posttoday

ตามหาท่อน้ำเลี้ยงจากแดนไกล กรณีศึกษาจากฮ่องกง

27 ตุลาคม 2563

การประท้วงมาด้วยใจ แต่ขบวนการพันธมิตรที่ผลักดันขบวนต่อต้านให้เดินหน้า แกนนำที่ออกสื่อ และสื่อบางรายได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลต่างประเทศ "ทางอ้อม"

ระหว่างที่เกิดการประท้วงที่ฮ่องกงมีข่าวออกมาไม่ขาดระยะว่า "ต่างชาติ" เข้ามาแทรกแซงด้วยการหนุนหลังผู้ชุมนุม เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ม็อบ และพบปะกับแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตย (หรือเอกราชฮ่องกง)

ข้อกล่าวหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลจีน ซึ่งชี้ไปที่สหรัฐว่าเป็นตัวการแทรกแซง

จนถึงทุกวันนี้เรื่องนี้ก็ยังเป็นแค่ข้อกล่าวหา ยังไม่มีหลักฐานมัดตัวใครได้แบบจะๆ ยกเว้นการพบปะกันของจูลี อีเดห์ (Julie Eadeh) เจ้าหน้าที่สถานกงสุลสหรัฐในฮ่องกงกับแกนนำตัวเอ้อย่าง แอนสัน เฉิน ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงระดับอาวุโส, มาร์ติน ลีที่เป็นคนสนิทของจิมมี่ ไหล เจ้าพ่อสื่อ Apple Daily ที่ต่อต้านจีนและโปรม็อบฮ่องกง หลังจากนั้นก็ไปพบโจวชัว หว่องกับนาธาน ลอว์

เมื่อมีการเปิดเผยภาพการพบปะกันของคนเหล่านี้ ปฏิกิริยาของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแทนที่จะนิ่งกลับด่ารัฐบาลจีนว่าเป็น "อันธพาล" มีปล่อยภาพนี้ออกไปรวมถึงข้อมูลส่วนตัวของจูลี อีเดห์

จูลี อีเดห์ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของสถานกงสุลสหรัฐในฮ่องกง หลักฐานที่เชื่อมโยงรัฐบาลสหรัฐกับแกนนำประท้วงฮ่องกงแบบจะๆ มีอยู่แค่นี้ แต่สื่อของทางการจีนและสื่อที่ต่อต้านสหรัฐในประเทศอื่นๆ หยิบไปขยายผลต่อเพื่อชี้ชวนให้เห็นว่าสหรัฐแทรกแซงฮ่องกงเพื่อที่จะเจาะยางจีนจริงๆ

บทความส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นการเป็น "ท่อน้ำเลี้ยง" สนับสนุนกิจกรรมของเอ็นจีนโอในฮ่องกงโดยกองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Endowment for Democracy หรือ NED) ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งรัฐกึ่งอิสระแต่รับเงินจากสภาคองเกรสเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยทั่วโลก

แต่ NED เป็นองค์กรที่น่าสงสัย และความน่าสงสัยนี้ถูกเอ่ยถึงไปแล้วในบทความเรื่อง "ในนาม "ประชาธิปไตย" สหรัฐจะแทรกแซงชาติไหนก็ได้"

ที่บอกว่า NED เป็นท่อน้ำเลี้ยงองค์การเคลื่อนไหวในฮ่องกงไมได้หมายความว่าทำกันแบบลับๆ แต่เป็นเรื่องที่เปิดเผยอย่างโปร่งใส เงินที่มอบให้

แม้จะโปร่งใส แต่เราไม่อาจล่วงรู้ถึงเจตนาจริงๆ ที่ NED ให้เงินองค์กรเหล่านี้ และเราก็เชื่อความพยายามโยงสื่อทางการจีนทั้งหมดไม่ได้เช่นกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีนัยทางการเมือง

เท่าที่เราพบเห็นก็คือ หลังจากที่รัฐบาลฮ่องกงพยายามผลักดันกฎหมายส่างผู้ร้ายข้ามแดนอันเป็นชนวนเหตุของการประท้วงยืดเยื้อ ไม่กี่วันหลังจากนั้น NED เชิญแกนนำเคลื่อนไหวไปเสวนาเรื่อง "ภัยคุกคามใหม่ต่อประชาสังคมและหลักนิติธรรมของฮ่องกง" ที่กรุงวอชิงตัน หนึ่งในผู้ไปร่วมเสวนาคือ หลี่จัวเหริน เขาธิการใหญ่ของ HKCTU และนาธาน ลอว์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค Demosisto ร่วมกับโจหัว หว่อง

หลี่จัวเหริน เขาธิการใหญ่ของ HKCTU เป็นองค์กรเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาลจีน ซึ่งรับเงินจาก "องค์กรท่อ" ซึ่งรับเงินจาก NED อีกต่อหนึ่งเป็นเงิน 540,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อ 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการประท้วงของขบวนการร่มเหลืองพอดีและ HKCTU เป็นหนึ่งในแกนนำ

"องค์กรท่อ" ที่รับ "น้ำเลี้ยง" จาก NED เป็นกรณีที่น่าสนใจที่ควรเอ่ยถึงไว้ ณ ที่นี้ แม้เพราะแม้ว่า NED จะให้เงินสนับสนุนที่ดูเหมือนจะโปร่งใส แต่บางครั้งเงินจาก NED ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ผ่านองค์กรตัวกลางหลายชั้นจนกระทั่งไปถึงปลายทาง หากไม่มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เราอาจจะเห็นว่า NED ให้เงินกับองค์กรที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่เมื่อตรวจกันจริงๆ จังๆ แล้วจะพบว่าเงินพวกนี้ไปถึงขบวนการทางการเมืองที่เข้มข้นมาก

ตัวอย่างเช่น NED ให้เงินสนับสนุนองค์กรที่มีชื่อว่า Solidarity Center ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านขบวนการแรงงานทั่วโลก เป็นองค์กรที่ตั้งวขึ้นมาโดย AFL-CIO ซึ่งเป็นสมาพันธ์แรงงานที่ทรงอิทธิพลของสหรัฐและทำงานด้านแรงงานพร้อมๆกับส่งเสริมประชาธิปไตยและต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยรับการสนับสนุนจาก CIA

เมื่อตั้ง Solidarity Center แล้วก็หยุดรับการสนับสนุนจาก CIA แต่โดยผ่าน Solidarity Center ได้หันมารับรับเงินจาก NED จนกลายเป็นผู้รับเงินรายหลักจึงมีความโปร่งใสทางการเมืองมากกว่าแต่ก่อน (อย่างที่เคยชี้ให้เห็นในบทความก่อนว่า CIA ทำงานในที่ลับ ส่วน NED ทำงานในที่แจ้ง)

Solidarity Center ให้เงินช่วยเหลือแก่ HKCTU ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ทรงอิทธิพลในฮ่องกงเพราะมีอุดมการณ์เดียวกันนั่นคือสิทธิแรงงานและผลักดันประชาธิปไตย เฉพาะในปี 2018 NED ให้เงิน Solidarity Center มาทำงานกิจกรรมในฮ่องกงถึง 200,000 เหรียญสหรัฐ

HKCTU ไม่ได้ทำงานด้านแรงงานเท่านั้นแต่เป็นหนึ่งในแกนนำการประท้วงในปี 2014 และปี 2020

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายองค์กรในฮ่องกงที่ได้รับเงินจากท่อน้ำเลี้ยงแบบนี้ ตัวอย่างเช่น องค์กรตรวจสอบสิทธิมนุษยชนฮ่องกง HKHRM สมาคมผู้สื่อข่าวฮ่องกง HKJA และพรรคการเมืองอย่างพรรคแรงงานและพรรคประชาธิปไตย

แต่ลุยซา เกรฟ (Louisa Greve) รองประธานของ NED สาขาเอเชีย, ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือบอกว่า ทางองค์กรไม่ได้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมประชาธิปไตยโดยตรง

การบอกแบบนี้เหมือนเป็นการปัดความรับผิดชอบพร้อมๆ กับกบฎต่อหลักการของตัวเอง เพราะองค์การนี้ชื่อก็บอกว่าส่งเสริมประชาธิปไตย ในเมื่อองค์กรให้เงินผ่านท่อสายต่างๆ ไปช่วยองค์กรท่องถิ่นในฮ่องกง ทำไมจึงไม่ยอมรับตรงๆ?

แน่นอนว่า NED ไม่ได้ให้เงินตรงๆ ไม่ได้ช่วยตัวต่อตัว แต่ปฏิเสธความเกี่ยวโยงไม่ได้ และการบอกปัดเท่ากับทำให้ NED ถูกมองว่าทำตัวลับๆ ล่อๆ

อย่างที่เปรยเอาไว้ทั้งในบทความและบทความก่อนว่าการสนับสนุนของ NED ต่อองค์กรต่างๆ ในนามของประชาธิปไตยเป็นการทำอย่างโปร่งใสมีรายละเอียดชัดเจน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องความลับๆ ล่อๆ ในแง่การกระทำ แต่เจตนานั้นเราไม่อาจทราบได้

ในมุมมองของรัฐบาลประเทศหนึ่งๆ การที่องค์การต่างชาติที่ได้รับเงินจากรัฐบาลตัวเองแล้วนำเงินมาอุดหนุนขบวนการต่อต้านรัฐบาลประเทศอื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากว่าทำโดยบริสุทธิ์ใจโดยปราศจากวาระซ่อนเร้นที่เป็นประโยชน์กับประเทศเจ้าของเงิน

ในแง่มุมนี้ จีนจึงพยายามประโคมให้ชาวโลกเชื่อว่ามีต่างชาติแทรกแซงขบวนประท้วงในฮ่องกงโดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความเชื่อโยงกับกลุ่มต่างๆ ในฮ่องกงกับ NED

แต่จีนก็ทำได้แค่นั้น ทำได้แค่ "แฉ" ว่ามีใครบ้างที่รับเงินจาก NED มา แต่ไม่สามารถเอาผิดกับขบวนการเหล่านั้นได้ ดังนั้นขบวนการในฮ่องกงจึงยังเคลื่อนไหวต้านจีนไปได้เรื่อยๆ อาศัยทุนรอนจากสหรัฐโดยที่จีนได้แต่โวยวาย

หากมองในแง่ของกลยุทธ์ "สมมติว่า" หากสหรัฐต้องการเข้าแทรกแซงประเทศไหนก็ตาม การแทรกแซงโดยอาศัยเงินของ NED จะเป็นการรบที่เสียแรงน้อยที่สุดแต่สร้างความปั่นป่วนให้กับเป้าหมายมากที่สุด และประเทศเป้าหมายยังเล่นงานไม่ได้ด้วยเพราะเงินที่ได้มานำมาขับเคลื่อนประชาธิปไตย หากโจมตีขบวนประชาธิปไตย สหรัฐและพันธมิตรชาติตะวันตกจะรุมถล่มแน่นอน

ยังไม่นับการที่เงินสนับสนุนหรือความช่วยเหลืออื่นๆ อาจทำกันแบบลับๆ หรือส่งต่อๆ กันมาจนหาต้นทางไม่เจอ เราจะเห็นว่าแม้แต่จีนที่มีกองทัพนักรบไซเบอร์ที่ถล่มสหรัฐอยู่บ่อยๆ ยังจับไม่ได้คาหนังคาเขาว่าสหรัฐแทรกแซงฮ่องกง ได้แต่โจมตี NED แบบขี่ม้าเลียบค่าย

ดังนั้นสำหรับจีนแล้ววิธีการเดียวที่จะตัดท่อน้ำเลี้ยงให้ราบคาบลงได้ก็คือการใช้วิธีขั้นเด็ดขาดนั่นคือ "กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ" ซึ่งกำหนดโทษกับผู้ที่สมคบกับต่างชาติ ซึ่งเป็นกำหนดโทษที่ "ครอบจักรวาล" เอามากๆ เพราะไม่มีใครรู้ว่าการสมคบต่างชาตินี้รวมถึงการรับเงินจากองค์กรแบบ NED หรือไม่

ยังไม่พอ จีนยังปิดช่องให้สนิทด้วยมาตราที่ 38 ซึ่งสามารถเล่นงานชาวต่างชาติที่ทำผิดกฎหมายข้อนี้โดยไม่จำเป็นว่าจะอยู่ในฮ่องกงหรือไม่ ผลก็คือมีองค์กรหลายแห่งต้องปิดสาขาในฮ่องกงลงอย่างสิ้นเชิงเพื่อหนีภัยจากกฎหมายตัวนี้

ดังนั้นองค์กรต่างๆ ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจจะรับเงิน NED ต่อไปได้ แต่ต้องอยู่อย่างหวาดระแวงว่ารัฐบาลจะใช้กฎหมายตัวนี้เล่นงานตนเมื่อไรก็ได้

แน่นอนว่าการใช้มาตรการแบบนี้มีต้นทุนสูงมาก มันทำให้ฮ่องกงเสียสถานะเมืองท่าเสรีและศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจีนดูเหมือนจะชั่งน้ำหนักดูแล้วว่าเสียสถานะแบบนี้ยังดีกว่าเสียเอกราชของทั้งประเทศ อีกทั้งเมืองเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่ก็เริ่มน่าดึงดูดใจกว่าฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทางที่ดีจึงใช้มีดตัดเนื้อร้ายไปดีกว่าเลี้ยงไข้ไปเรื่อยๆ

อย่างที่บอกไปว่าองค์กรต่างๆ ที่เคยเคลื่อนไหวในฮ่องกงเริ่มปิดตัวหนีจากฮ่องกง และในอนาคตเงินที่ NED เคยสนับสนุนองค์กรที่เคลื่อนไหวในจีน (ซึ่งให้มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ) อาจจะไหลออกไปยังประเทศอื่นที่น่าจะหวังผลได้มากกว่า

น่าสงสัยว่าองค์กรและเงินพวกนั้นจะไหลไปยังประเทศไหนกันแน่?

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน