posttoday

รวยแค่ไหนก็ไม่รอดคุก ส่องคดีคนรวยฝั่งสหรัฐที่หนีเงื้อมมือกฎหมายไม่พ้น

25 กรกฎาคม 2563

เปรียบเทียบเคสต่างประเทศ ถ้าคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังเกิดที่เมืองนอก ยังจะรอดทุกข้อกล่าวหาอยู่ไหม  

เมื่อกระบวนการยุติธรรมให้ผลออกมาในรูปแบบที่ค้านสายตาประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้กระทำผิดมีฐานะ หรือมีเส้นสายใหญ่โตในประเทศ ที่มักจะไม่ถูกดำเนินคดี ก็ไม่แปลกที่คนในสังคมไทยจะตั้งคำถามว่า “หรือว่าคุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น” ส่วนต่างชาติก็มองว่าความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเป็นผลของการคอร์รัปชั่น และใช้อำนาจในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่

เมื่อเป็นแบบนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากคดีของทายาทเครื่องดื่มชูกำลังเกิดในต่างประเทศ เขาจะรอดทุกข้อกล่าวหาหรือไม่

ตัวอย่างของคดีอื้อฉาวระดับโลกที่คนจับตามองไม่แพ้คดีชนแล้วหนีของไทย ที่แสดงให้เห็นว่าต่อให้ผู้กระทำผิดจะมีอิทธิพลหรือร่ำรวยมหาศาลแค่ไหนก็ไม่สามารถหนีพ้นเงื้อมมือกฎหมายไปได้ ก็คือ การล่วงละเมิดทางเพศของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์มือทองที่ทรงอิทธิพลของฮอลลีวูด

โปรดิวเซอร์วัย 68 ปี ถูกหนังสือพิมพ์ The New York Times เปิดโปงเมื่อปี 2017 ว่ามีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศคนในวงการบันเทิง ทั้งนักแสดง นางแบบ และผู้ช่วยมากว่า 20 ปี โดยใช้เงินและอิทธิพลของตัวเองปิดปากผู้หญิงเหล่านี้

หลังจากนั้นบรรดาคนดังในวงการฮอลลีวูดก็ออกมาแฉพฤติกรรมไวน์สตีนอีกมากมาย จนนำมาสู่แคมเปญ #MeToo เพื่อให้กำลังใจผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ โดยต่อมาตำรวจทั้งในสหรัฐและอังกฤษสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้เป็นการใหญ่

อัยการรัฐนิวยอร์กยื่นฟ้องไวน์สตีนเมื่อต้นปี 2018 ในข้อหาข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศาลตัดสินว่าเขามีความผิดจริง โดยให้จำคุก 23 ปี ขณะที่เขารับโทษอยู่ในเรือนจำเวนดี รัฐนิวยอร์ก และยังต้องรอรับการพิจารณคดีล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ ที่รัฐแคลิฟอร์เนียอีก

อีกคดีหนึ่งที่คนมีฐานะเป็นผู้กระทำผิดก็คือ เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจการเงินชื่อดัง ที่ก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กไว้หลายคดี จนถูกแจ้งความดำเนินคดี ครั้งแรกเขาติดคุกเพียง 13 เดือนก็ได้รับอิสรภาพ เนื่องจากแอบทำข้อตกลงลับกับพนักงานอัยการรัฐฟลอริดาโดยที่ผู้เสียหายไม่ทราบ

ต่อมาเอปสไตน์ถูกจับกุมอีกครั้งที่รัฐนิวยอร์ก แต่ครั้งนี้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาไม่ปล่อยให้เขาลอยนวลอีกแล้ว ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ประกันตัวไม่ว่าจะยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงเพียงใดก็ตาม สุดท้ายมหาเศรษฐีรายนี้ก็สิ้นอิสรภาพ ก่อนจะมีข่าวว่าเขาเสียชีวิตในห้องขังในเวลาต่อมา

ทั้งสองคดีนี้จะเห็นได้ว่าทั้งพนักงานอัยการและผู้พิพากษาทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มที่ ไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพลและเงินที่ผู้กระทำผิดมีอยู่ในมือ อย่างคดีของเอปสไตน์ศาลปฏิเสธการประกันตัวเด็ดขาด แม้จะมีหลักทรัพย์มูลค่ามหาศาลค้ำประกันก็ตาม ทำให้คนรวยมีโอกาสรอดจากการถูกดำเนินคดีน้อย

และหากคดีของทายาทเครื่องดื่มชูกำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศ และคดีดำเนินไปถึงการพิจารณาของศาล มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องรับโทษในเรือนจำไม่ต่างจากคนดังสองคนที่ยกตัวอย่างข้างต้น

กระบวนการพิจารณาคดีของศาลในสหรัฐจะให้คณะลูกขุน ซึ่งก็คือคนธรรมดาจากหลากหลายสาขาอาชีพ หลากหลายพื้นเพ เข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟังการพิจารณาคดีและชี้ขาดว่าจำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ขณะที่ผู้พากษาทำหน้าที่ควบคุมการไต่สวนให้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย และกำหนดโทษจำเลยหลังคณะลูกขุนชี้ว่ามีความผิด

การนำคณะลูกขุนเข้ามาร่วมพิจารณาชี้ความผิดถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจตุลาการไปในตัว และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล อีกทั้งการที่คณะลูกขุนลงความเห็นไปตามความคิดเห็นของปุถุชนคนธรรมดา ถือเป็นเสียงของตัวแทนประชาชนในสังคมนั้นๆ ทำให้คำพิพากษาตรงกับความเห็นของประชาชนมากที่สุด

และหากฟังเสียงของประชาชนในสังคมไทยเกี่ยวกับคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง และเมืองไทยใช้ระบบลูกขุน ผลของคดีคงไม่ค้านสายตาของคนในสังคมและสายตาชาวโลกจนกลายเป็นกระแสร้อนแรงเช่นนี้