posttoday

ชีวิตคนเมียนมายุครัฐประหาร เงินสดเกลี้ยง-ข้าวของราคาพุ่ง

07 มิถุนายน 2564

ขณะที่ประชาชนผู้ต่อต้านออกมาประท้วงรายวัน ชาวบ้านตาดำๆ ก็ต้องกัดฟันกับเศรษฐกิจที่สาหัสสากรรจ์

เมียนมากำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเงินสดและราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นภายใต้การปกครองของทหาร โดยที่ประชาชนถอนเงินออมจากธนาคารเพราะความกังวลในอนาคต และรัฐบาลทหารที่จำกัดปริมาณเงินในระบบเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนยิ่งขาดเงินสดมากขึ้นไปอีก

สำนักข่าว Kyodo รายงานวาสี่เดือนในการปกครองของทหารนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอองซานซูจี และด้วยค่าเงินท้องถิ่นที่อ่อนค่าลง รัฐบาลทหารยังไม่สามารถควบคุมความวิบัติทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแย่งชิงอำนาจได้

ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ย่างกุ้ง สิ่งของที่ต้องมีสำหรับผู้ที่รอคิวที่ตู้เอทีเอ็ม ได้แก่ เก้าอี้, น้ำ, อาหารเช้า, ของว่าง และพัดลมมือถือ ผู้คนต่างต่อแถวยาวนอกธนาคารทุกวันก่อนรุ่งสาง โดยต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละครั้งเพื่อรับเงินสด

สถาบันการเงินของประเทศกลายเป็นอัมพาตในช่วงแรกๆ ของการปกครองโดยทหาร เนื่องจากพนักงานธนาคารและคนอื่นๆ ปฏิเสธที่จะไปทำงานอันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอารยะขัดขืนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ตั้งแต่นั้นมา สถาบันการเงินได้เริ่มกลับมาดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่รัฐบาลทหารได้จำกัดจำนวนการถอนเงินที่ผู้ประชาชนสามารถทำได้ เพื่อป้องกันการดำเนินการของธนาคารไม่ให้ถูกถอนเงินสดออกมากเกินไปจนระบบล่ม

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการเงินระบุว่าผู้ที่สามารถถอนเงินจากบัญชีธนาคารของตนได้แปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดมืด หรือเก็บไว้ใต้ที่นอนของตน

การขาดเงินสดทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในภาคธุรกิจ แหล่งข่าวจากบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าญี่ปุ่นร้องเรียนว่ากำลังประสบปัญหาในการจ่ายเงินให้กับคนงานเนื่องจากไม่มีเงินสดในมือ

การขาดแคลนเงินสดทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับกองทัพที่จะจ่ายเงินให้ทหารตรงเวลา ส่งผลให้ทหารบางส่วนต้องลงมือปล้นทรัพย์สินจากรายงานของสื่อท้องถิ่น

ในขณะที่รัฐบาลทหารสามารถสั่งให้ธนาคารกลางของประเทศพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อเพิ่มปริมาณเงิน แต่ก็ไม่เต็มใจที่จะใช้วิธีนั้น เนื่องจากมีแนวโน้มที่หากราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในวงกว้าง แหล่งทางการทูตกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการคาดเดาว่าปริมาณเงินของประเทศได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทสัญชาติเยอรมันที่จัดหาวัสดุจัดทำธนบัตรให้กับรัฐบาลหยุดดำเนินการไปภายหลังการรัฐประหาร

ราคาน้ำมันเบนซินและเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ รวมถึงยาซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าล้วนขึ้นราคา

ฮิโรมาสะ มัตสึอุระ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Mizuho Research & Technologies Ltd. ได้พิจารณาถึงผลกระทบที่ตามมาของการหยุดชะงักของการขนส่งภายหลังการรัฐประหารและกล่าวว่า ราคาสินค้าในเมียนมาร์อาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 10-15% โดยรวม

นอกจากนี้สกุลเงินจ๊าตของพม่า ยังอ่อนค่าลงถึง 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร

กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ในภาครัฐและเอกชนของประเทศที่ต่อต้านการปกครองของทหาร ระบุว่า เศรษฐกิจเมียนมาได้แสดงสัญญาณของเงินเฟ้อแล้ว เนื่องจากการขาดแคลนสินค้าและการอ่อนค่าของสกุลเงิน

ด้าน Frontier Myanmar รายงานว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารไม่มีเงินสด ธนาคารกลางของเมียนมาได้กำหนดขีดจำกัดการถอนเงินสำหรับบุคคลธรรมดาจำนวน 2 ล้านจ๊าตต่อสัปดาห์ (ราว 38,080 บาท) ซึ่งรวมถึงตู้เอทีเอ็มถอนได้สูงสุด 500,000 จ๊าตต่อวัน (ราว 9,520 บาท) แต่เนื่องจากธนาคารกลางไม่ต้องการให้ธนาคารเอกชนมีสภาพคล่องเพียงพอ ธนาคารจึงจำเป็นต้องจำกัดส่วนเงินสำรองของตนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยกำหนดขีดจำกัดจำนวนลูกค้ารายวันและกำหนดขีดจำกัดการถอนที่ต่ำลงไปอีก ยิ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนและความยาวของคิวรอถอนเงินมากขึ้น

Photo - ผู้คนเข้าคิวรอใช้เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ของธนาคาร KBZ ในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564 ท่ามกลางการดำเนินงานของธนาคารที่ตึงเครียดเนื่องจากการประท้วงอย่างต่อเนื่องของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร (ภาพโดย STR / AFP)