posttoday

มหาปิฏกแปดหมื่น สิ่งมหัศจรรย์ของชาวพุทธเกาหลี

20 มิถุนายน 2564

หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของวงการพุทธศาสนา คือแม่พิมพ์ไม่แกะสลักอายุกว่า 800 ปีที่เป็นต้นฉบับพระธรรมอันยิ่งใหญ่และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเกาหลี

ในที่สุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน วัดแฮอินซา จังหวัดคย็องซังใต้ ประเทศเกาหลีใต้ก็เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม Tripitaka Koreana ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ไม้จารึกพระไตรปิฎกกว่า 80,000 แผ่นในที่สุด โดยทางวัดบอกว่าการเข้าชมจะให้บริการเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ทัวร์นี้มีความยาว 50 นาที จำกัดผู้เข้าชมได้สูงสุด 20 คนในแต่ละช่วงเวลา การจองออนไลน์สามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของวัดแฮอินซา (Haein-sa)

การเปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาชมและสักการะเป็นครั้งแรกยังเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ที่ชาวโลกและชาวเกาหลีกำลังเผชิญอยู่ด้วย

“เนื่องจาก (พระไตรปิฎกชุดนี้) ถูกสร้างขึ้นด้วยความปราถนาที่จะเอาชนะวิกฤตการณ์ระดับชาติในอดีต เราจึงตัดสินใจว่าข้อความแห่งความหวังเดียวกันนี้สามารถนำไปใช้กับชะตากรรมของชาติในปัจจุบันของเราที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19” ท่านชินกัก ซือนิม (Jingak Sunim) พระอาวุโสจากวัดแฮอินซากล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงโซลเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน (จากการรายงานของ The Korea Herald) 

ท่านชินกัก ซือนิมกลา่วถึงที่มาของการสร้างพระไตรปิฎกที่เกิดขึ้นเพื่อขอบารมีพระรัตนตรัยช่วยให้เกาหลีรอดพ้นจากการรุกรานของสัตรูในอดีต และท่านก็เชื่อว่าด้วยบารมีนั้นจะช่วยให้เกาหลีใต้นรอดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 เช่นกัน

Tripitaka Koreana คืออะไร? คือชื่อสากลของแม่พิมพ์พระไตรปิฎกภาษาจีนชุด "โครยอ แทจัง กย็อง" หรือพระไตรปิฎกสมัยโครยอ (จีนเรียกไตรปิฎกฉบับเกาหลี เพราะคำว่าโครยอ คือคำเดียวกับชื่อประเทศเกาหลี) "โครยอ แทจัง กย็อง" มีอายุ 800 กว่าปีแล้ว มีจำนวน 81,258 แผ่น

ที่เกาหลีเรียกพระไตรปิฎกชุดนี้อีกชื่อว่า "พัลมัน แทจัง กย็อง" หรือมหาปิฏกแปดหมื่น" เพราะแม่พิมพ์ไม้มีจำนวน 80,000 แผ่นเกือบจะครบ 84,000 ขันธ์อยู่รอมร่อ รวมแล้วมีจำนวนหน้ากว่าหนึ่งแสน นับเป็นพระไตรปิฎกภาษาจีนชุดที่ 3 ของโลกต่อจากฉบับไคเป้า สมัยราชวงศ์ซ่ง และฉบับชี่ตันของอาณาจักรเหลียว แต่ทั้ง 2 ฉบับหามีไม่แล้ว เหลือแต่ฉบับเกาหลี จึงครองแชมป์เก่าที่สุด

อันที่จริงแล้วผมไม่ขอเรียก "พระไตรปิฎก" เพราะฝ่ายมหายานมีมากว่า 3 ปิฎก ฝ่ายเถระวาทนั้นเรารู้ว่ามี 3ปิฎกคือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม แต่ "มหาปิฎก" ของฝ่ายมหายานคือฉบับภาษาจีนและภาษาทิเบต มีทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ปกรณ์ของคณาจารย์ต่างๆ ที่เรียว่าศาสตร์ มีตำรามนตร์หรือธารณี และข้อเขียนเกี่ยวพับพุทธศาสนาอีกหลายแขนง จึงสมควรเรียกว่า "มหาปิฎก" มากกว่า

ในภาษาจีนจึงเรียกย่าง "ต้าจั้งจิง" ต้า แปลว่า มหา จั้งจิง คือปิฎก เกาหลีนั้นรับภาษาจีนมาใช้ด้วยแต่ออกเสียงต้าจั้่งจิงว่า "แทจังกย็อง"

ปัจจุบันมหาปิฎก ชุดนี้หาศึกษาได้ไม่ยาก มหาวิทยาลัยทงกุกจัดการดิจิตัลไลซ์เป็นที่เรียบร้อย และยังตีพิมพ์เป็นรูปเล่มด้วย โดยเมื่อไม่กี่ปีระหว่างขันอาสาระบุอัตลักษณ์หนังสือด้านพุทธศาสนา ผมได้ประสบพบเจอฉบับตีพิมพ์มหาวิทยาลัยทุงกุก ในห้องสมุดแห่งหนึ่งในไทยซึ่งทำขึ้นในปี 1957 มาถ่ายแบบแล้วเรียงเป็น 3 แผ่นต่อ 1 หน้า และในเมืองไทยคงมีไม่กี่ชุด

ประวัติศาสตร์บันทึกว่า พระราชาโครยอสั่งให้สร้างสลักแม่พิมพ์ไม้จารึกมหาปิฎกแปดหมื่นขึ้น เพื่อขอให้พุทธคุณช่วยมิให้เสียเมืองแก่พวกชี่ตัน ซึ่งก็ไม่เสียเมืองจริงๆ แถมพวกชี่ตันยังต้องยอมรามือ แต่ต่อมาโครยอถูกมองโกลรุกรานแทน แม่พิมพ์ไม้ถูกมองโกลเผาทำลาย เหมือนเป็นตัวรับเคราะห์ไม่ให้โครยอสิ้นวงศ์ เพียงแต่เป็นเมืองขึ้นมองโกลเท่านั้น ต่อมาเมื่อแผ่นดินสงบราบคาบแล้วจึงสร้างใหม่ในปี 1398 ซึ่งคือชุดปัจจุบัน

แต่ชุดปัจจุบันเสี่ยงกับภยันตรายเสียยิ่งกว่าชุดแรก พอเปลี่ยนราชวงศ์จากโครยอ (ที่ส่งเสริมพุทธ) เป็นราชวงศ์โชซอน (ที่กำราบพุทธ) มีหลายครั้งที่โชซอนจะยกมหาปิฎกแปดหมื่นให้ญี่ปุ่น เพราะไม่เห็นค่าและญี่ปุ่นตื๊อมาหลายรอบ (ขุนนางสมัยพระเจ้าเซจงบอกว่า "มิได้ทรงคุณค่า" ส่วนเซจงทรงว่า "บ้านเมืองเราหาได้นับถือพุทธ") แต่แล้วโชซอนก็ไม่ยกให้ญี่ปุ่น เพราะคิดว่าถ้าให้ก็เท่ากับหงอ ไม่ได้คิดว่าพระไตรปิฏกมีค่าอะไรให้หวงแหน แถมเซจงยังบอกว่าน่าจะย้ายมาที่เมืองหลวงซะเลย พวกญี่ปุ่นจะได้คิดว่าเป็นของหลวง ไม่ใช่ของในป่าในดอย จะได้เกรงใจกันบ้าง

ญี่ปุ่นส่งทูตและสมณทูตมาขอถึง 80 ครั้ง แต่ล้มเหลว

หากต่อมาญี่ปุ่นหาเรื่องรุกรานโชซอนจนได้

โชคดีที่ก่อนการรุกรานครั้งนั้น พระเจ้าเซจงไม่ได้ย้ายมหาปิฎกมาเมืองหลวง เพราะหาไม่แล้วคงถูกเผาทิ้งพร้อมๆ กับเมืองฮันยาง แต่ระหว่างที่พระราชาเตลิดหนีญี่ปุ่นอยู่นั้น ชาวบ้านต้องรวมกำลังตั้งเป็นกองโจรช่วยตัวเอง มี "กองทัพธรรม" กลุ่มหนึ่งทราบว่าญี่ปุ่นจะมาบุกวัดแฮอินซา เพื่อช่วงชิงพระไตรปิฎกไป จึงจัดวางกำลังป้องกัน เข้าซุ่มตีจนชิงพื้นที่ไว้ได้ มหาปิฎกจึงรอดพ้นภยันตรายไป ส่วนเกาหลีทั้งแผ่นดินเสียหายหนัก หากสุดท้ายรอดจาการยึดครองของญี่ปุ่นไปได้

เมื่อเกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่นในอีก 300 ปีต่อมา ญี่ปุ่นก็ยังไม่อาจชิงกลับไป

แต่ภัยจริงๆ อยู่ในช่วงสงครามเกาหลี ในเวลานั้นพวกเกาหลีเหนือบุกลงใต้ มักใช้วัดเป็นฐานกำลัง วัดหลายแห่งจึงถูกฝ่ายใต้ทิ้งระเบิดทำลาย หาไม่ก็ถูกพวกฝ่ายเหนือเผาทิ้งเพื่อทำลายหลักฐาน วัดแฮอินซาในเวลานั้นมีพวกฝ่ายเหนือกบดานอยู่ กองทัพอากาศฝ่ายใต้จึงได้รับคำสั่งให้ทิ้งระเบิดปูพรม

เมื่อฝูงบินมาถึงวัด ได้ทิ้งระเบิดควันสัญญาณลงไปที่วัดแล้ว แต่ปรากฎว่านายทหารที่ชื่อคิมยองฮวัน ตัดสินใจวินาทีสุดท้ายขัดคำสั่งกองบก. แล้วให้ฝูงบินโจมตีที่สันเขารอบๆ วัด ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานปืนกลของฝ่ายเหนือแทน

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ถูกผู้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายเกาหลีและอเมริกันสอบวินัย เรื่องนี้ยังถูกรายงานประธานาธิบดีซึ่งไม่พอใจอย่างมาก แต่คิมยองฮวันตอบอย่างกล้าหาญว่า รู้ดีว่าทำผิดวินัยทหาร แต่ต้องการจะรักษาสมบัติของชาติไว้ ปรากฎว่าคิมยองฮวันรอดจากการถูกลงโทษ และสุดท้ายยังมียศเป็นถึงพล.อ.อ.

กล่าวถึงฝ่ายเกาหลีเหนือที่ซุ่มอยู่ในวัด พอถูกตีจนต้องถอยร่อน ถึงเวลาต้องเผาวัดทิ้ง แต่พระในวัดกลุ่มหนึ่งยอมเสี่ยงตายห้ามปรามพวกเกาหลีเหนือ ใช้เหตุผลหว่านล้อมจนพวกนั้นต้องมาเสียเวลาโหวตกันทั้งๆ ที่ต้องหนีตายเอาตัวรอด ปรากฎว่าฝ่ายไม่ให้เผาวัดชนะแค่ 1 เสียง ฝ่ายเหนือจึงยอมจากไปโดยไม่แตะต้องวัด ซึ่งนับว่าน่าอัศจรรย์มาก เพราะเป็นวัดอื่นได้ถูกเผาทิ้งแล้ว และหากมีพระสงฆ์กล้าขัดขืน มีแต่ตายสถานเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่น่ากล่าวถึงไว้คือ หอพระมหาปิฎมีทำเลที่ตั้งสูงกว่าอาคารหลังอื่นๆ ในวัดเพื่อให้ลมระบาย แม่พิมพ์ไม้จะได้มีอายุยืนยาว แต่การทำเช่นนี้ ทำให้หอพระมหาปิฎเสี่ยงที่จะติดไฟอย่างแน่นอน หากอาคารด้านล่างเกิดไฟไหม้ ปรากฎว่าวัดแฮอินซามีเพลิงไหม้หลายครั้ง เฉียดๆ หอใกล้จะไหม้อยู่รอมร่อ แต่หอพระมหาปิฎกลับรอดมาได้ทุกครั้ง

วัดแฮอินซานั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่ามหาปิฎกแปดหมื่น โดยสร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 802 สมัยอาณาจักรชิลลา อายุอานมก็ปาเข้าไปกว่า 1,200 กว่าปีแล้ว ตัววัดผ่านร้อนผ่านหนาว สิ้นสูญไปเพราะภยันตรายต่างๆ ก็หลายครั้ง แต่มหาปิฎกแปดหมื่นยังอยู่ยืนยงยาวนานกว่าตัวอารามเสียอีก

ในยุคร่วมสมัยของเรา วัดแฮอินซานอกจากจะเป็นสถิตของมหาปิฎกแปดหมื่นแล้ว ยังเป็นที่พำนักของพระเถระที่มีชื่อเสียงที่สุดรูปหนึ่งของเกาหลีใต้ คือพระเถระทเว-อง ซองชอล ผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมและมีความรอบรู้ในธรรมะที่ลึกซึ้งมาก

ท่านเคยกล่าวว่า “หากสรุปเนื้อหาพระไตรปิฎกฉบับเกาหลีทั้งหมดจำนวน 80,000 แผ่นแม่พิมพ์ที่เก็บไว้ในวัดแฮอินซา ก็คงจะได้เพียงตัวอักษรจีนตัวเดียวนั่นคือ "ชิม" ซึ่งหมายถึงจิต”

โดย กรกิจ ดิษฐาน เรียบเรียงเพิ่มเติมจาก "เรื่องมหาปิฎกแปดหมื่น"

Photo Lauren Heckler under CC BY 2.0