posttoday

เจอคุกไปอีกหนึ่ง เกาหลีใต้ประเทศที่ผู้นำต้องโทษมากที่สุดในโลก

29 ตุลาคม 2563

ศาลฎีกาตัดสิน อี มย็อง-บักอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้จำคุก 17 ปี ข้อหายักยอกและติดสินบน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ศาลฎีกาพิพากษายืนคำตัดสินให้อดีตประธานาธิบดีอี มย็อง-บักจำคุก 17 ปี ในข้อหายักยอกและติดสินบน

โดยในเดือนกุมภาพันธ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุก 17 ปี ปรับ 13,000 ล้านวอน หรือราว 341 ล้านบาท และยึดทรัพย์ 5,780 ล้านวอน หรือราว 152 ล้านบาท

หลังจากอดีตประธานาธิบดีจะต้องถูกจำคุกอีกครั้งตามคำตัดสินของศาลสูงสุดหลังได้รับการประกันตัวออกมาเป็นเวลา 8 เดือนเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

อดีตประธานาธิบดีอี มย็องบัก วัย 78 ปี มีเส้นทางชีวิตที่ไม่ธรรมดา เขาไต้เต้าจากคนที่เกิดในครอบครัวยากจนจนกลายมาเป็นนักการเมืองระดับแถวหน้าของประเทศ จนกระทั่งไต่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแล้วดวงชะตาก็ดิ่งเหวกลายเป็นนักโทษเพราะใช้อำนาจในฐานะผู้นำประเทศนั่นเอง

ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งก็มีเรื่องอื้อฉาวเป็นระยะ เช่น ข้อกล่าวหาว่าเขาหลีกเลี่ยงภาษีอาคารที่พักอาศัยของครอบครัวโดยระบุว่าอาคารนั้นเป็นอาคารพาณิชย์ และครอบครัวของเขายังเอี่ยวกับกรณีคอร์รัปชั่นอีกด้วยทำให้ตกเป็นเป้ากาารตรวจสอบของสังคมอย่างหนัก เช่น กรณีของ อีซังดึกพี่ชายของเขา

กรณีนี้คือผู้ช่วยส่วนตัวของอีซังดึกถูกตั้งข้อหารับเงิน 0.5 - 0.6 ล้านดอลลาร์จาก SLS Group ส่วนอีซังดึกเอง ซึ่งก็เป็นสมาชิกสภาและเป็นนักการเมืองเช่นเดียวกับน้องชายก็ถูกจำคุก 14 เดือนเนื่องจากรับสินบนจากธนาคาร Solomon Savings Bank เพื่อรีดไถเงินสำหรับโครงการบูรณะแม่น้ำสายหลักสี่สาย

โครงการบูรณะแม่น้ำสายหลักสี่สายเป็นโครงการที่อื้อฉาวเพราะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรุนแรงจนรัฐบาลในสมัยต่อมาสั่งให้ตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งมีเรื่องน่าสนใจตรงที่รัฐบาลไทยในสมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรยังได้ทำการศึกษาโครงการบูรณะแม่น้ำสายหลักสี่สายที่ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ด้วย

แต่กรณีที่ทำให้อี มย็อง-บักพบจุดจบในที่สุดก็คือข้อหารับสินบน อี มย็อง-บักถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2018 ในข้อหารับสินบนมูลค่า 11,000 ล้านวอนเกาหลี และเงินจำนวน 35,000 ล้านวอนเกาหลี

เขาถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจากบริษัทซัมซุงเกือบ 6 ล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับการให้อภัยโทษ อี ค็อน-ฮีคุนฮี ประธานซัมซุงซึ่งถูกจำคุกในข้อหาเลี่ยงภาษีและฉ้อโกงหุ้น มีการกล่าวหาว่าเงินนี้ถูกอำพรางโดยจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมทางกฎหมายให้กับ DAS ซึ่งเป็น บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่พี่ชายของอี-มย็องบักเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ อี มย็อง-บักยังถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินของรัฐบาลมูลค่า 700,000 ดอลลาร์ซึ่งเป็นงบประมาณที่ถูกจัดสรรให้กับหน่วยข่าวกรองของรัฐบาล

เกาหลีใต้อาจจะเรียได้ว่าเป็นประเทศที่มีผู้นำถูกดำเนินคดีในข้อคอร์รัปชั่นมากที่สุดและถี่ที่สุดในโลก ก่อนหน้าที่อี มย็อง-บักจะถูกดำเนินคดียังมีประธานาธิบดีก่อนหน้าเขาที่เจอข้อหาเดียวกัน เช่น ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขาคือโน มู-ฮย็อน 

ก่อนหน้าที่โน มู-ฮย็อนจะได้รับการเลือกตั้งเข้าเป็นประธานาธิบดี เขามีภาพลักษณ์นักการเมืองมือสะอาด เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเป็นทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แต่หลังจากพ้นตำแหน่งเขาได้กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายที่ภูเขาในบ้านเกิดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2009 ขณะอายุได้ 62 ปีเนื่องจากอับอายที่ตัวเองถูกสอบสวนในคดีที่ภรรยาและหลานชายรับสินบน

ในสมัยประธานธิบดีคิม ยอง-ซัม แม้จะมีภาพลักษณ์มือสะอาดที่กวาดล่องคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ แต่ชื่อเสียงของเขาต้องมามัวหมองเพราะลูกชายของเขาถูกจับในข้อหาติดสินบนและเลี่ยงภาษีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับบริษัท Hanbo Steel ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลและมีการติดสินบนนักการเมือง รวมแล้วประเทศเสียหายถึง 6,000 บ้านดอลลาร์ และทำให้เกาหลีใต้กระทบกระเทือนอย่างหนักในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 

ก่อนหน้านั้นมีประธานธิบดีโน แท-อู อดีตนายพลของกองทัพบกเกาหลีใต้และผู้สนับสนุนในการรัฐประหารของประธานาธิบดี ช็อน ดู-ฮวัน และผู้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองควังจู หลังจากช็อน ดู-ฮวัน ก้าวจากตำแหน่งแล้วโน แท-อูก็รับตำแหน่งแทน

แต่เมื่อพ้นตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนต่อมาคือคิม ยอง-ซัม ดำเนินนโยบายกวาดล้างคอร์รัปชั่น โน แท-อูและช็อน ดู-ฮวันจึงถูกไต่สวนในข้อหารับสินบนและข้อหาปราบประชาชนที่ควังจู ทั้งสองถูกพิพากษาว่ามีความผิดในเดือนสิงหาคม 1996 จากข้อหากบฏ,การก่อจลาจลและการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ตอนแรกช็อน ดู-ฮวันถูกตัดสินประหารชีวิต และต่อมาได้ลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนโน แท-อูถูกพิพากษาจำคุก 22 ปี 6 เดือน ต่อมาศาลได้พิพากษาลดโทษให้เหลือ 17 ปี และต่อมาทั้งสองได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดี คิม ยองซัม และออกจากคุกในเดือนธันวาคม 1997

นอกจากประธานาธิบดีรุ่นก่อนหน้า อี มย็องบักแล้ว ประธานาธิบดีคนต่อจากเขาคือ พัก กึน-ฮเยก็ยังถูกดำเนินคดีเช่นกัน โดยพักถูกจับกุมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2017  และต่อมาถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าใช้อำนาจไปในทางมิชอบ, รับสินบน, ขู่เข็ญผู้อื่นและเปิดเผยความลับของทางรัฐ

พักเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอนจากการปฏิบัติหน้าที่โดยรัฐสภาและการรับรองโดยศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ และในวันที่ 6 เมษายน 2018 ศาลแขวงกลางกรุงโซล พิพากษาจำคุกพัก 24 ปี และปรับเป็นเงิน 18,000 หมื่นล้านวอน