posttoday

ขบวนการนักศึกษา มีแพ้ มีชนะ มีนองเลือด

13 สิงหาคม 2563

การประท้วงของนักศึกษาครั้งสำคัญๆ ในช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน

หลังจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่จากกรณีงินกู้ยืม ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง บรรดานักเรียนนักศึกษาก็พากันแสดงพลังออกมาชุมนุมประท้วงในหลายมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาถึงการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา และยังมีการนัดชุมนุมหลังจากนี้อีก

เหตุการณ์นี้เป็นเพียงเหตุการณ์ล่าสุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการประท้วงของนักศึกษาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเท่านั้น โดยที่การประท้วงจำนวนหนึ่งเป็นไปด้วยความสงบ บ้างก็นำมาสู่ข้อเรียกร้องที่ต้องการ แต่บางการชุมนุมนักศึกษาก็ต้องเอาชีวิตตัวเองเข้าแลกเพื่อให้เสียงของพวกเขาดังไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการประท้วงของนักศึกษาครั้งสำคัญๆ ในช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน

ขบวนการนักศึกษา มีแพ้ มีชนะ มีนองเลือด

1.การลุกฮือที่ควังจู-เกาหลีใต้ (18-27 พ.ค. 1980) ภาวะสุญญากาศทางการเมืองหลังการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีพักจองฮีทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองจนนำมาสู่การรัฐประหารโดยช็อนดูฮวาน ระหว่างนี้ขบวนการนักศึกษาได้ชุมนุมเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง จนช็อนดูฮวานต้องประกาศกฎอัยการศึกและมีการจับกุมผู้เห็นต่างคัดค้านการใช้กฎอัยการศึก สร้างความมาพอใจให้นักศึกษาและประชาชนจนนำมาสู่การลุกฮือประท้วงของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยชอนนัมในเมืองควังจู กองทัพที่รัฐบาลส่งมาปราบม็อบมีการยิง ทุบตี และข่มขืนนักศึกษา ชาวบ้านควังจูจึงพากันจับอาวุธที่ได้จากการปล้นคลังอาวุธและสถานีตำรวจสู่เจ้าหน้าที่ เมื่อการประท้วงเข้าสู่วันที่ 10 ทางการจึงล้อมปราบสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วง

ผลการประท้วง: ไม่สำเร็จ

: ทางการระบุว่ามีผู้ประท้วงและพลเมืองเสียชีวิต 144 ราย ทหารและตำรวจ 26 ราย ผู้ประท้วงบาดเจ็บ 127 ราย ทหารและตำรวจบาดเจ็บ 253 ราย แต่มีการแย้งว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 1,000-2,000 ราย

: เหตุการณ์ที่ควังจูไม่เพียงก่อให้เกิดกระแสต่อต้านช็อนดูฮวานอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา แต่ยังเป็นการกรุยทางให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 1980 ที่นำมาสู่การมีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบในเกาหลีใต้

ขบวนการนักศึกษา มีแพ้ มีชนะ มีนองเลือด

2.การสังหารหมู่เทียนอันเหมิน-จีน (1989) การเสียชีวิตของหูเย่าปัง นักการเมืองที่ดูแลนโยบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้ที่ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองแต่กลับถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง ทำให้ชาวจีนนับหมื่นพากันออกมาร่วมพิธีศพของหูที่จัตุรัสเทียนอันเหมินชนิดที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้หู นักศึกษาเริ่มออกมารวมตัวกันมากขึ้นคาดว่ามีผู้ร่วมประท้วงมากสุดถึง 1 ล้านคนในช่วงที่จุดติดแล้ว ในที่สุดรัฐบาลเคลื่อนรถถังและทหารไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมินและมีการกราดยิงประชาชนจนเลือดนองพื้น และยังจับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง

ผลการประท้วง: นองเลือด

:ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตกี่คน แต่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์รายงานต่อคณะกรรมการบริหารพรรคว่ามีผู้เสียชีวิต 241 ราย เป็นพลเมือง 218 ราย และบาดเจ็บอีกราว 7,000 ราย ทว่าสื่อและนักการทูตต่างชาติคาดว่าผู้เสียชีวิตอยู่ที่ราว 400-2,700 คน

:มีการประกาศกฎอัยการศึกในกรุงปักกิ่งหลังสลายการชุมนุม ชาติตะวันตกคว่ำบาตรจีน ทางการควบคุมสื่อและการแสดงความคิดเห็นเข้มงวดขึ้น

ขบวนการนักศึกษา มีแพ้ มีชนะ มีนองเลือด

3.การประท้วงการขึ้นค่าเทอม-อังกฤษ (2010) เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่จุดใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน เพื่อคัดค้านแผนการตัดลดค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนการศึกษาระดับอาชีวะ และการปรับขึ้นค่าเทอม ซึ่งนักศึกษามองว่าจะทำให้พวกเขาต้องเป็นหนี้มากขึ้น

ผลการประท้วง: ไม่สำเร็จ

: คนอังกฤษประณามการประท้วงว่าเป็นตัวอย่างของการใช้ความรุนแรงและการทำลายข้าวของสาธารณะ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกวิจารณ์ว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

ขบวนการนักศึกษา มีแพ้ มีชนะ มีนองเลือด

4.ขบวนการดอกทานตะวัน-ไต้หวัน (2014) นักเรียนนักศึกษาและประชาชนรวมตัวปิดล้อมและยึดห้องประชุมสภานิติบัญญัติในกรุงไทเปของไต้หวัน เพื่อคัดค้านการผ่านร่างข้อตกลงการค้าข้ามช่องแคบระหว่างจีนกับไต้หวัน (CSSTA) ของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งที่นำโดย ประธานาธิบดี หม่าอิงจิ่ว โดยไม่มีการพิจารณาทบทวนข้อตกลงเป็นรายข้อและทำแบบลับๆ โดยฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว

ผลการประท้วง: สำเร็จ

: การประท้วงสิ้นสุดลงในเวลา 23 วัน หลังจาก หวังจินผิง ประธานสภานิติบัญญัติรับปากว่าจะไม่พิจารณาร่างข้อตกลง CSSTA จนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมดูแลการลงนามข้อตกลงระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ตามที่นักศึกษาเรียกร้อง

:ส่งแรงกระเพื่อมทางการเมืองครั้งใหญ่ จนทำให้พรรคก๊กมินตั๋งของประธานาธิบดี หม่าอิงจิ่ว พ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปให้กับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไช่อิงเหวินเมื่อปี 2016

5.การประท้วงร่มเหลือง-ฮ่องกง (2014) กลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ที่นำโดยสหภาพนักศึกษาฮ่องกง และกลุ่ม Scholarism ของ โจชัว หว่อง รวมตัวประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและปิดถนนเส้นหลัก หลังจากคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (NPCSC) แก้ไขระบบการเลือกตั้งทั่วไปของฮ่องกง ให้ตัวแทนผู้สมัครผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงต้องผ่านการพิจารณาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อน

ผลการประท้วง: ไม่สำเร็จ

: การประท้วงจบลงในวันที่ 79 โดยที่ NPCSC ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง แต่ถึงอย่างนั้นการประท้วงครั้งนี้เป็นการเพาะเชื้อการเคลื่อนไหวทางการเมืองและนำมาสู่การประท้วงในปี 2019

ขบวนการนักศึกษา มีแพ้ มีชนะ มีนองเลือด

6.ประท้วงฮ่องกง (2019-2020) การประท้วงครั้งนี้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนวัยมัธยมปลายจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย เรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปรับโทษที่จีนแผ่นดินใหญ่

ผลการประท้วง: ไม่สำเร็จ

: การประท้วงยืดเยื้อยาวนาน 349 วัน และค่อนข้างรุนแรง มีทั้งการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บกว่า 2,600 ราย

: แม้กลุ่มผู้ประท้วงจะกดดันอย่างหนักให้รัฐบาลถอดถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกจากการพิจารณาถาวร แต่ แครี่ หลั่ม ยอมเพียงระงับการพิจารณาไว้ชั่วคราวเท่านั้น ผู้ประท้วงจึงชุมนุมต่อ ก่อนจะเข้าไปปักหลักในมหาวิทยาลัยกระทั่งถูกรัฐบาลล้อมปราบจนต้องพากันหนีออกมาอย่างทุลักทุเล

ขบวนการนักศึกษา มีแพ้ มีชนะ มีนองเลือด

7.นักเรียนนักศึกษาไทยประท้วง ขบวนการนักศึกษาของไทยที่ทรงพลังที่สุดครั้งหนึ่งคือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งเริ่มต้นด้วยพลังนักศึกษาที่ต่อต้านเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร รวมถึงความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตประชาชนคนไทยโดยตรง เช่น การต่อต้านการตั้งฐานทัพอเมริกันในไทยและการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น ขบวนการนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างมาก และ ผลการประท้วง: ทำได้สำเร็จ สามารถผลักดันให้จอมพลถนอม กิตติขจรสละตำแหน่งและเดินทางออกจากประเทศได้ 

หลังจากนั้นขบวนการนักศึกษาคึกคักขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการเติบโตของแนวคิดฝ่ายซ้ายและการคุกคามของภัยคอมมิวนิสต์ ทำให้บ้านเมืองเกิดภาวะตึงเครียดระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย จนกระทั่งเกิดชนวนเหตุขึ้นเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจรเดินทางกลับประเทศ ทำให้นักศึกษารวมตัวประท้วงอีกครั้งและปักหลักในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเกิดกรณีที่สร้างความไม่พอใจแก่ทหารและประชาชนบางกลุ่ม จนเกิดการ "ล้อมปราบ" นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และ ผลการประท้วง: นองเลือด

ล่าสุดคือการก่อตัวของขบวนการนักศึกษาที่เริ่มจากความไม่พอใจรัฐบาล และการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งลุกลามเป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นข้อเรียกร้องที่หนักหน่วงและชวนให้นึกถึงสถานการณ์เมื่อครั้ง 6 ตุลา 2519

เราต้องจับตากันต่อไปว่าการชุมนุมครั้งล่าสุดนี้ ผลจะออกมาในรูปแบบใด ?