posttoday

ประชาธิปไตยไทยทรุด ดัชนีชี้วัดจัดอันดับไทยปี 2020 ร่วง

03 กุมภาพันธ์ 2564

คะแนนความเป็นประชาธิปไตยของไทยปี 20202 ลดลงจากปีก่อนหน้า

หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ Economist Intelligence Unit (EIU) ของนิตยสารระดับโลก The Economist เผยแพร่ดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2020 โดยระบุว่าไทยได้คะแนนความเป็นประชาธิปไตย 6.04 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 อยู่ในอันดับที่ 73 เมื่อเทียบกันแล้วคะแนนของไทยลดลงจากปีก่อนหน้าที่ได้ 6.32 คะแนน

รายงานฉบับดังกล่าวจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยแบบไม่สมบูรณ์ (Flawed democracy) ซึ่งอธิบายไว้ว่า ประเทศเหล่านี้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่อาจมีปัญหาบ้างเล็กน้อย เช่น เรื่องเสรีภาพของสื่อ ส่วนประชาชนมีเสรีภาพในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีมีข้อด้อยในส่วนต่างๆ ของระบอบประชาธิปไตย เช่น หลักธรรมาภิบาล วัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือการมีส่วนร่วมประชาธิปไตยในระดับต่ำ”

ขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยแบบไม่สมบูรณ์ มีเพียงเมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา ที่อยู่ในกลุ่มประเทศอำนาจนิยม (Authoritarian regime)

และที่น่าสังเกตคือ สหรัฐประเทศต้นแบบประชาธิปไตยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยแบบไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับไทย แต่สหรัฐได้คะแนน7.92 มากกว่าไทย และอยู่ในอันดับที่ 25

ส่วนในภาพรวมทั่วโลกพบว่า การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้เสรีภาพลดลงอย่างที่ไม่เคยเกดขึ้นมาก่อน เนื่องจากในปี 2020 มาตรการที่รัฐบาลใช้ในการจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเป็นระยะเวลานาน 

ด้วยเหตุนี้คะแนนเฉลี่ยของทั้ง 167 ประเทศที่ทำการสำรวจจึงลดลงจาก 5.44 คะแนนในปีก่อนหน้าเหลือ 5.37 ในปี 2020 ซึ่งเป็นคะแนนเฉลี่ยที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่จัดทำดัชนีนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2006  

ขณะที่ประเทศในแถบยุโรปเหนือมีความเป็นประชาธิปไตยสูงที่สุดในโลก โดยนอร์เวย์อยู่ในอันดับ 1 (9.81 คะแนน) ตามด้วยไอซ์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ และแคนาดา  

ทั้งนี้ ดัชนีประชาธิปไตยมีการจัดอันดับตั้งแต่ 0 ถึง 10 คะแนนใน 60 คำถาม โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม เสรีภาพพลเมือง การทำงานของรัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมือง และแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับประชาธิปไตยสมบูรณ์ ระดับประชาธิปไตยบกพร่อง ระดับกึ่งอำนาจนิยม และระดับอำนาจนิยม