posttoday

จีนตั้งเป้าเป็นผู้นำแก้ปัญหาโลกร้อน อีก40ปีไม่มีคาร์บอน

23 กันยายน 2563

จีนตั้งเป้าที่เป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ปี ??2060

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเดินหน้าเขี่ยสหรัฐออกจากการเป็นผู้นำโลกในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจีนซึ่งผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลกจะปลอดจากคาร์บอนภายในปี 2060 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมยกย่องว่าเป็นก้าวย่างสำคัญ

สำนักข่าว AFP รายงานว่าเป้าหมายที่สีจิ้นผิงตั้งไว้รวมถึงคำมั่นสัญญาที่จะปล่อยมลพิษให้ถึงจุดสูงสุดในปี 2030 แล้วจะผลักดันให้การปล่อยมลพิษลดลงหลังจากนั้น นับเป็นคำสัญญาที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่จีนประกาศมา ทั้งนี้จีนซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงหนึ่งในสี่ของโลก ซึ่งก๊าซเรือนกระจกมีส่วนทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สีจิ้นผิงกล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยย้ำถึงการสนับสนุนข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 หรือความตกปารีส และเรียกร้องให้มีประเทศต่างๆ ใช้นโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในขณะที่โลกฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด -19

ความตกลงปารีสเป็นเป้าหมายสำคัญของชาวโลกที่จะช่วยให้โลกร้อดพ้นจากวิกฤตโลกร้อน แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่อันดับสองของโลกได้ถอนข้อตกลงดังกล่าวและกล่าวโทษจีนว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักในการจัดการกับการปล่อยมลพิษทั่วโลก

แต่สุนทรพจน์ของสีจิ้นผิง เขาได้กำหนดให้จีนเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศโดยกล่าวว่าข้อตกลงปารีส "สรุปขั้นตอนขั้นต่ำที่ต้องดำเนินการเพื่อปกป้องโลก ซึ่งบ้านเกิดร่วมกันของเราและทุกประเทศต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงนี้"

"เราตั้งเป้าหมายว่าจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดสูงสุดก่อนปี 2030 และทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060" สีจิ้นผิงกล่าวผ่านวิดิโอคอลล์

สีจิ้นผิงเรียกร้องให้ทุกประเทศ "คว้าโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรอบใหม่และการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม"

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้ยังน่ากังขาเพราะปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 135 กิกะวัตต์ตามรายงานของ Global Energy Monitor ซึ่งเป็นกลุ่มสิ่งแวดล้อมในซานฟรานซิสโก ซึ่งเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในสหรัฐ

สหภาพยุโรปพยายามผลักดันให้จีนตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือกระจกให้เร็วขึ้นโดยเลื่อนเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดมาเป็นปี 2025 โดยอ้างว่าช้าไปแค่ 5 ปีก็มีความสำคัญเนื่องจากโลกต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ทันแล้ว

ทั้งนี้ ข้อตกลงด้านสภาพอากาศที่กรุงปารีสกำหนดให้ประเทศต่างๆ จำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้น "ต่ำกว่า" 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนอุตสาหกรรม โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและกว้างขวางท่าทีของสีจิ้นผิงแตกต่างอย่างมากกับของทรัมป์ที่บอกข้อตกลงปารีสไม่ยุติธรรมกับสหรัฐ

ทรัมป์กล่าวว่าเขากำลังยืนหยัดต่อสู้เพื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เช่นคนงานเหมืองถ่านหินและได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมลงหลายข้อ แม้ว่าแต่ละรัฐในสหรัฐ เช่นแคลิฟอร์เนียจะยืนยันที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยตัวเอง

“ผู้ที่โจมตีสถิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ยอดเยี่ยมของอเมริกาในขณะที่เพิกเฉยต่อมลพิษที่คุกคามโลกของจีน เป็นพวกที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม” ทรัมป์กล่าวในสุนทรพจน์ของสหประชาชาติก่อนที่สีจิ้นผิงจะกล่าวสุนทรพจน์ "พวกเขาต้องการลงโทษอเมริกาเท่านั้นและผมจะไม่ยอมแพ้"

จางจวิน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติเย้ยหยันคำพูดของทรัมป์ซึ่งมีสุนทรพจน์ต่อสมัชชาฯ สหประชาชาติโดยโจมตีจีนเรื่องโควิด -19

“สหรัฐควรเป็นประเทศสุดท้ายที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว "พวกเขาเป็นคนที่แยกตัวออกจากความพยายามระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

อนาคตของข้อตกลงปารีสจะถูกชี้ชะตาในวันที่ 3 พฤศจิกายนซึ่งเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยคู่แข่งของทรัมป์คือ โจ ไบเดน ให้คำมั่นว่าจะนำสหรัฐกลับสู่ข้อตกลงปารีสและและทำให้สหรัฐปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์ 2050

Photo by WANG Zhao / AFP