posttoday

จีนเชื่อมั่นวัคซีนตัวเองหรือไม่และทำไมถึงยังไม่ใช้ mRNA?

27 กรกฎาคม 2564

ขณะที่ไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนยังสั่งวัคซีนจากจีนเข้ามาพร้อมๆ กับวัคซีนตะวันตกที่เน้นเทคโนโลยีใหม่ แต่จีนก็มีวัคซีน mRNA แต่ทำไมจีนจึงยังไม่ใช้มัน?

ประเทศที่เรียกร้องวัคซีน mRNA มากที่สุดในเวลานี้น่าจะเป็นประเทศไทย ซึ่งก็มีเหตุให้ต้องเรียกร้องเพราะระลอกนี้หนักหนาสาหัสมากจนผู้ติดเชื้อทะลุหลักหมื่น และเชื่อกันว่าวัคซีนแบบ mRNA จะป้องกันเชื้อเดลตาได้ดีกว่าวัคซีนของจีนจากบริษัท Sinovac (คือ CoronaVac) ที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในไทย

แต่ ณ เวลานี้มีรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องว่าแม้แต่ mRNA ก็ชักจะเอาเดลตาไม่ไหวเหมือนกัน เพราะประสิทธิภาพลดลงพอควรจากข้อมูลของอิสราเอล

มาดูที่จีน เราจะพบว่าจีนยังไม่ได้ใช้วัคซีนแบบ mRNA ในวงกว้าง แต่มีรายงานข่าวประเภท "แหล่งข่าวเผยว่า" ทางการจีนจะใช้วัคซีนเข็มสามหรือตัวกระตุ้น (บูสเตอร์) ผลิตโดยบริษัท Fosun Pharma ของจีนและ BioNTech ของเยอรมนี

หากข่าวนี้จริง (รายงานโดย Caixin สื่อที่มีความน่าเชื่อถือสูงในจีนโดยอ้างการประชุมผู้ถือหุ้นของ Fosun) จะทำให้ความเชื่อมั่นในวัคซีนเชื้อตายที่จีนใช้คือ CoronaVac และ Sinopharm ถดถอยลงไปอีก

ตอนนี้ประเทศไทยถือเป็นจุดศูนย์กลางการแย่งชิงระหว่างวัคซีนเทคโนโลยีเก่าจากจีนและวัคซีนเทคโนโลยีใหม่จากโลกตะวันตก ในขณะที่เขียนบทความนี้มีรายงานข่าวจากสื่อตะวันตกไม่หยุดหย่อนเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของคนไทยต่อวัคซีนที่ลดลง

เรื่องนี้คนไทยรู้กันเองอยู่แล้ว แต่มันกำลังถูกจับตาโดยสื่อต่างประเทศ ทำให้ประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศที่เริ่มมีโมเมนตัมมากขึ้น

ในจีนเองก็มีความพยายามปั่นกระแสกังขาต่อเทคโนโลยี mRNA มาตั้งแต่ต้นปีนี้ เช่น The People’s Daily กระบอกเสียงของทางการจีนที่เผยแพร่บทความเรื่อง "วัคซีนโควิด-19 ของจีนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น" ตอนหนึ่งเขียนว่า "ในขณะปั่นกระแสข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลการทดลองขั้นปลายของ CoronaVac สื่อภาษาอังกฤษกระแสหลักกลับกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการเสียชีวิตของชาวนอร์เวย์สูงอายุ 23 คนหลังจากที่พวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนด้วยวัคซีน Pfizer ราวกับว่าสื่อเหล่านั้นได้บรรลุฉันทามติในอันที่จะมองข้ามเหตุการณ์นี้ไปแล้ว"

ส่วน Global Times สื่อของจีนที่แบ่งภาคมาเล่นข่าวแบบแท็บลอยด์ก็โจมตีด้วยลีลาร้อนแรงตามสไตล์ในบทบรรณาธิการเรื่อง "เหตุใดสื่อสหรัฐจึงเงียบเกี่ยวกับการเสียชีวิตของวัคซีนไฟเซอร์" ความตอนหนึ่งว่า "หากจำเป็นต้องเปรียบเทียบ วัคซีนเชื้อตายของจีนมีรากฐานด้านความปลอดภัยที่แข็งแกร่งกว่าวัคซีน mRNA ของ Pfizer อย่างแน่นอน เทคโนโลยีวัคซีนเชื้อตายได้รับการพัฒนาอย่างมากและผ่านการทดสอบทางคลินิกมาหลายทศวรรษ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยี mRNA ถูกนำไปใช้กับวัคซีน การส่งเสริมวัคซีนของ Pfizer ในวงกว้างนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องของการทดสอบในมนุษย์ในวงกว้าง"

บทบรรณาธิการนี้พยายามชี้ว่าเทคโนโลยี mRNA ยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีและชาติตะวันตกผลักดันให้ใช้ซึ่งไม่ต่างจากการทดลองกับมนุษย์ในวงกว้าง และยังบอกว่าชาติตะวันตกละเลยข้อเสียของวัคซีน mRNA (โดยเฉพาะของ Pfizer) โดยเจตนา เพราะความ "สองมาตรฐานแบบหยาบกระด้างของสื่อตะวันตกเกี่ยวกับวัคซีนและทัศนคติที่เป็นพิษเป็นภัยของพวกเขา"

นั่นเป็นตอนที่โลกยังไม่รู้จักเชื้อสายพันธุ์เดลตา

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กระแสกังขาวัคซีนจีนตีตื้นขึ้นมาอีกครั้งเริ่มจากความสำเร็จของประเทศเซเชลส์ที่ฉีดวัคซีนในอัตราสูงสุดในโลกและหวังจะบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่ในเดือนมีนาคม พร้อมกับเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจนกลายเป็นข่าวฮือฮาอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่นานหลังจากนั้น (กลางเดือนพฤษภาคม) ประเทศเซเชลส์เจอการระบาดอีกครั้งทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีน (Sinopharm ของจีน) ไปมากมาย นี่เองที่ทำให้โลกหันมาสนใจเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายของจีนกันมากขึ้น

นั่นก็ยังไม่ใช่ตอนที่เดลตาออกอาละวาด จนกระทั่งอินเดียเข้าสู่ภาวะวิกฤต ตามด้วยการกระจายตัวของเดลตาไปยังที่ต่างๆ ทำให้กระแสกังขาวัคซีนจีนเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งศูนย์กลางของการปะทะระหว่างวัคซีนเก่าและใหม่มาหยุดที่ประเทศไทย

แต่ต้องย้อนกลับไปก่อน เพราะไทยไม่ถือเป็นประเทศแรกที่กังขากับวัคซีนจีนและมีเสียงเรียกร้องจากทีมด่านหน้าให้เลิกสั่งวัคซีนจีนเข้ามาและให้แทนที่ด้วยวัคซีน mRNA เพราะอินโดนีเซียกังขามาก่อนไทยและมีเสียงเรียกร้องให้ฉีดวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ให้กับบุคลากรแพทย์แถวหน้าโดยฉีดซ้ำกับวัคซีนจีนที่ได้ไปก่อนหน้านี้

ต่อมารัฐบาลสหรัฐประกาศบริจาค Moderna ให้อินโดนีเซีย 3 ล้านโดส (บวกกับอีก 1.5 ล้านโดสที่ตามมาภายหลัง) ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียประกาศฉีดให้กับบุคลากรแพทย์ให้เป็นบูสเตอร์ 1.5 ล้านโดส แต่เพิ่งจะเริ่มฉีดวันที่ 16 กรกฎาคมนี่เอง ไล่ๆ กับที่มีข่าวว่าบุคลากรแพทย์ของอินโดนีเซียเสียชีวิตไปหลายสิบคนทั้งๆ ที๋ฉีดวัคซีน (ของจีน) ครบถ้วนแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับอินโดนีเซียคล้ายกับไทยตรงที่มีเสียงเรียกร้องให้นำวัคซีน mRNA เข้ามาฉีดบูสเตอร์ให้บุคลากรแพทย์เสียที เพราะพวกเขากังวลกับประสิทธิภาพของวัคซีนจีน ที่อินโดนีเซียนั้นความกังวลลากยาวมาหลายเดือนกว่าที่วัคซีน mRNA จะมาถึงและเพิ่มจะฉีดไปไม่กี่วันก่อนที่บทความนี้จะถูกเขียนขึ้น (เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม)

การหักเหลี่ยมระหว่างจีนกับชาติตะวันตกเรื่องวัคซีนมีอยู่จริง และไม่ใช่แค่ชาติตะวันตกที่ด้อยค่าวัคซีนจีน จีนเองก็ด้อยค่าวัคซีนตะวันตกเหมือนกัน ซึ่งเป็นการเผชิญหน้าที่ไร้วุฒิภาวะทั้งคู่ เพราะเอาชีวิตคนมาเป็นเกมการเมือง เช่นเดียวกับในไทย เราเองก็ต้องยอมรับว่ามีการใช้วัคซีนเป็นเกมการเมืองเช่นกัน

แต่ถ้าโยนการเมืองทิ้งไป เราจะเห็นว่าทีมแพทย์จำเป็นต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าของจีนจริงๆ โดยดูตัวอย่างได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับอินโดนีเซีย แม้ว่าตอนนี้เดลตาจะทำให้ Pfizer อ่อนประสิทธิภาพลงไปไม่น้อยเช่นกันจากการเปิดเผยของรัฐบาลอิสราเอล แต่อย่างน้อยวัคซีน mRNA ก็ยังแกร่งกว่าและสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า

ที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่วัคซีนจีนถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ จีนเองกลับมีท่าทีอ่อนลงเรื่องการด้อยค่าวัคซีนตะวันตก ในเวลานี้สื่อรัฐบาลจีนก็ยังคงเชียร์วัคซีนของตนเองอยู่ แต่สื่อทางการจีนเพลาๆ เรื่องการโจมตีเทคโนโลยี mRNA ลงไปพอสมควรแล้ว

นอกจากนี้ บริษัทเวชภัณฑ์ในจีนบางแห่งก็เริ่มการทดลองวัคซีน mRNA เช่น บริษัทอ้ายปั๋ว เซิงอู้ ในซูโจว และ BioBAY ในซูโจวเช่นกัน จนกระทั่งมีข่าวว่าจะใช้บูสเตอร์เป็นวัคซีน mRNA ของ Fosun Pharma กับ BioNTech

การเปลี่ยนท่าทีนี้ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะเท่ากับลดแรงเสียดทานของการเมืองเรื่องวัคซีน แต่ก็เกิดคำถามว่าจีนไม่มั่นใจวัคซีน (เชื้อตาย) ตัวเองแล้วหรือ?

เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่จีนเก็บท่าทีเพื่อจะขายวัคซีนเชื้อตาย เพราะมีข่าวมาตลอดว่าจีนกำลังเร่งพัฒนาวัคซีน mRNA ของตัวเอง เช่น ARCoV ที่พัฒนาร่วมกันระหว่างบริษัทอ้ายปั๋ว เซิงอู้ กับสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทหาร และ Watson Biotechnology ในมณฑลยูนนาน ตอนนี้เข้าเฟส 3 และคาดว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เป็นต้นไปจะมีกำลังการผลิต 120 ล้านหน่วยตลอดทั้งปี

แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงไตรมาส 3 จีนมีอะไรก็ต้องใช้ไปก่อน

วัคซีนที่จีนใช้ในเวลานี้คือ CoronaVac และ Sinopharm และ Zhifei สองยี่ห้อแรกนั้นคนไทยรู้จักกันดีและค่อนข้างกังขากับตัวแรกโดยเฉพาะหลังการรุกรานของเดลตา ส่วน Zhifei คนไทยน้อยคนที่จะรู้จัก ซึ่งใช้เทคโนโลยีแบบ Protein subunit คือใช้โปรตีนจากไวรัสเหมือนวัคซีน Novavax ที่คนไทยจำนวนหนึ่งกำลังสนใจอยู่ในเวลานี้

เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้มีรายงานว่านักวิจัยชาวจีนพบว่าวัคซีน Zhifei ที่พัฒนาโดยหน่วยงานของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ Chongqing Zhifei Biological Products ยังมีประสิทธิภาพป้องกันเดลตา แต่มีประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อย

ข้อมูลจากฝั่งจีนก็บอกเช่นกันว่า CoronaVac ช่วยไม่ให้ผู้ติดเชื้อที่รับวัคซีนล้มป่วยหนัก (หมายความติดได้แต่ไม่สาหัสหรือถึงแก่ชีวิต) และจีนก็ยอมรับเช่นกันว่าแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนจีน 2 (CoronaVac และ Sinopharm) ชนิดมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อเจอเข้ากับเดลตา

เอาเข้าจริงแล้วเปอร์เซนต์ของบุคลากรแพทย์ผู้ฉีดวัคซีนจีนและติดเชื้อทั้งในไทยและอินโดนีเซียยังมีอัตราส่วนน้อยมาก แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เปอร์เซนต์น้อย เพราะอยู่ที่ความกลัวว่าหวยจะไปออกที่ใครมากกว่า นั่นคือไม่มีใครอยากเอาชีวิตไปเดิมพันหรอกว่าตัวเองจะเป็นพวกเปอร์เซนต์น้อยที่ติดเชื้อ (หรือตาย)

คำถามก็คือทำไมจีนที่ใช้ CoronaVac และ Sinopharm เป็นหลักเหมือนไทยกับอินโดนีเซียถึงได้รอดพ้นการระบากระลอกแล้วระบอกเล่ามาได้?

บางคนอธิบายว่าเพราะคนจีนมีวินัยที่ดีและมีรัฐบาลที่เด็ดขาดเข้มงวดเมื่อบวกกับการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างครอบคลุม แม้จะเจอเดลตาที่กว่างโจวก็ยังควบคุมมันไม่ให้ระบาดในวงกว้างได้

แต่คำอธิบายนี้ยังไม่พอ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือการจีนเข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองและพรมแดนอย่างมาก มากจนกระทั่งคนจีนในต่างประเทศยังคิดแล้วคิดอีกหากคิดจะกลับไปประเทศตัวเอง เพราะมีกระบวนการที่วุ่นวายเอามากๆ จนจาระไนไม่หมด ยังไม่รวมระยะเวลากักกันที่ค่อนข้างนาน (ถึง 21 วัน) และถึงจะได้อนุมัติให้กลับได้ก็ยังงต้องไปลุ้นตามกระบวนการต่างๆ อีก เช่น ได้ตั๋วเครื่องบินที่แพงหูดับตับไหม้มาแล้ว ต้องลุ้นว่าสถานทูตจะให้ให้ใบผ่านหรือไม่ หรือให้มาแล้วแต่ออกไม่ทันเที่ยวบิน ก็ต้องทิ้งตั๋วไป นี่เป็นเพียงความขลุกขลักที่ดูเหมือนทางการจีนตั้งใจให้มันลำบาก

เพราะเป้าหมายจีนคือการไม่ให้เกิดการระบาดเข้าประเทศเลย (Zero breakthrough) แต่การทำแบบนี้เท่ากับจีนขังตัวเอง ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศอื่นๆ ยังระบาดหนัก จนถึงตอนนี้ประเทศที่คลายล็อคแล้วในชาติตะวันตกยะงอยู่ในช่วงจับตาว่าเดลตาจะทำให้ระบาดหนักอีกรอบหรือไม่ ซึ่งมีสัญญาณแล้วว่าดูท่าจะระบาดได้อีกทั้งๆ ที่ใช้ mRNA ไปแล้ว บางพื้นที่จึงสั่งให้สวมหน้ากากและเว้นระยะกันอีก

ช่วงนี้เองที่จีนยังพอมีเวลาพัฒนาวัคซีน mRNA ของตัวเองพร้อมกับจับตาโลกภายนอกว่าจะต้องพัฒนาต่อไปอีกขั้นตอนไหนอีก เพราะเดลตาเหมือนจะตีฝ่า mRNA ได้ในระดับหนึ่ง เมื่อมองจากวิธีการขังตัวเองของจีนแล้ว ย่อมไม่เป็นที่สงสัยว่าทำไมวัคซีนของจีนจึงได้ผลในจีน แต่ไม่ได้ผลในประเทศที่คำสั่งล็อคดาวน์ไม่ศักดิ์สิทธิ์และชายแดนเปิดอ้าซ่าเหมือนบางประเทศ

แม้ประสิทธิภาพจะด้อยว่าวัคซีนตะวันตกที่คนไทยเรียกหากัน แต่ CoronaVac มีส่วนช่วยได้มากไม่ให้ล้มป่วยจนอาการหนัก แน่นอนว่ามันมีประโยชน์มากเลยทีเดียว

แต่ก็ดูเหมือนว่าวัคซีนของจีนนั้นจะได้ผลแบบเต็มที่ในกรณีที่มีการควบคุมการที่เข้มงวด ตัวอย่างเช่นที่จีนและที่บางเมืองในบราซิลที่ฉีดวัคซีนในอัตราส่วนสูง หากฉีดกระปริบกระปรอยย่อมทำให้เกราะป้องกันมีช่องโหว่ไปด้วย

ที่สำคัญแม้จีนจะสร้าง "มาตรการกำแพงเหล็ก" ป้องกันการรุกเข้ามา แต่ก็ยังเร่งพัฒนา mRNA ของตัวเองด้วยโดยที่จีนก็รู้ว่าวัคซีนเชื้อตายยังไม่พอ มาเลเซียก็จะเลิกสั่งวัคซีนของจีนแล้ว และหันไปพึ่ง Pfizer มีแต่อินโดนีเซียที่สั่งเพิ่ม และแน่อนอนว่ารวมถึงไทยด้วย

หากเดลตายังอยู่ยาว ในอนาคตจีนคงจำเป็นต้องหันมาใช้วัคซีนเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น Fosun Pharma นั้นหวังจะผลิตวัคซีนรายปีถึง 1,000 ล้านโดสเลยทีเดียว บวกกับผู้ผลิตวัคซีน mRNA รายอื่นของจีนแล้วพอใช้ในประเทศเหลือเฟือและส่งออกได้ด้วย

ในเมื่อจีนมุ่งไปทางนี้แล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่า ประเทศที่นำเข้าวัคซีนจากจีนควรจะมุ่งไปทางใด

กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP