posttoday

ไทยกับศึกชิงความเป็นเจ้าสายลับจีน-สหรัฐ

03 ตุลาคม 2563

เปิดรายงานเชิงยุทธศาสตร์ที่อาจจะทำให้สหรัฐต้องปรับขบวนข่าวกรองครั้งใหญ่เพื่อไม่ให้จีนไล่ตามทัน

คาร์ล ฟ็อน เคลาเซอวิทซ์ นายพลชาวเยอรมันปรัสเซียและนักทฤษฎีทหารผู้ยิ่งใหญ่กล่าวอมตวาจาเอาไว้ว่า "สงครามคือความต่อเนื่องการเมืองด้วยวิธีการอื่น" หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สงครามก็คือการเล่นการเมืองรูปแบบหนึ่ง

แต่เคลาเซอวิทซ์กลับไม่ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์สำคัญของการทำสงครามหรือการเล่นการเมืองมากนัก มั่นคือการจารกรรม/งานข่าวกรอง เขาบอกไว้ในตำราทฤษฎีสงคราม On War ว่า "รายงานข่าวกรองหลายชิ้นในสงครามขัดแย้งกัน มากกว่านั้นยิ่งเป็นเท็จ และส่วนใหญ่ไม่แน่นอน .... กล่าวโดยย่อคือข่าวกรองส่วนใหญ่เป็นเท็จ"

ความไม่ชัดเจนของข่าวกรองทำให้เคลาเซอวิทซ์กล่าวคำว่า Fog of war หรือความสับสนคลุมเครือของสงคราม บางคนจึงตีความว่าหากเกิดสถานการณ์แบบนี้อย่าได้ทำสงคราม เพราะไม่คุ้ม

แต่การละเลยข่าวกรองเคลาเซอวิทซ์ทำให้สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตเคยกล่าวเอาไว้ว่าสาเหตุที่เยอรมนีก่อสงครามโลกึง 2 ครั้งแล้วก็แพ้ถึง 2 ครั้งก็เพราะพิชัยสงครามของเยอรมนีมีข้อผิดพลาด และ "มันเป็นเรื่องตลกที่จะเอาบทเรียนของเคลาเซอวิทซ์มาใช้กับทุกวันนี้"

ตรงกันข้ามกับซุนอู่ (ซุนวู) นักพิชัยสงครามผู้ยิ่งใหญ่ของจีนและของโลกกล่าวว่า "มีแต่ผู้ปกครองผู้ปราดเปรื่องและขุนพลผู้ปรีชาเท่านั้นที่จะใช้หน่วยสืบราชการลับสูงสุดของกองทัพเพื่อจุดประสงค์ในการสอดแนม และจึงได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม สายลับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในสงคราม เพราะความสามารถของกองทัพในการเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับสายลับ"

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการจารกรรมคือหัวใจสำคัญของการรทำสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามในรูปแบบ สงครามกองโจร หรือสงครามการค้า หากไม่ให้ความสำคัญการการจารกรรมโอกาสแพ้แล้วแพ้อีกแบบเยอรมนีเคยเจอมีอยู่สูงมาก

ดูเหมือนว่าทั้งจีนและสหรัฐจะไม่ใช่สาวกของลัทธิเคลาเซอวิทซ์ (Clausewitzian) เพราะทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับการจารกรรมอย่างมาก โดยเฉพาะจีนนั้นทุ่มเทกับการจารกรรมอย่างมากจนหากซุนอู่มีโอกาสรับรู้ว่าลูกหลานจีนรุ่นหลังเชื่อถือคำสอนของเขามากขนาดนี้คงจะยิ่นดียิ่งนัก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีนมีกิจกรรมด้านข่าวกรองที่เด่นชัดมาก หากจะเช็คความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจารกรรม/ข่าวกรอง เราจะพบว่าจีนยืนมาเป็นที่หนึ่ง

สหรัฐเคยยืนหนึ่งในเรื่องข่าวกรอง (อย่างน้อยก็หลังสิ้นสุดสงครามเย็น) แต่เพราะในช่วงหลังสงครามเย็นรัฐบาลสหรัฐลดงบประมาณส่วนนี้ลงไปมาก เช่นในปี 2005 เหลือแค่ 3.98 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะ 10 ปี ระหว่างปี 2007 - 2017 มีอัตราเฉลี่ยที่ 5.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

แต่หลังจากสงครามการค้าเริ่มต้นขึ้นในปี 2018 งบประมาณข่าวกรองของสหรัฐเพิ่มขึ้นมามากกว่า 8.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีโอกาสที่จะเพิ่มมากกว่านี้ เพราะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรในสภาคองเกรสชี้ว่าหากสหรัฐไม่ "เติมเงิน" ก็จะไล่ตามจีนให้ทันเรื่องข่าวกรอง

รายงานระบุว่า "ประชาคมข่าวกรองของสหรัฐไม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นจากการผงาดของจีน และความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของภัยคุกคามข้ามชาติที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร เช่น สาธารณสุขโลก, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

รายงานระบุว่า ตอนนี้จีนพัฒนาขึ้นมาอยู่เกือบจะระดับเดียวกับสหรัฐ (a near-peer) และเป็นคู่แข่งระดับโลกและจำเป็นที่ข่าวกรองสหรัฐจะต้องโฟกัสไปที่จีนมากกว่านี้ หากไม่ดึงทรัพยากรมาใช้เพื่อพัฒนาตัวเอง ข่าวกรองสหรัฐจะไม่สามารถแข่งกับจีนได้ในทศวรรษข้างหน้า

รายงานนี้ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดยังมีส่วนที่ปิดลับอยู่ แต่ประเมินได้ว่าวิธีหนึ่งที่สหรัฐจะต่อกรกับจีนได้คือการระดมทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้เรื่องภาษาจีนและมีข้อเสนอให้ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาคนที่มีทักษะเกี่ยวกับจีนมาร่วมงานข่าวกรอง

แต่ส่วนสำคัญที่เกี่ยวกับไทยในรายงานนี้คือข้อความที่บอกว่า "สหรัฐควรขยายสถานะทางการทูต, เศรษฐกิจ และการป้องกันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เพื่อรวมไว้ในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกคือพื้นที่กินบริเวณประเทศที่มีน่านน้ำในมหาสมุทรอินเดียแลแปซิฟิก ในส่วนของแปซิฟิกนั้นไม่เป็นที่าสงสัยว่าเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐอยู่แล้ว แต่สหรัฐจะหันมาเพ่งเล็งส่วน "อินโด" หรือมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น

หากไม่นับอินเดียที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนอยู่แล้ว มีพื้นที่อื่นๆ ที่จีนพยายามเข้าไปปักหมุดหรือปักหมุดไปแล้วหลายแห่งในแถบมหาสมุทรอินเดีย นั่นคือศรีลังกา มัลดีฟ และฐานทัพในประเทศจิบูตี

การปักหมุดของจีนในดินแดนเหล่านี้ผ่านการปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (โดยจ้างบริษัทจีนเข้ามาทำ เข้าทำนองอัฐยายซื้อขนมยาย) ทำประเทศตะวันตกเรียกว่าการล่อลวงให้ติดกับดักหนี้ (Debt trap) แต่จีนบอกว่าเป็นการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งร่วมกันและตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องกับดักหนี้

ข้อถกเถียงเรื่องนี้หากให้น้ำหนักกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ ขจะเป็นอาวุธสำคัญที่สหรัฐและชาติตะวันตกสามารถสะบั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชาติต่างๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงคือพันธมิตร "the Quad" หรือ สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นที่มักจัดการซ้อมรบในแถบนี้เพื่อตรึงจีนเอาไว้

อินเดียมีเหตุผลมากว่าใครเพราะจีนเดินเกมส์รุกมาสร้างท่าเรือที่ศรีลังกา (ซึ่งสหรัฐกล่าวหาว่าจีนใช้เป็นฐานทัพเรือแต่ศรีลังกาปฏิเสธ) แต่ที่ชัดกว่าศรีลังกาคือ จีนกับมัลดีฟ์ประกาศสร้างสถานีร่วมสังเกตการณ์มหาสมุทร (Joint Ocean Observation Station) ซึ่งดูๆ ไปมันน่าจะเป็นหน่วยงานด้านสมุทรศาสตร์

แต่รัฐบาลอินเดียกับพรรคฝ่ายค้านมัลดีฟส์บอกมันจะถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ทางทหารกับจีน ยังไม่นับกระแสข่าวที่มีมาอย่างยาวนานว่าจีนเล็งๆ ที่จะสร้างฐานทัพที่เกาะปะการังมาเรา

ดูเหมือนว่าพื้นที่ส่วนนี้สหรัฐจะมาล่าช้ากว่าจีนและอินเดียไม่สามารถกดดันประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆ ให้สลัดตัวจากจีนได้ จึงไม่น่าแปลกที่รายงานของคองเกรสจะชี้แนะว่า "จุดนี้สำคัญ"

ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรายงานว่าจารชนจีน "อาจจะ" เข้ามาปฏิบัติงานในบางประเทศ กรณีที่อื้อฉาวที่สุดคือนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนชื่อ หวงจิ้งที่ทำงานในมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ แต่ในปี 2017 ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้กับจีนจนถูกขับออกจากประเทศ

และยังมีกรณีของ หยางจวิ้นเว่ย ชาวสิงคโปกร์แต่กำเนิดและเรียนจากจากสหรัฐ แต่ถูกทาบทามจากหน่วยข่าวกรองของจีนให้ทำงานให้โดยรวบรรวมข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของสหรัฐ โดยตั้งบริษัทที่ปรึกษาปลอมๆ ขึ้นมา

หยางจวิ้นเว่ยถึงจับกุมขณะเดินถึงสหรัฐหมาดๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 และขึ้นศาลเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2020 ก่อนที่จะรับคำพิพากษาในวันที่ 9 ตุลาคม ส่วนกระทรวงการต่างประเทศจีนปฏิเสธว่าไม่ทราบกรณีของหยางจวิ้นเว่ยและตอบโต้ว่าสหรัฐป้ายสีจีน

ในส่วนของประเทศไทยนั้น รายงานจากคณะกรรมาธิการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐ - จีน (USCC) ระบุว่า "หน่วยข่าวกรองของจีนได้คัดเลือกตัวแทนในประเทศไทยและมีรายงานว่าอาจรวมถึงฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งทั้งคู่เป็นพันธมิตรที่ทำสนธิสัญญากับสหรัฐ"

ข้อมูลนี้มาจากสหรัฐ ซึ่งเราไม่สามารถรับประกันได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์แบบนี้ ไทยจึงควรจะศึกษากรณีของสิงคโปร์ให้ดี เพราะหากมีคนไทยที่ถูกกล่าวหาแบบหยางจวิ้นเว่ยขึ้นมาจะส่งผลต่อสถานะของคนไทยใน "สงครามเย็นครั้งใหม่" อย่างแน่นอน

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP