posttoday

ผู้เชี่ยวชาญถกกรณีโปรตีนเจือปนในวัคซีน AZ

16 มิถุนายน 2564

ผู้เชี่ยวชาญพบโปรตีนเจือปนในวัคซีน ขณะผู้ผลิตยันอยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่มีหลักฐานว่าเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

1. ก่อนหน้านี้ทีมนักวิจัยชาวเยอรมันชี้ว่ากุญแจสำคัญของการเกิดลิ่มเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนของ AstraZeneca และ Johnson & Johnson คืออะดีโนไวรัส (adenovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่นำมาใช้เป็นพาหะในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19

2. ในบางครั้งอาจเกิดความผิดลาดในการสร้างโปรตีนไวรัสโคโรนาเมื่อส่งวัคซีนเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งโปรตีนเหล่านั้นอาจกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของเลือดหรือเกิดภาวะลิ่มเลือดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอาการที่เรียกว่าภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันซึ่งพบในประชากรราว 5 คนจาก 1 ล้านคน

3. เพื่อคลายความกังวลในการฉีดวัคซีนทีมวิจัยเสนอแนะให้ผู้ผลิตวัคซีนพิจารณาปรับแต่งสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากโปรตีนสไปค์เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ อันจะช่วยให้วัคซีนของ AstraZeneca และ Johnson & Johnson มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

4. แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมาเว็บไซต์ Chemistry World นิตยสารข่าวเคมีรายเดือนระบุว่า Stefan Kochanek หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ulm University ประเทศเยอรมนีพบโปรตีนเจือปน (Protein impurities) ในวัคซีนของ AstraZeneca ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการเกิดอาการรุนแรงในผู้ที่ได้รับวัคซีนบางส่วนภายหลังฉีดวัคซีนได้ 2 ถึง 3 วัน หรือแม้กระทั่งอาจเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ทั้งนี้ สิ่งเจือปน (impurities) นั้นสามารถพบได้ในยาหรือวัคซีนใดๆ แต่ต้องมีปริมาณไม่เกินที่กำหนด ซึ่งแตกต่างจากสิ่งปนเปื้อน (contaminants) ที่ห้ามมีเด็ดขาด

5. Kochanek เผยจากการตรวจสอบด้วยแมสสเปกโตรเมทรี (Mass spectrometry) ว่าพบโปรตีนในวัคซีน โดยอธิบายว่าวัคซีนมีไวรัสประมาณ 12.5 ไมโครกรัมต่อ 1 โดส และมีโปรตีนที่ไม่ใช่ไวรัสประมาณ 22 ไมโครกรัม

7. Kochanek อธิบายว่าอะดีโนไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีนได้มาจากเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ชิมแปนซี) ที่เพาะเลี้ยงให้ติดไวรัส จากนั้นไวรัสจะถูกนำไปทำให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะนำมาใช้ผลิตวัคซีน

"หากกระบวนการนั้นไม่สมบูรณ์แบบสุดๆ การมีอยู่ของโปรตีนจากเซลล์ที่ใช้ในการผลิตเป็นสาเหตุของสิ่งที่เรียกว่าสิ่งเจือปน"

8. ขณะที่ Daniel Bracewell จากมหาวิทยาลัย College London ประเทศอังกฤษที่ศึกษาเกี่ยวกับโปรตีนและกระบวนการผลิตแอนติบอดีไม่เชื่อว่าจะเชื่อมโยงกับอาการลิ่มเลือดอุดตัน

9. Bracewell กล่าวว่าการพบส่วนประกอบบางอย่างของเซลล์ที่ใช้ในการสร้างไวรัสนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่างไรก็ตามเขาแนะนำให้ผู้ผลิตวัคซีนและหน่วยงานกำกับดูแลหารือกันถึงโปรตีนเจือปนดังกล่าวและตกลงกันในระดับที่ยอมรับได้

10. ด้าน Hildegund Ertl นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากสถาบัน Wistar ในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกาซึ่งทำงานเกี่ยวกับวัคซีนอะดีโนไวรัสสำหรับ HIV และที่ปรึกษาให้กับวัคซีน Sputnik V กล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะอนุญาตให้มีโปรตีนดังกล่าวในวัคซีนโดยปกติแล้วอยู่ในช่วงนาโนกรัมต่อโดส ขณะที่วัคซีน AstraZeneca อยู่ในช่วงไมโครกรัมต่อโดสซึ่งค่อนข้างสูง

11. อย่างไรก็ตาม Ertl กล่าวว่ายังคงต้องพิสูจน์ว่าสิ่งเจือปนเป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่ "นี่เป็นวัคซีนที่ดีมาก ฉันไม่ได้บอกว่าคนไม่ควรรับมัน" พร้อมวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบต่อวัคซีนดังกล่าว

12. AstraZeneca กล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งไปยัง Chemistry World ว่า "มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าโปรตีนที่อยู่ในวัคซีน AstraZenaca อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าระดับที่พบในวัคซีนอื่นๆ ที่ผลิตในลักษณะเดียวกัน"

"ไม่มีหลักฐานว่าโปรตีนที่พบมีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหรือเกล็ดเลือดต่ำ เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานเท่านั้น"

AstraZeneca ยืนยันว่าบริษัทได้พัฒนาและตรวจสอบการทดสอบการควบคุมคุณภาพเพื่อวัดโปรตีนตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และรับรองว่าวัคซีนทุกชุดได้รับการทดสอบก่อนที่จะปล่อยชุดใดๆ ในกรณีที่มีการอนุมัติการใช้งาน

13. ทั้งนี้ ในวันนี้ (16 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ก็รายงานการพบกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันของผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca โดยเป็นชายวัย 30 ปีซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 27 พ.ค.

ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและคลื่นไส้เป็นเวลา 9 วัน ก่อนจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะดังกล่าวเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.)

อย่างไรก็ตาม ทางการและองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าให้ใช้วัคซีนดังกล่าวต่อไป โดยกล่าวว่าวัคซีนอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในบางกรณีที่หายากมาก แต่ประโยชน์ของวัคซีนนั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง

Photo by OLI SCARFF / AFP