posttoday

ทั้งที่ถูกแฉไม่รู้กี่ครั้ง สหรัฐก็ยังไม่หยุดสอดแนมพันธมิตร

02 มิถุนายน 2564

แม้จะเคยถูก เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน แฉว่าสอดแนมพันธมิตร แต่สหรัฐก็ไม่เคยยอมรับตรงๆ และไม่เคยหยุดจนกระทั่งถูกเปิดโปงอีกครั้ง

ในเดือนสิงหาคม 2013 เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนให้ข้อมูลกับ The Guardian ว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) มีโครงการหนึ่งที่ชื่อ XKeyscore เป็นโปรแกรมขนาดใหญ่ที่ดูดข้อมูลอีเมล กิจกรรมโซเชียลมีเดีย และประวัติการท่องเว็บทั้งหมด ข้อมูลจะถูกวิเคราะห์, กรอง ละจัดเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลก โดยมีเซิร์ฟเวอร์มากกว่า 700 เซิร์ฟเวอร์ใน 150 ไซต์โดยประมาณซึ่งเป็น "ความลับสุดยอด"

หนึ่งในเซิร์ฟเวอร์นั้นตั้งอยู่ในประเทศไทย 

ต่อมาในเดือนมกราคม 2014 (หรือไม่กี่เดือนก่อนรัฐประหารในไทย) Der Spiegel รายงานว่า NSA สามารถเจาะข้อมูลการสื่อสารตามเคเบิลใยแก้วนำแสงจำนวนมากที่มีต้นกำเนิดใกล้เมืองมาร์เซย์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และเชื่อมโยงยุโรปกับแอฟริกาเหนือและประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ต่อเนื่องผ่านปากีสถานและอินเดียไปยังมาเลเซียและไทย เครือข่ายนี้เรียกว่า  Sea-Me-We 4  และสหรัฐล้วงข้อมูลลับสุดยอดเอามาได้ 

Der Spiegel อ้างเอกสารของ NSA ที่บอกว่า “ในอนาคตจะมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งนี้ (ระบบ Sea-Me-We 4 ) และระบบเคเบิลอื่นๆ”

ต่อมาในเดือนมิถุนายน WikiLeaks รายงานว่า NSA สอแนมโทรศัพท์ติดต่อที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล และที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดที่สุดของเธอมาหลายปีแล้ว และ NSA ยังตั้งเป้าหมาย 125 หมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนีเพื่อการเฝ้าจับตาระยะยาว

กรณีนี้และกรณีสโนว์เดนทำให้สหรัฐหน้าแหกแบบจังๆ เพราะถูกจับได้ว่าล้วงตับ "มหามิตร" แต่มหามิตรก็แค่ทวงถามถึงความจริงไม่ได้กดดันเหมือนจะขอแยกวง ทำให้สหรัฐยังทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งมาถึงปีนี้สหรัฐก็โดนจับได้อีกครั้ง

ข้อสงสัยเรื่องการสอดแนมประเทศอื่นของสหรัฐได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจาก Danmarks Radio สถานีวิทยุของเดนมาร์ก ตีแผ่ว่า NSA ใช้ประโยชน์จากความร่วมมือด้านข่าวกรองกับสำนักข่าวกรองกลาโหมเดนมาร์ก (FE) ดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำประเทศพันธมิตรในยุโรปใน "ปฏิบัติการดันแฮมเมอร์" (Operation Dunhammer)

ครั้งนี้สหรัฐลอบดักฟังข้อมูลจากเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้น้ำของเดนมาร์กระหว่างปี 2012-2014 เพื่อสอดแนมนักการเมืองระดับสูงในเยอรมนี สวีเดน นอร์เวย์ และฝรั่งเศส รวมทั้งของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีในเวลานั้น และเพียร์ สไตน์บรูก ผู้นำฝ่ายค้านเยอรมนีขณะนั้น

แม้จะมีชื่อของสองประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องคือ สหรัฐกับเดนมาร์ก แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเวลานั้นเดนมาร์กรู้ตัวหรือไม่ว่าสหรัฐกำลังใช้สายเคเบิลใต้น้ำของเดนมาร์กในการลอบสอดแนมเพื่อนบ้านของเดนมาร์ก ทัวร์จึงไปลงที่สหรัฐเต็มๆ

หลังทราบเรื่องผู้นำยุโรปประสานเสียงกันเรียกร้องให้สหรัฐชี้แจงกรณีนี้ ไล่ตั้งแต่ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส อังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนีที่ถูกดักฟังโดยตรง ทรีเน บรัมเซิน รัฐมนตรีกลาโหมเดนมาร์ก และอาร์นา ซูลแบร์ก นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การสอดแนมพันธมิตรที่มีความใกล้ชิดกันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้และไม่ควรเกิดขึ้น

การสอดแนมของสหรัฐครั้งนี้เหมือนเป็นการย้ำแผลเดิมของยุโรปจึงไม่แปลกที่หลายประเทศจะออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันอย่างแข็งขัน

เมื่อปี 2013 เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ NSA แฉข้อมูลช็อกโลกและสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐกับเยอรมนี เปิดโปงการลอบสอดแนมอย่างมโหฬารของสหรัฐภายหลังเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. 2011 ว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังสอดแนมพลเมืองของตนเอง และลอบดักฟังอย่างกว้างขวางทั่วโลกรวมถึงโทรศัพท์มือถือแมร์เคิล

ในเวลานั้นทำเนียบขาวไม่ได้ปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา โดย เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวเพียงแต่บอกว่า โทรศัพท์ของแมร์เคิลไม่ได้กำลังถูกดักฟังอยู่ในขณะนั้น และจะไม่เกิดเรื่องเช่นนั้นในอนาคต

แต่ยังไม่พอคลายความสงสัย เนื่องจากสหรัฐไม่พูดให้ชัดเจนว่าไม่เคยทำในอดีตที่ผ่านมา

และก่อนที่สโนว์เดนจะนำหลักฐานมาเปิดเผย เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐยังยืนกรานต่อสาธารณชนว่า NSA ไม่เคยล่วงรู้ว่ามีการเก็บข้อมูลจากบันทึกโทรศัพท์ส่วนตัว

แต่หากปฏิบัติการดันแฮมเมอร์ได้รับการยืนยันจะเป็นหลักฐานฟ้องได้อย่างดีว่า สหรัฐยังเดินหน้าสอดแนมพันธมิตรต่อไปทั้งระหว่างและหลังถูกสโนว์เดนเปิดโปง

และล่าสุดนี้สโนว์เดนกลับมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อีกครั้งโดยกล่าวหาว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน "มีส่วนร่วมในเรื่องอื้อฉาวนี้ตั้งแต่แรก" โดยในช่วงที่มีรายงานว่าเกิดการสอดแนมขึ้นในสมัยโอบามา ไบเดนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ

สโนว์เดนยังทวีตเรียกร้องให้ "มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเต็มที่ ไม่ใช่จากทางเดนมาร์กเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพันธมิตรระดับสูงของเดนมาร์กด้วย"

แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากสหรัฐ

วีรกรรมสอดแนมของสหรัฐยังไม่หมดเท่านั้น NSA ยังมีโครงการสอดแนมที่เรียกว่า MYSTIC ที่เริ่มปฏิบัติการเก็บข้อมูลบันทึกในโทรศัพท์ในหลายประเทศ อาทิ เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ เคนยา บาฮามาส มาตั้งแต่ปี 2009

กว่าชาวโลกจะรู้ว่ามีโครงการนี้อยู่ ก็ต้องรอจนถึงปี 2014 เมื่อสำนักข่าว Washington Post นำเรื่องนี้มาเปิดโปงโดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารลับที่สโนว์เดนนำออกมาเผยแพร่

โธมัส เวกเนอร์ ฟริส ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองจาก University of Southern Denmark บอกกับ AFP ว่า การแฉครั้งล่าสุดนี้เป็น “จิ๊กซอว์ชิ้นใหม่” และ “มันคือเรื่องฉาวทำนองเดียวกันกับที่เยอรมนีเคยช่วยสหรัฐสอดแนมเมื่อไม่กี่ปีก่อน”

แสดงว่าทุกประเทศต่างก็เคยหรืออาจกำลังสอดแนมซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีใครต้องการเพลี่ยงพล้ำในเรื่องข่าวกรองซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐที่มีบทบาทระหว่างประเทศมาก ก็ย่อมต้องมีขีดความสามารถด้านข่าวกรองสูง

Photo by MANDEL NGAN / AFP