posttoday

เจาะลึกรัฐบาลไบเดน ขุนพลสีเขียวตามเช็ดวีรกรรมทรัมป์

02 ธันวาคม 2563

จอห์น เคอร์รี ขึ้นแท่นว่าที่ทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศคนแรกของสหรัฐ

1. โจ ไบเดน แสดงท่าทีชัดเจนตั้งแต่ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีส โดยให้คำวมั่นว่าวันข้างหน้าฝ่ายบริหารไบเดนจะนำสหรัฐกลับเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าไบเดนให้ความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก

2. ไบเดนแต่งตั้งให้ จอห์น เคอร์รี เป็นทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยการแต่งตั้งเคอร์รีในครั้งนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของไบเดนที่ให้ความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ และยังได้รับการยกย่องจากนักเคลื่อนไหวและนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจำนวนมาก

3. เคอร์รี เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศของปารีสในนามสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 ในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ก่อนที่ทรัมป์จะตัดสินใจถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงดังกล่าวในภายหลัง 

4. เคอร์รีมีประสบการณ์ในการทำงานด้านสภาพภูมิอากาศ โดยได้รับการยอมรับจากบุคคลสำคัญทั่วโลก อาทิ นิคลาส โฮเน่ ผู้ก่อตั้งสถาบันนิวไคลเมท (NewClimate Institute) กล่าวว่า "การแต่งตั้งจอห์น เคอร์รี เป็นข่าวดีสำหรับสภาพอากาศของโลก มันไม่ใช่อเมริกาต้องมาก่อน (America first) อีกต่อไป แต่เป็นโลกต้องมาก่อน (Planet first) ผมคิดว่าเขาเหมาะสมกับตำแหน่งนี้เพราะนโยบายด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศต้องการการประนีประนอม และประสบการณ์ของเคอร์รีมีค่ามหาศาลสำหรับตำแหน่งนี้" รวมถึงอัล กอร์ อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐก็ได้ยอมรับว่าเคอร์รีคือตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม

5. ในปี 1994 เคอร์รีเป็นผู้นำในการต่อต้านการระดมทุนเพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เร็วแบบเบ็ดเสร็จ (Integral fast reactor) ก่อนที่จะหันมาสนับสนุนพลังงานทางเลือกและพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2017 เพื่อให้สหรัฐสามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่มุ่งเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และยังเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐที่ได้ไปเยือนแอนตาร์กติกาโดยใช้เวลา 2 วันเพื่อพบปะกับทีมวิจัยขั้วโลกใต้

6. เคอร์รีกล่าวว่า "เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับพันธมิตรทั้งหลายในการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและเร่งด่วน" แม้ว่าบทบาทและอำนาจหน้าที่ของเคอร์รียังไม่ชัดเจนแต่ภารกิจหลักของเขาคือการสร้างเสียงของสหรัฐในประชาคมโลกในการอุทิศตนเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

7. นอกจากนี้เคอร์รียังมีประสบการณ์ในด้านอื่นๆ โดยเคยเป็นทหารในกองทัพเรือสหรัฐและร่วมปฏิบัติการในสงครามเวียดนาม ก่อนจะเรียนต่อด้านกฎหมายและดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอัยการประจำเขต และรองผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ในเวลาต่อมา จนกระทั่งปี 1985 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ และดำรงตำแหน่งนานถึง 6 วาระ

8. ในปี 2009 เคอร์รีได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาก่อนจะได้รับการทาบทามจากอดีตประธานาธิบดีโอบามาให้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐคนที่ 68 ต่อจากฮิลลารี คลินตัน

Photo by Mark Makela/Getty Images/AFP