posttoday

เพลิงแค้นของลูกค้าจีน

25 มีนาคม 2564

เมื่อตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกลุกฮือต้านอะไรจะเกิดขึ้น?

ไม่มีอะไรร้อนไปกว่าความแค้น ในยุคสมัยนี้มุนษย์สามารถปลดปล่อยความแค้นเคืองได้ง่ายๆ และเรียกมันซะสวยหรูว่า Cancel culture หรือการแบน หรือการสั่งสอนทางสังคม ฯลฯ ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ตาม มันคือกระแสที่เกิดขึ้นแบบรายวัน

มันเกิดขึ้นกับจีนและแบรนด์ดังจากตะวันตก และเป็นการทำสงครามการค้าในระดับรากหญ้าครั้งแรกเลยก็ว่าได้ เมื่อแบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์ทั้งฝรั่งและญี่ปุ่นรวมตัวกันประกาศไม่ใช้ฝ้ายที่ผลิตจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ตามที่มีรายงาน (จากประเทศตะวันตกนั่นแหละ) ว่ามีการตั้งค่ายกักกันชาวซินเจียงและใช้แรงงานชาวซินเจียง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาติอุยเกอร์/อุยกูร์) ใช้แรงงานทำฝ้าย แล้วจีนนำฝ้ายนั้นไปขายต่อให้แบรนด์ดังใช้ผลิตสินค้น แล้วคนจีนก็ซื้อต่อไป

แน่นอนคนจีนไม่เชื่อรายงานตะวันตกเรื่องซินเจียงและพวกเขาอยู่ในจุดพีคของกระแสชาตินิยม (ที่ปั่นโดยสีจิ้นผิงมานานหลายปี) กระแสการแบนจึงเกิดขึ้นและลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ในอัตราที่น่ากลัว

เพลิงแค้นของลูกค้าจีน

ใครแบนใครกันบ้าง

ชาวเน็ตจีนเริ่มนำลิสต์รายชื่อออกมาตีแผ่กันตั้งแต่คืนวันที่ 26 มีนาคมและกลายเป็นปรากฎการณ์ที่รวดเร็ว จากคำสาบานของชาวเน็ตที่จะไม่ซื้อ กลายเป็นการรวมตัวกันของคนดังและดาราที่ถอนสัญญาจากแบรดด์เหล่านั้น

วันรุ่นขึ้นกระแสนี้ยังรุนแรงจนลามจาก H&M ไปยัง Nike และ Adidas และมีแบรนด์อื่นจ่อรอโดนแบนอีก การจัดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมในโซเชียลมีเดียจีนเต็มไปด้วยเรื่องของฝ้ายซินเจียงและการแบนจนเรียกได้ว่าแทบไม่พอจะยัดเข้าไปในช่องการจัดอันดับ

Global Times สื่อของรัฐบาล (ภาคภาษาจีน) นำเอาเอกสารของดาราและคนดังที่ประกาศยุติสัญญากับแรนด์ดังมาแสดงให้ดู เช่น หยางมี่, ตี่ลี่เร่อปา (ซึ่งเป็นนักแสดงหญิงชาวซินเจียง) อี้หยางเชียนสี่ หรือ แจ็คสัน ยี ประกาศยกเลิกสัญญากับ Adidas

ไป๋จิ้งถิง กับ โอวหยาง น่าน่า เลิกสัญญากับ Converse ในกรณีของโอวหยาง น่าน่า ถือว่าแปลกพอสมควรเพราะเธอเป็นนักร้องชาวไต้หวันซึ่งควรจะไม่ตามกระแสนี้ แต่ถ้าใครติดตามเรื่องราวของเธอจะทราบว่า น่าน่าเอียงมาทางแผ่นนดินใหญ่มากจนทำให้เกิดกรณีอื้อฉาวในไต้หวันมาแล้วกับการที่เธอบอกว่า "ฉันภูมิใจกับการเป็นคนจีน"

นอกจากนี้ยังมี จางอี้ซิง หรือ เลย์ แห่งวง Exo เลิกสัญญากับ Converse และ CK ยังมี เฉินเหว่ยถิง หรือ วิลเลียม ชาน นักร้องและนักแสดงชาวฮ่องกงเลิกสัญญากับ TommyHilfiger (กรณีของของวิลเลียมคล้ายกับกรณีของน่าน่าที่ต่างก็ไม่ใช่ชาวแผ่นดินใหญ่) และยังมีนักแสดงสาว หนีนี กับนักแสดงหนุ่ม จิ่งปั๋วหราน เลิกสัญญากับ Uniqlo

ในเวยปั๋วของข่าวนี้ยังมีชาวจีนแสดงความเห็นกันอย่างคึกคักเช่นเดียวกับข่าวนี้ในที่อื่นๆ พวกเขาบอกว่าจะจับตาดูว่าดาราพวกนี้จะแบนจริงๆ จังๆ หรือไม่ นี่แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของการแบนซึ่งคนที่จะ "ซวย" ไม่ใช่แค่แบรด์แต่เป็นคนที่กล้าใช้แบรนด์พวกนี้ด้วย โดยเฉพาะดาราทั้งหลายที่อยู่ในสายตาประชาชนตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องน่าสนใจหากเราจะจับตาต่อไปว่าบริษัทที่อยู่ในรายชื่อแบนฝ้ายซินเจียงพวกนี้จะไปเอาฝ้ายมาจากไหนหากไม่เอามาจากจีน เพราะจีนเป็นผู้ผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก หรือว่าจะไปซื้อมาจากอันดับที่ 3 ซึ่งก็คือสหรัฐ? หากออกมารูปนี้จะยิ่งชัดว่าบริษัทตะวันตกอุดหนุนพวกเดียวกันเอง แล้วหาทางผลักจีนออกจากวง เพื่อทำให้สงครามการค้าเต็มรูปแบบมากขึ้น

ที่ต้องพิจารณากันต่อไปก็คือ การทิ้งไพ่ไม่เอาฝ้ายซินเจียงมันคุ้มขนาดนั้นหรือสำหรับบริษัทตะวันตก? เทียบกับกระแสการถูกแบนโดยคนจีนที่มีกำลังซื้อมหาศาล?

ชาวเน็ตจีนได้รายชื่อมาจากไหน ตอบว่ามาจาก "BCI" และเรื่องนี้เกี่ยวพันกับการค้าฝ้ายการค้าสินค้าแฟชั่นและตลาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างจีนอย่างเหนียวแน่น มันมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจมาก

เพลิงแค้นของลูกค้าจีน

BCI หัวโจกที่น่าสงสัย

จีนผลิตฝ้ายกว่า 1 ใน 5 ของโลกโดยซินเจียงคิดเป็นประมาณ 87% ของผลผลิตของจีนแต่ตอนนี้แบรนด์ระดับโลกหลายรายประกาศว่าจะเลิกใช้ฝ้ายและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากซินเจียงเนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียง

ซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวจีนออกมาต่อต้านแบรนด์เหล่านั้นแล้วพวกเขายังพุ่งเป้าไปที่ Better Cotton Initiative (BCI) ซึ่งระงับฝ้ายในซินเจียงเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วด้วยเหตุผลเดียวกัน

Better Cotton Initiative (BCI) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นพัฒนาการผลิตฝ้ายอย่างยั่งยืนและส่งเสริมมาตรฐานการผลิตฝ้ายใน 21 ประเทศทั่วโลก โดยในสิ้นปีที่ผ่านมามีสมาชิกทั้งสิ้น 1,197 รายรวมถึงแบรนด์ค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Nike, Adidas, H&M, Fast Retailing, Gap, Levi Strauss และ IKEA

แบรนด์เหล่านี้ถูกชาวจีนกดดันให้ออกจากการเป็นสมาชิก BCI เพราะชาวจีนปฏิเสธว่าการบังคับใช้แรงงานในซินเจียงนั้นไม่มีอยู่จริงและเป็นเรื่องหลอกลวงที่สร้างขึ้นมาโดยมีเจตนาแอบแฝงบางอย่าง ขณะที่สำนักงาน BCI ประจำเซี่ยงไฮ้ก็กล่าวกับ Global Times ว่า "ไม่มีการบังคับใช้แรงงานในซินเจียงมานาน 8 ปีแล้ว"

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนคนหนึ่งกล่าวว่า "หากคุณคว่ำบาตรฝ้ายซินเจียงเราก็จะคว่ำบาตรคุณ Adidas จะออกจาก BCI หรือจะออกจากจีน" ด้าน Anta Sports แบรนด์อุปกรณ์กีฬาจากจีนก็หุ้นขึ้นกว่า 6% หลังออกจาก BCI และออกแถลงการณ์ว่าจะยังคงใช้ฝ้ายจากซินเจียงต่อไป

เหตุผลที่ยังมีผู้สนับสนุนฝ้ายจากซินเจียงและไม่เชื่อในคำพูดของ BCI เพราะในอีกมุมหนึ่งองค์กรเองก็มีข้อครหาอยู่เช่นกัน

ประการแรกคือแม้ว่า BCI จะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในหลายประเทศแต่หนึ่งในนั้นคือหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ซึ่งบทความหนึ่งของคณะกรรมการกลางสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนระบุว่า USAID เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่สำคัญของ BCI

ทั้งยังกล่าวว่า "เป็นไปได้ว่าจุดประสงค์ของ USAID เป็นมากกว่าเพียงแค่การสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม ... หลังจากได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหรัฐการประชาสัมพันธ์ของ BCI ก็มีมากขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน Marks and Spencer ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร, Levi's, Nike และ Adidas ในสหรัฐอเมริกาก็เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ BCI

BCI อ้างว่าวัตุประสงค์หลักขององค์กรคือการส่งเสริมการปลูกและผลิตฝ้ายทั่วโลกเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่ฝ้ายและเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฝ้ายในอนาคต ... เป็นเรื่องน่าขันที่มันขัดแย้งกับการกระทำที่ทำลายผลประโยชน์ของชาวไร่ฝ้ายและการพัฒนาอุตสาหกรรมฝ้ายในซินเจียงอย่างเห็นได้ชัด"

ประการต่อมาคือเว็บไซต์ Global Times ระบุว่า BCI ปฏิบัติแบบสองมาตรฐานโดยจงใจที่จะเพิกเฉยต่อปัญหาแรงงานในบางประเทศอย่างเช่นอินเดีย ซึ่งมีแรงงานเด็กราว 10 ล้านคนตามสถิติขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โดยเด็กบางคนถูกบังคับให้ทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน

ทั้งนี้ สหรัฐเป็นผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองลงมาจากอินเดียและจีน

นอกจากนี้การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่า BCI มีแนวโน้มว่ากำลังทำให้บริษัทผู้ผลิตทำการ "ฟอกเขียว" (การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น) เนื่องจากยังมีการบังคับใช้แรงงาน, แรงงานเด็ก และการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชจำนวนมากโดยไม่มีการเสนอข้อมูลหรือการรับประกันความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

แต่ BCI ปฏิเสธเรื่องนี้

เพลิงแค้นของลูกค้าจีน

เบื้องลึกของการแบนหมู่

น่าแปลกที่การเลิกใช้ฝ้ายจากแบรนด์ดังไม่ได้เพิ่งจะมาเกิดแต่มีบ้างประปราย เช่นกรณีของ Marks and Spencer คนจีนก็ไม่ได้ร้อนรนอะไร แต่กลับมาเกิดกระแสไฟลามทุ่งเอาตอนนี้ นับว่าน่าคิดมาก

อาจเป็นเพราะว่ารัฐบาลประชาติตะวันตกเพิ่งจะรวมพลังกันคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนผู้เกี่ยวข้องกับซินเจียงและบริษัทดังๆ ก็รับลูกพอดี ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมาก จนคนิดจีนคิดว่าตัวเองกำลังถูกรุม

มีข้อสังเกตว่ากระแสการแบนถูกรับลูก (หรือปั่น?) ต่อโดยสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งระบุว่า "ต้องการสร้างรายได้จากจีนแต่ปล่อยข่าวปลอมและคว่ำบาตรฝ้ายจากซินเจียงงั้นหรือ? หวังมากไปหรือเปล่า" สำหรับกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวกับรัฐบาลแล้ว นับเป็นการโพสต์ไม่ทางการเอามากๆ แต่มันโดนใจชาวจีน

สันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์จีนเป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เน้นหนักเรื่องชาตินิยมในช่วงไม่กี่ปีหลัง บรรยากาศการโหมกระแสนี้ในจีนถือว่าสูงมาก และยิ่งสูงหลังจากจีนทำสงครามการค้ากับสหรัฐ และต่อมายังถูก "ฝ่ายตรงข้าม" โจมตีเรื่องโควิด-19

คนจีนตอนนี้เข้าสู่โหมด "พร้อมไฟว้" ได้ทุกเมื่อถ้าใครท้าทาย และนี่คือการรวมพลังประจันบานครั้งแรกกับ "ตัวแทน" ของชาติตะวันตก

แต่มันจะเป็นการแบนแบบชั่วครั้งชั่วคราวหรือไม่?

หนึ่งในคอมเมนต์ข่าวในเวยปั๋วของ Global Times แสดงความเห็นว่า "กระดูกคนจีนจะแกร่งพอหรือไม่ (หมายถึงความอดทนของคนจีนจะมากพอหรือไม่) ขึ้นอยู่กับว่า Nike มันคูลหรือเปล่า บอกตรงๆ นะ Nike ยังมีอิทธิพลมากในจีน โดยเฉพาะแบรนด์ AJ ของ Nike เป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่น จนถึงตอนนี้ Nike ก็ยังไม่มีแถลงการณ์ออกมา ซึ่งเพียงพอแล้วที่จะแสดงให้เห็นว่า Nike ไม่แยแสการต่อต้านของคนจีน ในความเห็นของพวกเขา คนจีนจะต่อต้านได้ไม่นาน ดังนั้นพวกเขาจึงทำท่าหยิ่งยะโสและไม่แยแสความเห็นสาธารณะ มาช่วยกันทำให้ Nike ต้องรู้สึกซะบ้าง!"

ความเห็นนี้เข้าใจสถานการณ์ได้ดี เพราะการทำ Cancel culture ให้ยอดขายตกนั้นค่อนข้างยาก และกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์กมักจะมาเร็วไปเร็ว

แต่อย่างน้อยๆ ความเห็นนี้สอดคล้องกับชาวจีนบางคนที่เห็นว่าการแบน H&M ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแบรนด์นี้ไม่ได้มีอิมแพคกับสังคมจีนมากนัก เทียบกับ Nike แล้วคนละชั้น การแบน Nike จึงเป็นเรื่องยากมากกว่าความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของการแบน Nike จะสะท้อนด้วยว่าคนจีนพร้อมสำหรับการ "ทำสงคราม" กับปรปักษ์ของเขาหรือไม่ หรือจะหลงรักแบรนด์ของศัตรูต่อไป

ในระยะสั้น แบรนด์จีนดูเหมือนจะเป็นเพลเยอร์แบบตกกะไดพลอยโจน เพราะชาวเน็ตพากันพูดถึงว่าจะหันมาใช้แบรนด์พวกนี้ เช่น ทั้งนี้ Anta กับ Li Ning ทำให้หุ้นของบริษัทจีนเหล่านี้ปรับขึ้นมา

แต่ในระยะยาวไม่รู้ว่าแบรนด์พวกนี้จะมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากจริงๆ หรือไม่ อย่างแรกก็คือทั้งคู่มีส่วนแบ่งตลาดสินค้าอุปกรณ์กีฬาและแฟชั่นทีเกี่ยวข้องในสัดส่วนไม่มากนัก โดย Anta อยู่ที่ 16.4% และ Li Ning อยู่ที่ 6.3% ในขณะที่ Nike มีสัดส่วนตลาดจีนมากที่สุดคือ 22.9% และ Adidas อยู่ในอันดับที่ 2 คือ 20.4% จากตัวเลขเมื่อปี 2019

ที่สำคัญคือ Anta กับ Li Ning ไม่ได้ "คูล" ขนาดนั้น

มีแต่สื่อของทางการอย่าง Global Times กับบทบรรณาธิการของหูซีจิ้นบรรณาธิการปากกล้าที่เชื่อมั่นเสียเหลือเกินว่า "ผู้บริโภคชาวจีนจะไม่จ่ายเงินให้กับความถูกต้องทางการเมืองของบริษัทข้ามชาติเป็นลูกหายให้ชาติตะวันตก"

"ความถูกต้องทางการเมือง" ที่ว่านี้คือ political correctness คือ "ศีลธรรม" ของโลกสากลที่ไม่ยอมรับการกดขี่ทางเชื้อชาติและศาสนาและความเชื่อทางการเมือง

ชาติตะวันตกถือเรื่องนี้เป็นความถูกต้อง คนจีนก็คิดว่ามันถูกต้องเช่นกันในบางเรื่อง (แม้ว่าทางเลือกทางเรื่องการเมืองของพวกเขาจะไม่มีก็ตาม) แต่ในสายตาคนจีนการใช้ความถูกต้องนี้มาอ้างถือเป็นเรื่อง "จอมปลอม" เพราะพวกเขาชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในซินเจียง ตรงกันข้าม ชาติตะวันตกต่างหากที่ทำให้มันมีปัญหาขึ้นแล้วยัดคำว่าศีลธรรมหรือความถูกต้องทางการเมืองมาบังหน้า

นี่จะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งไปอีกนาน ซึ่งหูซีจิ้นก็รู้ดีจึงเขียนไว้ว่า "ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างจีนและตะวันตกจะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน" กรณีนี้เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น

โดย กรกิจ ดิษฐาน และ ณิชมน โลหะขจรพันธ์ 

Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP