่องประสิทธิภาพเหมือนกัน

ในเทรดคอมเมนต์ของ Richard Ker มีผู้แสดงความเห็นมากมาย (500 คอมเมนต์) หนึ่งในนั้นถามว่า "ช่วยอธิบายหน่อยรายงาข่าวนี้อคติอย่างไร?" ซึ่ง Tan Kia Sin อธิบายเหมือนความเห็นแรกว่า "จากตัวเลขที่กำหนดโดย Reuters/ST เปอร์เซ็นต์ของ 618 เทียบกับ 677, 348 นั้นน้อยมาก ผมคิดว่าเปอร์เซ็นต์ของบุคลากรแถวหน้าในสิงคโปร์ที่ติดเชื้อหลังจากได้รับวัคซีนครบโดสอาจสูงกว่าในประเทศไทย ในสิงคโปร์ในคลัสเตอร์เดียว 50% ของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว"

ความเห็นเรื่องนี้บอกกับเราว่าคนสิงคโปร์ 1. คิดว่าสถานการณ์ไทยดีกว่า 2. พูดคุยอย่างเป็นสุภาพชนและมีเหตุผล 3. รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลและ "อ่านเนื้อข่าวโดยไม่อ่านแค่พาดหัว"

เรามักบอกว่าสิงคโปร์แซงหน้าไทย แต่มีสักกี่คนที่สังเกตว่าสิงคโปร์ไม่ได้แซงแค่วัตถุ แต่คุณภาพของประชาชนยังแซงหน้าด้วย และกรณีข่าวนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเดียว หากลองอ่านความเห็นใน The Straits Times ทุกๆ ข่าวเราจะเห็นคุณภาพของประชาชนสิงคโปร์ได้ดี

เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากยิ่งในโลกโซเชียลในไทย ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่มีแต่มีน้อยจนน่าเศร้าใจที่จะคุยกันด้วยเหตุและผลอย่างคนสุภาพ

สิ่งที่คนสิงคโปร์มีคือ Digital Civility หรือความมีอารยะทางอินเทอร์เน็ต

ไม่ใช่ว่าเรามีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุดแห่งหนึ่งขอโลก (ซึ่งไทยเป็นแบบนั้นจริงๆ) แล้วจะถือว่ามีอารยะ มันไม่ใช่แบบนั้น ความมีอารยะในโลกดิจิทัลเขาวัดกันที่พฤติกรรมที่ดีต่อกันในโลกโซเชียล อัตราการใช้วาจาประทุษร้ายต่อกัน และหลงเชื่อข่าวปลอมมากแค่ไหน

จากดัชนีความมีอารยะหรือความสุภาพทางอินเทอร์เน็ต (Digital Civility Index) ของบริษัท Microsoft ประจำปี 2020 พบว่าประเทศที่มีอารยะสูงสุดในโลกออนไลน์คือเนเธอร์แลนด์ ส่วนในเอเชียอันดับที่ 1 คือสิงคโปร์ ขณะที่ไทยอยู่กลุ่มท้ายตารางอันดับบ๊วยคือเวียดนาม ไล่ขึ้นมาอินโดนีเซีย และไทย

ที่ทำให้รู้สึกว่าคนสิงคโปร์มองเห็นอนาคตในวิกฤตก็คือ จากการสำรวจพบว่า 19% ของผู้ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์กล่าวว่าความมีอารยะทางออนไลน์ดีกว่าในช่วงการระบาดใหญ่ โดยเป็นผลมาจากความรู้สึกของชุมชนและผู้คนที่รวมตัวกันเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้มากขึ้น

ในขณะที่ 31% ระบุว่าความสุภาพทางออนไลน์แย่กว่าเนื่องจากมีการแพร่กระจายของข่าวเท็จและข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดมากขึ้น และผู้คนใช้โลกออนไลน์แสดงความผิดหวังต่างๆ นานา

ดังนั้นสิงคโปร์ก็เหมือนไทยคือเจอข่าวปลอมเล่นงานหนักและผู้คนก็สิ้นหวังจนต้องมาระบายทางเน็ต แต่ถึงแม้จะเจอปัญหาเดียวกันแต่คุณสมบัติด้านความเป็นสุภาพชนของคนสิงคโปร์ดีกว่า

เช่น ข่าวที่ The Straits Times รายงานเรื่องยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในไทยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งข่าวนี้ไล่หลังข่าวที่ไทยเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ซึ่งคนสิงคโปร์สนใจกันมากเพราะอยากมาเที่ยวไทยกันเต็มแก่แล้ว ปรากฏความเห็นที่มีคนสนใจมากที่สุดบอกว่า Steven Rostron "พาดหัวข่าวที่แย่และไม่ถูกต้อง เคสที่เพิ่มขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดภูเก็ตเลย"

เราจะเห็นว่าตั้งแต่ข่าวบุคลากรแพทย์ในไทยที่ฉีด Sinovac ติดเชื้อแล้วจนถึงข่าวข้างต้น ผู้อ่านสื่อสิงคโปร์มักแย้งการรายงานของสื่อ ซึ่งไม่ได้รายงานข่าวเท็จ แต่พาดหัวหวือหวาจนเกือบจะทำให้คนเข้าใจผิด ความะเอียดละออนี้ทำให้คนสิงคโปร์มีภูมิคุ้มกันสูงต่อข่าวปลอม ซึ่งหมายความว่ามีอารยะสูงในโลกออนไลนืด้วย

นอกจากนี้ยังมีกรณีตัวอย่างเรื่อง "การตำหนิรัฐบาล" ขอยกตัวอย่างคอมเมนต์ "ตำหนิ" ใน The Straits Times ข่าวที่นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงแถลงต่อประชาชนถึงแนวทางรับมือโควิด-19 เมื่อเดือนพฤษภาคม ชาวสิงคโปร์ใช้เฟซบุ๊คของสำนักข่าวนี้ตำหนิและเยาะเย้ยผู้นำ

Eric Wong บอกว่า "นี่เป็นเพียงจุดสีแดงเล็กๆ โปรดจัดการกับการระบาดใหญ่นี้ด้วยวิธีการที่ชาญฉลาดมากกว่ารัฐมนตรีที่ได้รับค่าตอบแทนสูงๆ ทั้งหมดของคุณ โปรดอย่าอ่านสคริปต์เดิมๆ ของคุณ เรามิฉะนั้นเราทุกคนจะรีบแห่ไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต" - คำตำหนินี้มีคนกดไลค์มากที่สุด ซึ่งเป็นความเห็นตำหนิที่เบามากเมื่อเทียบกับที่ผู้นำไทยเจอ

วันที่ 14 กรกฎาคม คราวนี้เป็นทีของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อมีหญิงจากเวียดนามถือใบอนุญาติเข้าเมืองระยะสั้นอาจเป็นเหตุให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในสิงคโปร์ ข่าวนี้ทำให้คนสิงคโปร์เดือดดาลมาก แต่ในความเดือดดาลนั้นยังอาการก็ยังไม่หลุดเหมือนชาวเน็ตไทย เช่น ความเห็นท็อปเมนต์นี้

Joy Lee "Can MOH pls disclose the list of public places visited by the infected Vietnamese lady? This sounds like a super spreading event."

ผู้เขียนไม่ขอแปลข้อความนี้เพื่อจะให้เห็นรูปแบบของข้อความที่สุภาพและมีเหตุผล ไม่มีการใส่อารมณ์ แม้จะเรียบราบและไม่ได้เดือดดาลอย่างบ้าคลั่งก็ยังมีคนกดไลค์มากที่สุด

อีกท็อปเมนต์หนึ่งของอีกข่าวที่รายงานเรื่องเดียวกันแสดงอาการเล็กน้อย Vik Vicknesh บอกว่า "This is a joke. What is a short term pass holder doing here? Isn't travel suppose to be only for extreme essential if not citizens?"

คอมเมนต์นี้ถือว่าเจ็บที่สุดแล้ว ในไทยนั้นใครแสดงความเห็นแบบนี้จะไม่ใช่ท็อปเมนต์แต่จะเป็น "ท้ายเมนต์"

อย่างไรก็ตาม ที่ยกตัวอย่างการเจรจาระหว่างประชาชนกับรัฐบาลสิงคโปร์ ไม่ได้ผู้เขียนหมายความว่าจะให้ไปพูดนะจ๊ะนะจ๋ากับพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชาหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกับเรื่องการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพที่สมควรถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนให้ตระหนักถึงความผิดพลาดนั้น

ย้ำว่า "วิจารณ์" ไม่ใช่ด่า เพราะด่าแล้วนายกฯ ไม่ได้ยิน ถึงได้ยินก็คงไม่แคร์ อย่าว่าแต่คนระดับหัวของประเทศ คนเดินดินเท่าๆ กันด่ากันเองยังไม่ยอมฟัง นี่คือสัจธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

เพียงแต่จะบอกว่านี่คือระดับคุณภาพความสุภาพของสิงคโปร์ที่สมกับอันดับที่หนึ่งในเอเชีย ส่วนในไทยนั้นถึงกับมีเคมเปญของคนบางกลุ่มที่บอกว่า "ประเทศขับเคลื่อนด้วยการด่า"

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมไทยถึงติดอันดับที่ 3 จากบ๊วย

กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP