posttoday

กรณีศึกษาไต้หวัน ฉีดวัคซีนน้อย-เกิดวิกฤตไม่พอใช้

17 พฤษภาคม 2564

สรุปข่าววัคซีนทั่วโลก: ผู้ป่วยโควิด-19 รายวันในไต้หวันพุ่ง 335 คนทุบสถิติขณะประสบปัญหาจัดส่งวัคซีนล่าช้า

กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันแถลงเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่าไต้หวันกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 335 คนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาซึ่งนับว่าเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดเมื่อต้นปีที่แล้ว ส่งผลให้ขณะนี้ไต้หวันมีผู้ป่วยสะสมอย่างน้อย 2,017 คนและเสียชีวิตอย่างน้อย 12 คน

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อพุ่งกว่า 700 คนซึ่งถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่ไต้หวันสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดีมาโดยตลอดท่ามกลางความกังวลว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของไต้หวันเข้าสู่ภาวะชะงักงัน หลังจากเคยได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด

วัคซีนเริ่มไม่พอ

สำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่าขณะนี้ไต้หวันได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เพียงยี่ห้อเดียวจำนวนทั้งสิ้น 315,000 โดส ซึ่งครอบคลุมประชากรเพียง 1% เท่านั้นจากประชากรทั้งหมด 23 ล้านคน ซึ่งทางการไต้หวันจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวก่อนเป็นลำดับแรก โดยปัจจุบันมีคนรับวัคซีนไปแล้วกว่า 1 แสนคน

ขณะที่การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วไปจะถูกระงับไว้ก่อนเนื่องจากวัคซีนไม่เพียงพอ โดยไต้หวันได้สั่งซื้อวัคซีนจากทั้งแอสตราเซเนกาและโมเดอร์นา (Moderna) รวม 20 ล้านโดสแต่อาจไม่สามารถจัดส่งได้ตามกำหนดเนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัคซีน

อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ยืนยันว่าจะได้รับวัคซีนเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ไต้หวันกำลังพัฒนาวัคซีนของตัวเองซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในการทดลองระยะที่ 2 และคาดว่าจะสามารถผลิตออกมาให้ประชาชนได้ใช้ภายในเดือนกรกฎาคม

วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยบริษัท Medigen Vaccine Biologics Corporation และ United Biomedical กำลังอยู่ในการทดลองระยะที่ 2 กับอาสาสมัครกว่า 4,000 คนซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินภายในเดือนมิถุนายน

คุมดีแต่ฉีดน้อย

ข้อมูลจาก Our World in Data พบว่าไต้หวันมีอัตราการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องแต่ยังถือว่ามีสัดส่วนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ และข้อมูลของ Our World in Data ยังมีถึงแค่วันที่ 16 เมษายนเท่านั้น โดยมีอัตราส่วนแค่ 0.14% ของประชากรทั้งประเทศ

ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนมากที่สุดจากตัวเลขวันที่ 14 พฤษภาคมคือยิบรอลตาร์มีอัตราส่วน 115% อันดับที่ 2 คือเซเชลส์ 70.8% 3 คือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ 75.5% โปรดสังเกตว่าทั้ง 3 ดินแดน/ประเทศมีลักษณะเป็น "เกาะ" (ส่วนยิบรอลตาร์มีลักษณะเป็นติ่งคาบสมุทรที่ปลายสุดของสเปนซึ่งก็คล้ายเกาะอยู่ในที) ทั้ง 3 อันดับแรกที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุดจึงเป็นเกาะเหมือนไต้หวัน แต่ไต้หวันกลับอยู้่ท้ายๆ การจัดอันดับด้วยจำนวนฉีดวัคซีนที่น้อยมาก

เรื่องนี้เป็นที่สังเกตของสื่อต่างประเทศเช่นกัน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม Deutsche Welle ของเยอรมนีรายงานว่า "ไต้หวันพบผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนน้อยมากและมีผู้เสียชีวิตเพียง 12 รายในระหว่างการแพร่ระบาดตลอดมา แต่ถึงแม้จะมีการตอบสนองของโรคระบาดที่น่าประทับใจ แต่ไต้หวันก็ยังล้าหลังในการแข่งขันฉีดวัคซีน"

รายงานข่าวนี้เกิกขึ้นก่อนที่จู่ๆ ไต้หวันจะเจอกับการระบาดเข้าตูมใหญ่ ในวันที่ 14 พฤษภาคม Taiwan News รายงานว่ายอดฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก รายงานของศูนย์ควบคุมโรคไต้หวัน (CDC) ระบุว่ามีประชาชาชน 129,669 คนในไต้หวันได้รับวัคซีน อย่างน้อยหนึ่งครั้งซึ่งคิดเป็น 0.55% ของประชากร 23.5 ล้านคน (เทียบกับวันที่ 16 เมษายนเท่านั้น โดยมีอัตราส่วนแค่ 0.14% ของประชากรทั้งประเทศ)

คุมดีจึงการ์ดตก?

สื่อต่างประเทศบางราย เช่น Bloomberg The Sydney Morning Herald ตั้งข้อสังเกตคล้ายๆ กันว่าเนื่องจากอัตราการติดเชื้อโควิด -19 ในไต้หวันแทบไม่มีเลย ทำให้ประชาขนใช้ชีวิตอย่างเสรีมากขึ้น อัตราการเข้าชมกีฬาและสังสรรค์ในคารราโอเกะเพิ่มขึ้นมากราวกับสู่ภาวะปกติแล้ว สิ่งนี้ทำประชาชนจำนวนมากไม่มีแรงจูงใจในการรับวัคซีนและบางคนต้องการรอดูว่ามีผลข้างเคียงหรือไม่

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่โรงพยาบาลแมคเคย์เมมโมเรียลในไทเปมีคน 120 คนปรากฏตัวในวันพุธเพื่อรับการฉีดวัคซีนที่จ่ายเงินเองโดย 20% เป็นชาวต่างชาติในไต้หวันที่ต้องการไปเยี่ยมครอบครัวของพวกเขาที่บ้านเกิด นั่นแสดงว่าคนไต้หวันท้องถิ่นก็ยังไม่กระตือรือร้นนักแม้จะมีโครงการเสียเงินฉีดเอง 

แต่ก่อนหน้าวันที่ 21 เมษายนแค่ 1 วันนี่เองที่วิกฤตได้เริ่มต้นขึ้นเงียบๆ เมื่อนักบินขนส่งสินค้าชาวอินโดนีเซียได้บินจากไต้หวันไปยังออสเตรเลียและเมื่อเขามาถึงก็ถูกตรวจพบเชื้อ ผู้ใกล้ชิดของเขาสองคนก็ติดเชื้อเช่นกัน พวกเขาเคยไปเยี่ยมชมสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านในไทเปและเมืองเถาหยวนรวมถึงมัสยิดสองแห่งและซูเปอร์มาร์เก็ตก่อนที่จะมีอาการ

จากกรณีดังกล่าวทำให้ศูนย์บัญชาการโรคระบาดกลางของไต้หวัน (CECC) ต้องเร่งตรรวสอบการติดเชื้อกรณีนี้ในวันที่ 23 เมษายน เพราะกรณีนี้พบว่าผู้ติดเชื้อไปสถานที่สาธารณะหลายแห่งก่อนเข้ารับการรักษา

แต่สถานการณ์เริ่มควบคุมไม่ได้ เมื่อถึงกลางเดือนพฤษภาคมไวรัสทำให้มีผู้ติดเชื้อ 7 รายในวันที่ 11 พฤษภาคมเพิ่มขึ้นเป็น 185 รายภายในวันที่ 15 พฤษภาคมและ 333 รายในวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม - ถึงตอนนี้ไต้หวันเร่งการฉีดวัคซีนอย่างหนัก

เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ประชาชนไต้หวันควรได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ของประชากรตามข้อมูลจาก Taiwan Factchecker Center (TFC) เมื่อถึงจุดนี้แล้วจะที่มีโอกาสน้อยที่โรคจะแพร่กระจาย

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกของรายงานนี้ที่ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้ไต้หวันอาจประสบปัญหาวัคซีนไม่พอ โครงการเสียเงินฉีดวัคซีนยังต้องระงับไปในที่สุดเพื่อระดมวัคซีนมาฉีดในวงกว้าง

Photo by Sam Yeh / AFP