posttoday

Real Water สตาร์ทอัพที่ทำให้เราได้ดื่มน้ำจริงๆ ไร้ไมโครพลาสติก

09 มีนาคม 2564

ผลการศึกษาพบว่าไมโครพลาสติกจำนวนมากปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มทั่วโลก เฉลี่ยแล้วเรากลืนพลาสติกกว่า 2 พันชิ้นใน 1 สัปดาห์

"ไมโครพลาสติก" หรืออนุภาคของพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร (5,000 ไมครอน) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เกิดขึ้นมาจากการย่อยสลายของพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ถุงพลาสติก หรือเกิดจากพลาสติกที่สร้างให้มีขนาดเล็ก อาทิ เม็ดบีดส์ที่ผสมอยู่ในโฟมล้างหน้าหรือยาสีฟัน ซึ่งไมโครพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนและแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกจนกลายเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศรวมถึงปัญหาสุขภาพและกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

Real Water บริษัทสตาร์ทอัพของเกาหลีเจ้าของสโลแกน "ทำน้ำที่สามารถดื่มได้อย่างสบายใจ" จึงได้คิดค้นตัวกรองไมโครพลาสติกออกจากน้ำดื่มบรรจุขวดเพื่อลดการปนปื้อนของพอลิเมอร์สังเคราะห์ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อผู้บริโภค

Real Water สตาร์ทอัพที่ทำให้เราได้ดื่มน้ำจริงๆ ไร้ไมโครพลาสติก

โดย Kwon Hyeok Jae ผู้ก่อตั้งบริษัทมีแนวคิดว่าอยากช่วยให้ผู้คนได้บริโภคน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย เขาและทีมงานจึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ฝาขวดน้ำกรองไมโครพลาสติก

ทีมงานใช้เวลากว่า 10 เดือนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยทำการศึกษาขนาดของไมโครพลาสติกด้วยกล้องจุลทรรศน์ รวมถึงศึกษาลักษณะของตัวกรองและวิธีการกรองของตัวกรองแต่ละชนิด ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้งก่อนที่จะออกมาเป็นฝากรองน้ำชิ้นนี้ในที่สุด

ฝากรองน้ำดังกล่าวโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่าย ใช้ได้กับขวดพลาสติกเกือบทุกชนิด โดยสามารถกรองน้ำได้ประมาณ 120 ลิตร โดยเฉลี่ยหากดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรก็จะสามารถใช้งานได้นานถึง 2 เดือน โดยได้รับการรับรองว่าปราศจากสารเคมีจากสถาบันวิจัยของเกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Real Water สตาร์ทอัพที่ทำให้เราได้ดื่มน้ำจริงๆ ไร้ไมโครพลาสติก

บริษัท Real Water เปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วและเปิดระดมทุนในรูปแบบคราวด์ฟันดิ้งในเดือนเดียวกันซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

หลังประสบความสำเร็จในการระดมทุนและได้รับความต้องการจากต่างประเทศจึงเตรียมที่จะส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังโดยเริ่มจากญี่ปุ่นและไต้หวัน

ทั้งนี้ ในปี 2018 มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก (State University of New York) ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด 259 ขวดจาก 11 ยี่ห้อใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก เลบานอน เคนยา และไทย

ซึ่งพบว่ามีพลาสติกชิ้นเล็กๆ ปนเปื้อนอยู่ในกลุ่มตัวอย่างกว่า 90% โดยบางยี่ห้อมีไมโครพลาสติกมากถึง 10,000 ชิ้นต่อน้ำ 1 ลิตร

จากผลการศึกษาชี้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนเราอาจได้รับไมโครพลาสติกถึง 2,000 ชิ้นโดยมีปริมาณพลาสติกประมาณ 5 กรัมในเวลา 1 สัปดาห์

AFP PHOTO / Miguel MEDINA