posttoday

พวกเขาไม่ใช่แค่ขายผัก แต่ Market Kurly ยังสร้างสตอรี่ให้กับเกษตรกร

18 เมษายน 2564

คนเกาหลีใต้ขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบ และ Market Kurly ของ โซฟี คิม ก็เกิดขึ้นมาเพื่อการนี้

เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่พิถีพิถันใส่ใจการเลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เนื่องจากคนเกาหลีส่วนใหญ่เชื่อว่าอาหารคือยาในชีวิตประจำวัน บรรดาแม่บ้านหรือเชฟมือทองจึงมักสรรหาวัตถุดิบชั้นเลิศ หรืออาหารออร์แกนิคมาปรุงอาหาร แต่วัตถุดิบดีๆ เหล่านี้ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงหูฉี่

ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตบ้านเกิดขายสินค้าออร์แกนิคในราคาสูง แต่ โซฟี คิม ผู้ก่อตั้ง Market Kurly อีคอมเมิร์ซขายผักผลไม้และวัตถุดิบในการปรุงอาหารกลับขายสินค้าเหล่านี้ในราคาถูกกว่าโดยที่คุณภาพไม่ลดลง จนเป็นที่ฝากท้องของบรรดาคนรักสุขภาพทั่วประเทศ

ก่อนเริ่มต้น Market Kurly นั้น คิม ซึ่งจบการศึกษาจากสหรัฐ ผ่านการเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้กับบริษัทหลายแห่งทั้งในฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ คิม ถึงกับยกให้เป็นสวรรค์สำหรับนักชิมอย่างเธอ ระหว่างทำงาน สาวเกาหลีตระเวนชิมอาหารท้องถิ่นมานับไม่ถ้วน ก่อนตัดสินใจกลับบ้านเกิดเมื่อปี 2014

เมื่อไปถึงที่นั่น นักชิมตัวยงก็พบว่า อาหารอร่อยและดีในเกาหลีทั้งแพงและหายาก เธอจึงเริ่มวิเคราะห์อย่างเป็นการเป็นงานถึงปัญหานี้ และพบว่าเกาหลีมีระบบการขนส่งอาหารสดที่ค่อนข้างแปลก คือคนปลูกได้เงินไม่คุ้มค่าเหนื่อย คนกินควักเงินจ่ายในราคาสูง โดยที่กำไรทั้งหมดตกไปอยู่ที่พ่อค้าคนกลาง

เมื่อเห็นจุดต่างนี้ คิมจึงตัดสินใจก่อตั้ง Market Kurly ขึ้นมาในปี 2015 เพื่อสรรหาอาหารดีราคาไม่แพงจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ไม่มีเวลาไปเลือกซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้า โดยชูจุดขายแรก ส่งไวถึงหน้าบ้าน ลูกค้าที่สั่งสินค้าก่อน 11 โมง จะได้รับสินค้าสดๆ ราว 7 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้นในพื้นที่กรุงโซล

พวกเขาไม่ใช่แค่ขายผัก แต่ Market Kurly ยังสร้างสตอรี่ให้กับเกษตรกร

วิธีการซื้อสินค้าของคิมก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เธอจะติดต่อและซื้อสินค้ากับผู้ผลิตโดยตรง โดยการออร์เดอร์ล่วงหน้าเพื่อล็อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า

คิมเคลมว่าเธอใช้หลักการทำนายความต้องการของลูกค้าและจัดการกับสินค้าคงเหลือจากฐานข้อมูลที่บริษัทวิเคราะห์ออกมา

วิธีนี้ทำให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลกับการรับความเสี่ยงกรณีที่สินค้าขายไม่หมด เมื่อไม่มีความเสี่ยงก็ไม่ต้องตั้งราคาสินค้าสูง เมื่อสินค้าไม่แพงลูกค้าก็บริโภคมากขึ้น ซึ่งก็ย้อนกลับมาเป็นผลดีกับตัวเกษตรกรเอง

แต่จุดที่ทำให้ Market Kurly ชนะใจเกษตรกรคือ การสร้างเรื่องราวและแบรนด์สินค้าให้กับเกษตรกรแต่ละแปลง

Market Kurly จะเพิ่มป้ายแนะนำเกษตรกรที่ปลูกผักผลไม้สั้นๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมและกรรมวิธีในการปลูก เป็นการขายทั้งสินค้าและเรื่องเล่าไปพร้อมๆ กัน

ความใส่ใจทั้งหมดนี้ทำให้ Market Kurly ชนะใจคนรักสุขภาพภายในเวลาเพียง 18 เดือนนับตั้งแต่ก่อตั้ง โดยที่ขณะนั้นแต่ละคนช็อปครั้งละไม่ต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐ ส่วนปัจจุบันนี้ก็กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นของเกาหลีใต้ไปอีก 1 แห่ง

ภาพ: Market Kurly