posttoday

ทีมวิจัยเยอรมันเฉลยสาเหตุลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน

27 พฤษภาคม 2564

ทีมนักวิจัยจากเยอรมนีพบสาเหตุการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาและเจแอนด์เจ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่านักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเผยสาเหตุที่วัคซีนต้านโควิด-19 บางยี่ห้อส่งผลให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันพร้อมอธิบายแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าว

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้มีการยืนยันว่าวัคซีนต้านโควิด-19 บางยี่ห้อมีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันโดยเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เผยสถิติการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลก แล้วกว่า 300 ราย

ล่าสุดทีมวิจัยซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายสถาบันในเยอรมนีรวมถึงมหาวิทยาลัยเกอเธ่ชี้ว่ากุญแจสำคัญของการเกิดลิ่มเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) คืออะดีโนไวรัส (adenovirus) ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดซึ่งนำมาใช้เป็นพาหะในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ผู้ได้รับวัคซีน

ในบางครั้งอาจเกิดความผิดลาดในการสร้างโปรตีนไวรัสโคโรนาเมื่อส่งวัคซีนเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งโปรตีนเหล่านั้นอาจกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของเลือดหรือเกิดภาวะลิ่มเลือดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอาการที่เรียกว่าภาวะภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันซึ่งพบในประชากรราว 5 คนจาก 1 ล้านคน

โดยศาสตราจารย์รอล์ฟ มาร์ชาเล็ค จากมหาวิทยาลัยเกอเธ่เผยว่าทั้งวัคซีนของแอสตราเซเนกาและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประกอบด้วยสารพันธุกรรมจากไวรัสที่มียีนของอะดีโนไวรัส เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) ซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA

พบว่าวัคซีนที่เทคโนโลยี mRNA ไม่ได้ส่งสารพันธุกรรมของไวรัสเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ แต่ส่งเข้าสู่ของเหลวในเซลล์เท่านั้นจึงปลอดภัยจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่า

นอกจากนี้เพื่อคลายความกังวลในการฉีดวัคซีนทีมวิจัยเสนอแนะให้ผู้ผลิตวัคซีนพิจารณาปรับแต่งสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากโปรตีนสไปค์เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ อันจะช่วยให้วัคซีนของแอสตราเซเนกาและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ขณะที่จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ออกแถลงการณ์ทางอีเมลระบุว่าบริษัทสนับสนุนการวิจัยและวิเคราะห์ในกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และหน่วยงานด้านสุขภาพระดับโลกเพื่อทำการปรับปรุงวัคซีน

Photo by FADEL SENNA / AFP